เช็ก 14 เส้นทางท่องเที่ยวเอาใจ ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ

by ThaiQuote, 10 มกราคม 2562

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ททท. เห็นความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดโครงการ 9 เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งได้แก่ “เส้นทางเก๋ไก๋ ดูธรรมชาติ ราชบุรี” “เส้นทางเก๋ไก๋ รับลม ชมศิลปะ พัทยา” “เส้นทางเก๋ไก๋ อยู่กลางกรุง กรุงเทพมหานคร” “เส้นทางเก๋ไก๋ เที่ยวไปในเมืองล้านนา เชียงใหม่” “เส้นทางเก๋ไก๋ รำลึกไปในอดีต กาญจนบุรี” “เส้นทางเก๋ไก๋ จั่งหู้ ดูเมืองใต้ ภูเก็ต” “เส้นทางเก๋ไก๋ เที่ยวอีสานแซ่บนัว ขอนแก่น” “เส้นทางเก๋ไก๋ ดูเมืองเก่า อยุธยา” “เส้นทางเก๋ไก๋ ดูเมืองย่าโม นครราชสีมา” ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดจากเส้นทางดังกล่าว ททท.จึงได้รวบรวม 5 เส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดที่ผ่านการสำรวจมาแล้วว่ามีอารยสถาปัตย์รองรับค่อนข้างสมบูรณ์คือได้รับการออกแบบ ปรับปรุงบรรยากาศการท่องเที่ยวบนพื้นฐานที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน หรือ Universal design ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก จุดชมทิวทัศน์ รูปแบบการเดินทาง ร้านอาหาร ที่พัก โดยทุกคนสามารถจัดกลุ่มท่องเที่ยวในครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือใครก็ตาม โดยไม่ต้องกังวลว่าสมาชิกในกลุ่มที่มีข้อจำกัดทางร่างกายจะพบอุปสรรคระหว่างการเดินทาง ทำให้ทุกคนสามารถเที่ยวได้สนุกอย่างเต็มที่ โดย 5 เส้นทางดังกล่าวประกอบไปด้วยเส้นทางภาคกลาง-จังหวัดราชบุรี เส้นทางภาคตะวันออก-จังหวัดชลบุรี เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จังหวัดเลย เส้นทางภาคเหนือ-จังหวัดเชียงราย และเส้นทางภาคใต้-จังหวัดพังงา ล่าสุด ททท. ได้จัดกิจกรรมทดลองเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ( FAM Trip) ทั้งหมด 2 เส้นทางได้แก่ พัทยา จ.ชลบุรี และจ. ราชบุรี โดยเชิญตัวแทนนักท่องเที่ยวกลุ่มคนพิการ ตัวแทนผู้สูงอายุจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เปิดมุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของเส้นทางท่องเที่ยว และเพื่อนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลให้พร้อมรองรับการเดินทางท่องเที่ยวของคนทุกกลุ่มได้สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง สำหรับเส้นทางที่กล่าวมานั้นได้อาศัยแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ “อารยสถาปัตย์” คือ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความเท่าเทียมของทุกคน ครอบคลุมถึงผู้ที่มีความแตกต่างในด้านภาษา การมองเห็น หรือแม้แต่ข้อจำกัดทางสติปัญญา อาทิ อาคารสถานที่ต่างๆ จะต้องพัฒนาปรับปรุงให้มีพื้นที่เหมาะสม ไม่ละเลยรายละเอียด ทางเดินไม่แคบจนเกินไปสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ หรือไม้เท้า หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ บริการต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต้องพร้อมรองรับความหลากหลายอายุและสภาพร่างกาย จำเป็นต้องมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ได้แก่ ที่นั่ง ที่จอดรถ ทางลาดชัน ความสูงต่ำหรือรอยต่อที่เป็นอุปสรรค พื้นผิวต่างสัมผัส ราวกันตกบริเวณระเบียงโดยไม่โยกหรือสั่นคลอน พื้นกันลื่นในห้องน้ำ ประตู ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางสัญจร สัญญาณเสียงหรือสัญญาณแสง จุดบริการน้ำดื่ม พื้นที่หนีภัย ตำแหน่งการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายจะมุ่งเน้นไปที่คนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจากการสำรวจสถิติ ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้รวมกันมากกว่า 10 ล้านคน และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ พบว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีกำลังในการใช้จ่ายสูง และชอบแสวงหาประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ เพียงแต่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับสำหรับกลุ่มคนที่มีข้อจำกัดทางกายภาพได้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุมีความพึงพอใจการเข้าพักในโรงแรมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข่าวอื่นที่น่าสนใจ ปฏิทินท่องเที่ยวเดือนมกราคม 2562