รฟม. เสนอ รถไฟฟ้าภูเก็ตเข้า ครม. กลางปีนี้

by ThaiQuote, 11 มกราคม 2562

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าฝ่ายกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวเปิดงานสัมมนาการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการต่อไป จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ รฟม. กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) โดยคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการได้ในกลางปี 62   ทั้งนี้ รฟม.คาดว่าจะสามารถเชิญชวนร่วมลงทุนได้ในไตรมาส 3 ปี 62 และคาดจะใช้ระยะเวลาพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งจะรู้ผลผู้ชนะในกลางปี 63 จึงเริ่มก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 66   สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต  มีมูลค่าโครงการประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท  ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง  เพื่อลดผลกระทบการจราจรให้เป็นทางลอด  เลี่ยงช่วงยูเทิร์นและทางแยก  ซึ่งอาจจะมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2 จุด ทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มอีกเป็นเงินประมาณ 1,000- 1,600 ล้านบาท  ขณะเดียวกันโครงการอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม. (คชก.) พิจารณา   ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP Fast Track และภาครัฐจะอุดหนุนค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1.78 หมื่นล้านบาท ค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.5 พันล้านบาท แต่ให้เอกชนลงทุนไปก่อน รวมทั้งลงทุนระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า การเดินรถและการซ่อมบำรุงรักษา ส่วนงานก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3-3.5 ปี และให้ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ในการให้บริการ โดยในช่วงเวลา 30 ปี (ปี 66-96) ประมาณการรายได้โครงการจากค่าโดยสารรวม 7.45 หมื่นล้านบาท   โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต  เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กม. ซึ่ง รฟม.จะเริ่มดำเนินการระยะที่ 1 ก่อนที่มีจำนวนสถานี 21 สถานี แบ่งเป็นระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารแบบระยะทาง สูงสุดประมาณ 100-137 บาทต่อเที่ยว หรือแรกเข้า 18 บาท เก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท โดยจากวิเคราะห์พบว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ประมาณ 12.5%   นายธีรพันธ์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการใหญ่ มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนเอกชนไทย มีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ราย ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้ความสนใจ และบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่น อาทิ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด   นอกจากนนี้ รฟม.ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคอีก ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาเช่นกัน ในส่วน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ รฟม.กำลังว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบ คาดเริ่มดำเนินการและออกแบบแล้วเสร็จกลางปี 63, จ.นครราชสีมา คาดว่าจะคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบในอีก 3 เดือน และ จ.พิษณุโลก จะขอ ครม.ออก พ.ร.ฎ.มอบอำนาจให้ รฟม.ดำเนินโครงการ ซึ่งจะเสนอบอร์ด รฟม.ในที่ 25 ม.ค.62 ก่อน