ข้อคิดชีวิต ‘ขงเบ้ง’

by ThaiQuote, 9 มกราคม 2562

   ขงเบ้ง เวอร์ชั่น สามก๊ก 2010 ขงเบ้ง หรือ ชื่อจริง จูกัดเหลียง ชาวหยางตู เมืองหลางหยา เกิดวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 724 ถึงแก่กรรมกลางสนามรบที่ทุ่งอู่จั้งหยวน  มณฑลส่านซี ในการรบครั้งสำคัญกับสุมาอี้ ในวันที่23 สิงหาคม พ.ศ. 777 สิริรวมอายุ 54 ปี ตลอด 27 ปีที่ชายผู้มีฉายา หยั่งรู้ฟ้าดิน อุทิศชีวิตให้กับ เล่าปี่ และอาณาจักรฉู่ฮั่น ทำให้ชื่อของเขาถูกจารึกและพูดถึงไม่รู้คลาย  นับจากวันแรกที่จากลาเขาโงลังกั๋งสู่สมรภูมิเลือด จนวันหลับลับกายที่อู่จั้งหยวน  ชายคนนี้ได้ทิ้งข้อคิดและแนวชีวิตที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย สายตากว้างไกล เป็นบทบาทครั้งแรกๆที่เปิดตัวกุนซือหนุ่มวัยละอ่อน ที่ได้ถูกการันตีจากสุมาเต็กโช ว่า เป็น 1ใน2 ยอดบัณฑิตที่จะช่วยเล่าปี่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ และขงเบ้งก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ทันทีที่ได้พบปะกันในการเยือนกระท่อมป่าครั้งที่ 3 ขงเบ้งอธิบายแผนการต่างๆ รวมทั้งนโยบาย 3 เสาค้านอำนาจ ย่อมเป็นหนึ่งในตัวสะท้อนคมคิดและการวิเคราะห์อย่างแยบยล ในยุคที่การสื่อสารและคมนาคมไม่ทันสมัยอย่างปัจจุบัน ข่าวจริงข่าวลวงแพร่สะพัดไปทั่วดินแดน แต่ด้วยความรู้ความสามารถ ขงเบ้ง สามารถกรองข่าวต่างๆ มาเป็นบทวิเคราะห์สถานการณ์ที่แหลมคมได้ เหมือนที่พูดกันว่า อยู่ไกลเป็นพันๆกิโลเมตร แต่วางแผนชนะได้จากกระโจม   ภาพวาด ขงเบ้ง เสนอแผนยุทธศาสตร์ให้กับ เล่าปี่  รวมทั้งคราวสำคัญ ในยุทธการผาแดง ขงเบ้งอ่านสถานการณ์การศึกในทุกมิติได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนสามารถดำเนินแผนเอาชนะโจโฉ และให้กวนอูใช้หนี้ได้อย่างแยบยล รวมทั้งที่เล่าปี่จะแพ้ศึกใหญ่ในศึกอิเหลง เพียงแค่อ่านแผนที่ทัพ ก็ตระหนักถึงภัยใหญ่หลวงที่จะตามมา  แม้กระทั่งอ่านเกมส์ในมุ้งโจผีอย่างชัดเจน ถึงขั้นเคยเขี่ยสุมาอี้ออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ   ความมุ่งมั่นเป็นเลิศ ในบรรดาก๊กทั้งหมด ก่อนที่จะมีก๊กใหญ่ 3 ก๊ก จ๊กก๊กนั้นถือว่า ขาดแคลน ย่ำแย่ และดูแล้วมีที่ท่าแพ้เต็มประตู แต่ทำไม ขงเบ้ง เลือกที่จะมาอยู่กับเจ้าไร้ศาลแบบเล่าปี่ แน่นอน ข้อสำคัญที่สุดที่ขงเบ้งมักจะใช้พูดในการประกาศความถูกต้องในการออกศึก เพราะเล่าปี่ คือเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์ฮั่น ความชอบธรรมมีในการชูธงกอบกู้แผ่นดิน เมื่อเป็นผู้วางแผนสู้ศึกแล้ว ขงเบ้ง ที่เราอ่านระหว่างบรรทัด ไม่เคยที่จะว่างเว้นจากการคิดค้นกลความ ไม่เคยที่จะปล่อยให้คำมั่นสัญญาที่กราบเล่าปี่ว่าติดตามรับใช้เสื่อมหายไป ปณิธานสูงสุดคือฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นกลับคืนสู่ผู้ปกครองที่ถูกต้อง แม้จะสิ้นเล่าปี่และการยกทัพจากเชงโต๋มุ่งขึ้นเหนือปราบวุยก๊กจะยากลำบากเพียงใด เราจะเห็นเพียงความกังวลที่ขงเบ้งแสดงออกในนวนิยายคือ กลัวทำงานพลาด ไม่ใช่ เราเหนื่อยเหลือเกิน