2 รมต.เชื่อเศรษฐกิจไทยปี 62 เข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์โลก

by ThaiQuote, 8 มกราคม 2562

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงาน Thailand Economic Challenges 2019 ว่า ในปี 2562 มองในภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นปีแห่งความไม่แน่นอน จากปัจจัยต่างประเทศที่ยังคลุมเครือ ขาดความชัดเจน ทั้งปัญหาของสงครามการค้าฯ ,เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เป็นต้น ซึ่งไทยที่มีการค้าขายกับทั่วโลกย่อมเผชิญกับสิ่งเหล่านี้แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ถือว่ามีความพร้อม และน่าจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ผ่านมามีความแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าในอนาคตก็จะมีการเติบโตดีขึ้น

          

ทั้งนี้สิ่งที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้านี้คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruption) ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำธุรกิจในทุกๆ ภาคส่วน โดยไทยจะต้องสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความสามารถใหม่ๆ เพื่อให้ไทยมีจุดยืนในเวทีโลก

         

"วันนี้เป็นเวลาที่จะต้องจัดการเรื่องของใหม่ ซึ่ง Disruption เป็นทั้งความท้ายทายและโอกาส แต่ถ้าเราไม่ใช้โอกาสก็คงต้องเหนื่อยแน่นอน"

          

พร้อมกันนี้สิ่งที่ไทยจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การบรรเทาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ,เร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการเร่งสร้างขีดความสามารถให้ก้าวทันเวทีโลก โดยเริ่มจากเวทีภูมิภาค โดยใช้จุดแข็งของประเทศ สร้างความแตกต่างโดยใช้เทคโนโลยี 5G และพัฒนาคนให้ใช้เทคโนโลยี หรือมีทักษะที่เหมาะสม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้จะต้องตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่งคั่งให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน

          

นอกจากนี้การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยได้มีการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม 5 อุตสาหกรรม มาอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ในปี 62 ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมหารบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อีกทั้งยังได้เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

          

อย่างไรก็ตามมองว่าในปีนี้ภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสลงทุนสูง เรียกได้ว่าเป็นปีของการปรับเปลี่ยนในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่จะขยายกำลังการผลิต, อุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น เนื่องจากมีการคาดหวังการเลือกตั้ง และพอมีเลือกตั้งก็น่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้

          

ส่วนการสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เติบโตไปกับเทคโนโนโลยีนวัตกรรมใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่จัดตั้งบริษัทอินโน สเปซ (Thailand InnoSpace) ที่เป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมนวัตกรรม และสร้างผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งมีวงเงินสนับสนับสนุนผู้ประกอบการเบื้องต้นอยู่ที่ 500 ล้านบาท คาดว่าจะจดตั้งบริษัทแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/62 อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมยังกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเทคโนโลยี 4.0 เพื่อให้เกิดการเร่งรัดการลงทุนเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ในปี 62 ด้วย

          

สำหรับการเลื่อนวันเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไทยหรือไม่นั้น มองว่า ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลสนับสนุนยังเกิดขึ้น เชื่อว่าการลงทุนระยะยาวน่าจะเกิดขึ้นได้

ทางด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 61 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 8% ซึ่งขณะนี้ยังรอตัวเลขล่าสุดของเดือน ธ.ค.61 ว่าการส่งออกทั้งปี 61 จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แต่หากทำได้ไม่ถึง 8% ก็เชื่อว่าอย่างน้อยจะได้ 7% ปลายๆ

          

ขณะที่การส่งออกสำหรับปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8% แต่เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้ไทยอาจจะต้องปรับตัวทั้งในแง่ของการเจาะตลาด รวมทั้งการชูจุดเด่นในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดให้มากขึ้น

          

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2562 ถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายของไทยในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากในปีนี้มีตัวแปรใหญ่สำคัญ 2 ตัว คือ 1.เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่ปกติหรือปั่นป่วน โดยมีแนวโน้มเป็นช่วงขาลง จากหลายดัชนีที่ชี้ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศสำคัญอยู่ระหว่างภาวะถดถอย ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ 2.ปัจจัยในประเทศ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากที่ไทยจะมีการเลือกตั้งขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว จะต้องนำมาใช้พิจารณาทิศทางสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้

          

"ถ้าเป็นคนที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก เมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ การส่งออกจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมา เราถึงต้องตั้งเป้าหมายการทำงานให้หนักมากๆ ไว้ เพราะเราเห็นอุปสรรคข้างหน้า การทำงาน จำเป็นต้องรู้จุดแข็งของตัวเองก่อน" รมว.พาณิชย์ กล่าว