ฮือฮา! พบค้างคาวยอดกล้วยสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

by ThaiQuote, 9 มกราคม 2562

พะเยา – มีรายงานข่าวระบุว่า ได้มีการพบค้างคาวยอดกล้วยสัตว์ป่าหายากใกล้จะสูญพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ผู้ที่พบคือ นางอุบลรัตน์ ดอนลาดลี ชาวบ้านก้าวจริญ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ขณะที่เดินทางมาทำบุญกระดูกญาติที่บ้าน

โดยพบค้างคาวตัวเล็ก สีสวยแต่ตายแล้ว บินมาชนป้ายทะเบียนรถ หมายเลข 6 กส-4185 กรุงเทพมหานคร และเห็นว่ามีสีสันสดใสสวยงามจึงถ่ายรูปเก็บไว้ ญาติมาเห็นจึงนำไปโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก สอบถามข้อมูลผู้รู้ พบว่าคือค้างยอดกล้วยผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัตว์หายากใกล้จะสูญพันธุ์ โดยซากได้นำไปฝังไว้ใกล้ บ้านเชื่อว่าค้างคาวตัวนี้จะนำโชคดีมาให้ครอบครัว

ด้านนายสุธรรม อาดนนท์ลา หัวหน้าฝ่ายบริการอุทยานแห่งชาติ (อช.) ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า ลักษณะของค้างคาวยอดกล้วยนั้นเป็นค้างคาวที่มีขนาดเล็ก ขนาดของลำตัวและปีกใกล้เคียงกับขนาดของกับผีเสื้อ มีน้ำหนักประมาณ 10 กรัม ความยาวตลอดปลายปีกทั้งสองข้างประมาณ 15-20 ซม. ขนตามลำตัวมีสีแสดสด ใบหูใหญ่  ปีกมีสีแดงแกมน้ำตาลบางส่วน ลักษณะอื่นเหมือนค้างคาวทั่วไป ถิ่นที่อยู่ค้างคาวชนิดนี้จะชอบอาศัยอยู่ตามยอดกล้วยที่มีต้นกล้วยขึ้นหนาแน่นอยู่ในป่าดิบ ไม่ชอบอยู่ในถ้ำเหมือนค้างคาวทั่วไป ปัจจุบันหายากมาก และกำลังจะสูญพันธุ์หายไปจากประเทศไทยแล้ว

ดังนั้น จึงมีการพบเห็นได้น้อยมาก จากคำบอกเล่าและภาพถ่ายของผู้ที่พบเห็น สามารถอธิบายได้ว่าพื้นที่บริเวณที่พบค้างคาวยอดกล้วยมีระบบนิเวศน์สมบูรณ์ที่มีป่ากล้วยจำนวนมาก

“หากประชาชนในพื้นที่ อ.เชียงคำ หรือ พื้นที่ใกล้เคียงพบเห็นค้างคาวยอดกล้วยในพื้นที่ใดก็ตาม ขอให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่ อช.ภูซาง เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดทำการเก็บข้อมูลและศึกษาวิจัย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ เนื่องจากว่ามีการพบเห็นแล้ว แสดงว่าจะต้องมีค้างคาวยอดกล้วยอีกหลายตัวอย่างแน่นอน ถือเป็นข่าวดีของความหลากหลายทางธรรมชาติที่สมบูรณ์มากขึ้น” นายสุธรรม กล่าว

ทั้งนี้ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ หรือ ค้างคาวสี ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kerivoula picta) เป็นค้างคาวขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ค้างคาวกินแมลง ซึ่งชื่อวิทยาศาสตร์นั้น คำว่า "pict" เป็นรากศัพท์ภาษาละติน หมายถึง "ระบายสี" โดยรวมแล้วหมายถึง มีสีสันหลายสีในตัวเดียวกัน ค้นพบครั้งแรกในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย

กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตั้งแต่อินเดีย, ศรีลังกา, พม่า, ตอนใต้ของประเทศจีน, เวียดนาม, ไทย, มาเลเชีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยแล้ว เป็นค้างคาวที่พบได้น้อย แต่สามารถพบได้ทั่วทุกภาค

โดยพฤติกรรมมักเกาะอาศัยตามยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอดหรือท่อ และจะย้ายไปเรื่อย ๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออกไม่ม้วนเป็นหลอดแล้ว นอกจากนี้ยังพบเกาะตามใบไม้แห้งของต้นไม้, ยอดหญ้าพง, ยอดอ้อ และยอดอ้อย รวมทั้งมีรายงานเกาะตามรังของนกกระจาบธรรมดาตัวผู้ ซึ่งเป็นรูปหยดน้ำแขวนตามกิ่งก้านของต้นไม้ อยู่เป็นคู่หรือโดดเดี่ยว ออกหากินในเวลาเย็น โดยบินต่ำระดับยอดไม้พุ่ม ลักษณะการบินคล้ายผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ แต่บินเร็วกว่ามาก อาหารได้แก่แมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงที่มีขนาดเล็ก มีพฤติกรรมจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายน

ค้างยอดกล้วยผีเสื้อ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ขอบคุณข้อมูล : posttoday.com, wikipedia

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ฝรั่งโพสต์แฉ หนุ่มเชียงรายโชว์ซากเหยี่ยวรุ้ง