จนถึงวันสุดท้ายในชีวิตที่ใกล้เข้ามา พยายามประคับประคอง วางลำดับขั้นตอนงานแผ่นดินไว้ให้อย่างเรียบร้อย     ขงเบ้ง  กับ เล่าปี่  เวอร์ชั่น สามก๊ก 1994  ยอดคนโต้วาทีนักปฏิบัติชั้นเยี่ยม เชื่อว่า หลายท่านคงจะคุ้นกับคำว่า คนพูดไม่ทำ คนทำไม่พูด  และในนวนิยายมีหลายต่อหลายคนที่ ดีแต่พูด ทำไม่เป็น ซึ่งไม่ใช่กับขงเบ้งอย่างแน่นอน มังกรเร้นกายคนนี้ ถนัดในการเจรจา แต่ก็เป็นนักลงมือทำตัวกลั่นอีกด้วย เห็นได้ในหลายๆครั้ง แต่ครั้งที่จดจำมากที่สุด คือ ปะทะปราชญ์กังตั๋ง ทำให้เราได้เห็นความปราดเปรื่องในการเจรจาของเขา ที่พูดบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น แต่เป็นมีดโกนอาบน้ำผึ้งชั้นยอด พร้อมเชิดชูเจ้านายอย่างไว้เหลี่ยมไว้ครู เมื่อถึงคราวปฏิบัติ ก็ลงมือได้อย่างเชี่ยวชาญองอาจ เช่น การยืมลูกธนูจากโจโฉ แสดงออกถึงความเป็นผู้รอบรู้วิชาการศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งกลอุบายที่เกินความคิดความอ่านคนในเวลาเดียวกัน และนำหน้าไปเอามาด้วยตัวเอง ขงเบ้ง  ขณะดำรงตำแหน่งมหาอุปราชแห่งจ๊กก๊ก จากเวอร์ชั่น สามก๊ก 2010 ยึดติดตายตัว ในคนๆหนึ่ง แน่นอน ย่อมมีดีมีเสีย และขงเบ้งก็หนีไม่พ้นในข้อนี้เช่นกัน จริงอยู่ที่ขงเบ้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจเกินคนทั่วไปจะทำได้ แต่เขาเองก็ติดในกรอบยึดในหลัก เน้นเดินเกมส์ที่เซฟมากกว่าเล่นเกมส์ที่เสี่ยง ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือการ บุกเหนือผ่านเขากิสาน ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกมองว่า ขงเบ้ง ดูดรอปมากที่สุด ไม่เปลี่ยนแผน ไม่กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ มุ่งเน้นที่จะออกจากชายแดนตนผ่านเขากินสานเป็นหลัก ด้วยความคิดที่ว่า ยึดพื้นที่ราบส่วนกลางได้ บุกขึ้นบุกลง ถอยกลับจะง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาเปลี่ยนสถารณ์เปลี่ยน ฝ่ายเว่ยเสริมกำแพงหนุนทัพจนเข้มแข็ง ยากที่จะตีฝ่า สุดท้ายก็เสี่ยงทรัพยากรที่สั่งสมไว้โดยใช่เหตุ แบกทุกสิ่งไว้ที่ตัวเอง นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนอ่านสามก๊กหลายๆคนวิเคราะห์กัน แต่จะเป็นเพราะเหตุนี้อย่างชัดเจนหรือไม่ก็เกินความสามารถจะคาดเดา แต่ที่แน่ๆ จากการอ่านท่อนที่สุมาอี้ถามในตอนที่ขงเบ้งส่งชุดแต่งตัวผู้หญิงไปยั่วนั้น และได้รับคำตอบว่า กินน้อย นอนน้อย ทำงานตลอดเวลา ยิ่งสะท้อนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ขงเบ้ง แบกภาระหลายๆอย่างในราชการแผ่นดินไว้คนเดียว คำถามต่อมาคือ ทำไมต้องแบก อาจจะด้วยเหตุปัจจัยความที่ขาดแคลนทรัพยากรต่างๆของจ๊กก๊กด้วยอย่างหนึ่ง และข้อสำคัญคือ บรรทัดฐาน ที่ตัวขงเบ้งเอง ขีดเส้นให้คนที่จะมาร่วมงานนั้น มีคุณภาพระดับซุปเปอร์คนดีจริงๆ ดูได้จากเหตุจะฆ่าอุนเอี๋ยน เป็นตัวอย่าง เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่คนจะเข้ามาร่วมแบ่งเบาภาระจึงไม่มี       ขงเบ้ง และ พระเจ้าเล่าเสี้ยน  จากเวอร์ชั่น สามก๊ก 2010         

Tag :