ส่องความเห็น ‘หนุน-ค้าน’ ปมนักเรียนสวมไปรเวทเรียนหนังสือ

by ThaiQuote, 9 มกราคม 2562

แล้วจุดรวมที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ตรงไหน?

ควรคงไว้ในชุดนักเรียน

อ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า มันก็มีบริบทต่างๆที่จะต้องพิจารณา ในกรณีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนนั้น  อาจจะไม่มีความเลื่อมล้ำมากนัก แต่ในขณะเดียวกันหากเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา หรือแม้แต่โรงเรียนทั่วไป ยังไม่ก้าวไปถึงขั้นนั้น ด้วยเหตุผลที่ในโรงเรียนยังมีเด็กนักเรียนที่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างกันสูง เป็นสิ่งที่เรามีความกังวล มันก็จะเป็นการสร้างความเลื่อมล้ำพอสมควร แต่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมีฐานะเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน และไม่รับการอุดหนุนจากภาครัฐ สนับสนุนตัวเอง 100 % 

‘ธรรมชาติของเด็ก เมื่อเห็นเพื่อนก็อาจจะเลียนแบบ ซึ่งก็จะมีความขัดแย้งกับสิ่งที่เราสอนเด็กในเรื่องความพอเพียง และหากพูดถึงว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กแสดงออก เราต้องเข้าใจว่าเด็กจะแสดงตัวตนไม่ได้จำเป็นว่าต้องอยู่ที่การแต่งกาย ในความเห็นส่วนตัว ในโรงเรียนทั่วไปไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีความเลื่อมล้ำในเรื่องอื่น เพราะความเลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาก็ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมอยู่แล้ว เช่น โครงการนานาชาติ หรือ ไอพี กับการเรียนโครงการธรรมดา นี่ก็เป็นหนึ่งในความเลื่อมล้ำในโรงเรียน แม้จะเป็นเรื่องของโอกาส แล้วทำไมเราไม่สามารถทำให้ทุกคนได้เรียนเท่าเทียมกัน เช่น เด็กที่ไม่มีเงิน ถ้าเราบริหารจัดการให้ดี ก็จะสามารถแบ่งปันโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ ’

นอกจากนี้ อาจารย์ ยังได้เล่าเสริมต่อไปอีกว่า ในการไปดูงานตามเรียนต่างจังหวัด พบว่า เด็กที่เรียนภาษาอังกฤษ ใส่เสื้อแขนยาว เด็กที่เรียนภาษาไทยใส่เสื้อขนสั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลอย่างมาก เพราะเขาเป็นเด็กในโรงเรียนเดียวกัน ยกตัวอย่างสาธิตเกษตร การแต่งกายไม่ว่าจะอินเตอร์หรือภาคปกติ การแต่งกายก็ให้เหมือนกัน

‘เพราะเขาคือส่วนหนึ่งของเรา แตกต่างกันในเนื้อหาการเรียนการสอนเท่านั้น เพราะฉะนั้น เรามองในแง่การดูแลนักเรียนว่าเด็กเวลาเดินอยู่ในโรงเรียน เราต้องรู้ว่าเขาเป็นเด็กนักเรียนชั้นไหน วันไหนมีพละเราก็ให้ใส่ชุดพละมา ที่เหลือใส่ชุดนักเรียน อย่างแรกเรามองว่า มันเป็นเรื่องประหยัด ในอีกแง่หนึ่งอาจารย์มองว่า แม้เครื่องแบบจะถูกมองว่าล้าสมัย แต่เด็กก็จะไม่เสียเวลาในการเตรียมชุดไปรเวท รวมทั้งไม่ต้องเสียเวลามาคิดว่าจะแต่งตัวอย่างไร ซึ่งจะไม่ทำให้เสียสมาธิไปจากการเรียน สำหรับในโรงเรียนอินเตอร์ไทยก็ไม่ใส่กันอยู่แล้ว’

นอกจากนี้ อาจารย์ ยังสะท้อนต่อไปอีกว่า อย่างไรเสียก็ต้องมีชุดนักเรียน เพื่อเป็นการสะท้อนความมีระเบียบวินัย ส่วนในชั้นอุดมศึกษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็จะมีภาพลักษณ์ที่เห็นของเด็กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใส่ชุดนักศึกษากัน

‘ในฐานะที่ทำงานด้านปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นไปเรื่องการเรียนรู้ การใส่ชุดนักเรียนไม่ได้ไปจำกัดสิทธิหรือตัวตนของเด็ก สิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเด็ก คือการเป็นผู้นำ การเป็นผู้มีจิตอาสา ดังนั้นตัวตนของเขาอยู่ที่พฤติกรรมและการแสดงออกมากกว่า’

มนุษย์มีเสรีในการเลือกเครื่องแต่งกาย

ด้าน เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์  นักกิจกรรมอิสระที่เคยทำงานร่วมกับบุคลากรด้านการศึกษา สะท้อนเรื่องนี้ว่า ในฐานะที่ทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้เรียนในระบบหรือนอกระบบของคนรุ่นใหม่ ก็สามารถตอบได้ว่า เราพร้อมมานานแล้ว

‘เราพร้อมมาก่อนที่เราจะมีชุดนักเรียนอีก เพราะมนุษย์ทุกคนตัดสินใจเองได้ ว่าจะเลือกใส่อะไรบนร่างกาย และมีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ชุดนักเรียนไม่มีผลต่อการเรียน และยิ่งไปกว่านั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเลื่อมล้ำที่เรามักจะเข้าใจผิดกัน นอกจากนี้มีประเด็นที่ผมชวนคิดต่อคือ สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างแรกสะท้อนวัฒนธรรมการกดขี่ เด็กบางโรงเรียนแม้จะสามารถใส่ไปรเวทได้ในบางวัน แต่ก็ต้องตัดผมอยู่ดี รวมทั้งยังถูกระเมิดสิทธิ์บางอย่าง งบประมาณที่มีอำนาจใช้ แต่ใช้ไม่ได้ และการกดขี่นี้ ไปถึงในสถานบันครอบครัว สถานบันการศึกษา ที่ทำงาน ข้อถัดมาคือเมื่อเราพูดเรื่องปฏิรูปทางการศึกษา มักจะพูดกันว่ามีเรื่องอื่นๆที่สำคัญกว่าเรื่องนี้ แต่เมื่อดูกันจริงๆว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ เราฟังเสียงนักเรียนมากน้อยขนาดไหน ข้อสุดท้าย มีหลายโรงเรียนที่ผมเคยทำงานมา มีที่ใส่ชุดไปรเวทมาเรียนหนังสือได้นานแล้ว เช่น โรงเรียนอนุบาลเชียงของ สามารถใส่ไปรเวทสัปดาห์ละ 1 วัน และใส่มาเป็น 10 ปีแล้ว รวมทั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีใส่ชุดไปรเวท เพียงแต่ไม่ได้ดังเป็นข่าว’

ขณะที่ถามว่า ชุดนักเรียน ลดความเลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ เขาตอบว่า ต้องดูว่า ความเลื่อมล้ำที่ว่า คือความเลื่อมล้ำอะไร หรือความเลื่อมล้ำคือการจับทุกคนมาแต่งตัวให้เหมือนกัน คิดว่าคงเข้าใจเรื่องความเลื่อมล้ำผิดไป

‘เราออกจากโรงเรียน พบ่วาเลื่อมล้ำเลยหรือเปล่า บนรถไฟฟ้าคนแต่งตัวไม่เหมือนกันเลย เรามองความเลื่อมล้ำในฐานะอะไร ถ้าทุกคนต้องเหมือนกันหมด อันนี้ก็เป็นความเลื่อมล้ำในมุมวัฒนธรรมอำนาจนิยม แต่ถ้าเราเข้าใจความหลากหลาย ผมคิดว่าเด็กเราโตขึ้นมาท่ามกลางความหลากหลาย แม้ในความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับว่า เราเกิดมา การเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่ากัน แต่เราต้องการเห็นสังคมที่จุดหนึ่งทุกคนได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน เริ่มจากกการยอมรับในความหลากหลายก่อน ส่วนเรื่องความมีวินัยที่ใครๆก็กังวล ผมว่าวินัยแบบนั้น อาจจะเป็นวินัยสมัยสร้างชาติ ก็สามารถมีได้ แต่ในยุคนี้ วินัยที่ต้องมีคือวินัยการตั้งคำถาม ไม่ใช่ความมีวินัยตามกฎที่อาจจะละเมิดสิทธิของเขา 

ต่อคำถามที่ว่า การใส่ชุดไปรเวท จะกระทบต่อค่าใช้จ่ายหรือไม่  ตอบว่า ในความเป็นจริง เด็กไทยมีงบประมาณที่อุดหนุนการศึกษาถึง 5 ตัวด้วยกัน ที่ทั้งพัฒนาผู้เรียน ทัศนศึกษา เรื่องเครื่องแต่งกาย รวมทั้งอุปกรณ์การเรียน แต่เขาใช้ได้จริงแค่ประมาณ 2 เรื่องด้วยกัน ในความเป็นจริง เมื่อเทียบราคาชุดนักเรียนกับชุดไปรเวทแล้ว ราคาไม่ต่างกันมาก