รื้อถอนไม่ถูกต้อง จุดอ่อนทางโครงสร้างที่มองไม่เห็นทำให้ตึกถล่ม

by ThaiQuote, 8 มกราคม 2562

จากกรณีเหตุอาคารถล่มทรุดตัวที่ปากซอยรามคำแหง51/2 ถนนรามคำแหงขาออก แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ2ราย โดยเป็นอาคารอยู่ระหว่างการรื้อถอนเพื่อทำปล่องรถไฟใต้ดินสถานีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 7 ม.ค.62   ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 เวลา 10.30น. ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกรร่วมกับรศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธาจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาวสท. และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ   ศ.ดร.อมร กล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบอาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นอาคารของ รฟม. สูง 3 ชั้น โดยอาคารดังกล่าวจะต้องมียุทธกรและวิศวกรที่เป็นผู้ดูแล โดยขั้นตอนการรื้อถอนนั้น จะต้องเป็นการรื้อถอนแบบถอนกลับแบบการก่อสร้าง ยกตัวอย่างถ้าก่อสร้างเสาเข็มก่อน จะต้องรื้อถอนเสาเข็มเป็นจุดสุดท้าย หากรื้อถอนผิด จะทำให้เกิดอันตรายได้   สำหรับสาเหตุของอาคารถล่มนั้น มี3ปัจจัยคือ 1.การออกแบบเรื่องการรื้อถอนไม่ถูกต้อง 2.การคุมงานรื้อถอนได้มาตรฐานหรือไม่ และ3.วิศวกรมีใบอนุญาตหรือไม่ ศ.ดร.อมร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบการออกแบบว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องหรือไม่ และในส่วนของการควบคุมงาน จะต้องมีการตรวจสอบว่า วิศวกรที่คอยดูแลนั้น ได้รับใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่ โดยจะมีการเรียกวิศวกรคนดังกล่าวมาสอบ ซึ่งหากพบว่ามีความผิดมีโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาต โดยขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากนี้ถ้าตรวจสอบสาเหตุอาคารถล่มแล้ว อาจออกแบบคู่มือแนะนำการรื้อถอนเพื่อความปลอดภัยให้แก่วิศวกรที่จะรื้อถอนอาคารประเภทต่าง ๆ ได้   ด้าน นายนพดล ฉายปัญญา ผ.อ.กองควบคุมอาคารสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครกล่าวว่า ทางสำนักงานเขตจะต้องดูแลในเรื่องของมาตรการรื้อถอนว่าทำตามกระบวนการหรือไม่ ซึ่งต้องดูความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก กรณีที่ทางเขตเคยมีคำสั่งระงับการรื้อถอนเมื่อต.ค.61 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่สาธารณะมีประชาชนสัญจรเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่ามีเศษจากการรื้อถอนตกลงมา เมื่อมาตรวจสอบพบว่าแผงกั้นที่ป้องกันวัสดุตกหล่นไม่เป็นไปตามแผนที่ยื่นกับสำนักงานเขตไว้ก่อนหน้านี้ สำนักงานเขตจึงให้ไปปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เรื่องดังกล่าวกลับเงียบไปกระทั่งเกิดเหตุขึ้น   ต่อจากนี้จะตรวจสอบถึงสาเหตุอีกครั้งว่ามาจากสาเหตุใด ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุใดและเกี่ยวข้องกับการที่ทางเขตเคยสั่งให้ระงับการรื้อถอนในช่วงเดือนต.ค.หรือไม่   รศ.เอนก กล่าวว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้ทำการเวนคืนพื้นที่เมื่อปี2560ที่ผ่านมา โดยว่าจ้างผู้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 จนถึงวันเกิดเหตุ เพื่อจะมอบพื้นที่ให้กับบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) และบริษัทชิโนทัยเอ็นเจียเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มต่อไป   ด้านรศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า งานด้านวิศวกรรม ไม่เพียงใส่ใจแต่งานก่อสร้างเท่านั้น การรื้อถอนนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมแวดล้อมจำเป็นต้องตรวจสอบการรื้อถอนตั้งแต่ การวิเคราะห์ เพื่อวางแผนรื้อถอน ขั้นตอนและวิธีการรื้อถอน อุปกรณ์เครื่องจักรที่นำมาใช้ต้องเหมาะสมและปลอดภัย มีการป้องกันฝุ่นละอองและเศษซาก พร้อมทั้งมีวิศวกรควบคุมใกล้ชิด ตลอดจนมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก้ผู้สัญจรและผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 4 ชั้น จากการลงพื้นที่สันนิษฐานสาเหตุอาคารถล่มไว้ 2 ประเด็น คือ 1.ขั้นตอนการรื้อถอนไม่ถูกต้อง และ 2.ขั้นตอนถูกต้องตามหลักการ แต่เป็นเหตุสุดวิสัย ที่อาจจะเกิดจากจุดอ่อนในโครงสร้างของอาคารที่มองไม่เห็น อย่างไรก็ตามในด้านเทคนิค อาคารดังกล่าวเป็นอาคารเก่ามีอายุ 40-50 ปี ระบบการก่อสร้าง กำลังคอนกรีตและชนิดของคอนกรีตอาจจะไม่เหมือนกับในปัจจุบัน จึงทำให้มีปัญหาได้ ขณะเดียวกันอาจจะมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากอาคารตั้งอยู่ริมถนน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์และวิจัยหาจุดบกพร่องให้ได้ และต้องมีค้ำยันหรือพยุงจุดสำคัญ ก่อนที่จะรื้อถอนส่วนอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีการค้ำยันไว้จนกว่าการรื้อถอนจะหมดสิ้น   นอกจากนี้การรื้อถอนอาคารโดยเฉพาะอาคารเก่าๆ จะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผลกระทบกับผู้คน สาธารณูปโภค อาคารใกล้เคียงและสิ่งแวดล้อม ยิ่งเป็นอาคารริมถนน มีผู้คนเดินผ่านจำนวนมาก กำแพงกั้นการรื้อถอนอาคารต้องมิดชิดกว่าปกติ ไม่ละเลย ฉะนั้นการรื้อถอนส่วนที่เหลือต้องเข้มงวด และต้องมีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญมาควบคุมดูแลการรื้อถอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร   ด้านพ.ต.อ.ศักดิ์สิทธิ์ มีสวัสดิ์ ผกก.สน.หัวหมาก กล่าวว่าขณะนี้ได้มีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องไปจำนวน 3-4 ปากซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุและเจ้าของอาคารหรือสำนักงานที่ดูแลอาคารดังกล่าว สำหรับการแจ้งข้อกล่าวหานั้นจะต้องให้ทางสำนักงานโยธาเป็นผู้ร้องว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใดและใครบ้างตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป