กกต.ออกระเบียบคุมค่าใช้จ่ายหาเสียงตลอดจนวิธีการปฎิบัติ

by ThaiQuote, 14 มกราคม 2562

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ว่า ระเบียบของกกต.ที่ออกมาล่าสุดเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จะมีงบประมาณหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน และพรรคการเมืองจะมีงบหาเสียงได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค   สิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สามารถดำเนินการได้เองภายในงบ 1.5 ล้านบาท ได้แก่ 1.ป้ายหาเสียงขนาด 1.3 เมตรหรือ 2.45 เมตร บิลบอร์ด แต่ละเขตทำได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง โดยแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 270 หน่วย ส่วนสถานที่ติดประกาศ กกต.กำหนดในย่านเดียวกัน เพื่อให้มีระเบียบ ไม่ให้เกะกะหรือปิดบังจราจร จำนวนป้ายก็ต้องถูกต้องตามกำหนด   ขณะที่ กกต.จะขอความร่วมมือไปยังจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้จัดบอร์ดไว้ให้ผู้สมัครไปติดประกาศ ซึ่งในประกาศต้องระบุผู้รับจ้างทำและจำนวนให้ชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบ   นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องผู้ช่วยหาเสียง รถหาเสียง เวทีหาเสียง โดยผู้ช่วยหาเสียงกำหนดให้ไม่เกิน 20 คนต่อเขตเลือกตั้ง,  รถหาเสียงแม้ว่าจะไม่ได้กำหนดจำนวนไว้ แต่ควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย, เวทีหาเสียงก็เช่นกันจะมีการควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย   เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.อยู่ที่คนละ 1.5 ล้านบาท ส่วนพรรคการเมืองอยู่ที่ 35 ล้านบาท สามารถใช้สถานที่ติดป้ายหาเสียงทั้งของเอกชนและของราชการ กรณีเป็นแผ่นประกาศขนาด A3 จะมีบอร์ดติดให้ตามหน่วยราชการต่าง ๆ เช่น ที่ทำการอำเภอ จังหวัด หรือเทศบาล จะมีบอร์ดขนาดใหญ่ตีตารางเป็นช่องๆ สามารถเอาป้าย A3 ไปติด มีรูป มีชื่อผู้สมัคร ส่วนของเอกชนที่เป็นแผ่นป้ายใหญ่ๆ จะติดได้เฉพาะถนนที่กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถนำไปติดตามต้นไม้ได้W   ส่วนการขออนุญาตหาเสียงในสถานที่ราชการเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะพิจารณา ซึ่งอาจจะขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้เป็นสถานที่หาเสียงอย่างที่เคยปฏิบัติมาก่อนแต่ กกต.ยังไม่ได้ส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณา ต้องรอประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาก่อน   เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงการใช้สื่อโซเชียลว่า วิธีการตรวจสอบคือต้องให้ผู้สมัครแจ้งรายละเอียด กรณีลงสมัครแบบแบ่งเขตต้องแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ พรรคการเมืองก็แจ้งให้สำนักงาน กกต.เพื่อทราบ เพราะข้อความต่างๆ นั้นผู้สมัครต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว หากเป็นการดูหมิ่น ใส่ร้ายป้ายสี หรือสัญญาว่าจะให้ ขณะที่ กกต.จะควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย และสำหรับกองเชียร์ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคหากช่วยหาเสียงผ่านทางออนไลน์เกิน 1 หมื่นบาทต้องแจ้ง กกต.ระบุเป็นค่าใช้จ่ายของกองเชียร์ ไม่ใช่ของผู้สมัคร   สำหรับการตรวจสอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่กำหนดไว้คนละ 1.5 ล้านบาทนั้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า กกต.มีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ แต่กระบวนการอาจล่าช้าบ้างและมีบทลงโทษ เช่น ป้ายหาเสียงที่กำหนดให้พิมพ์ชื่อผู้ผลิตตอนแสดงใบเสร็จไว้ด้วย กกต.ก็จะไปตรวจสอบที่ร้านรับจ้างพิมพ์ หรือคนรับจ้างอาจแจ้งเบาะแสมาที่ กกต.ได้ว่า ใช้ป้ายเกิน ใช้คนเกิน รายงานไม่ตรงความเป็นจริง ซึ่งได้รับรายงานบ่อยมาก การควบคุมในระบอบประชาธิปไตยต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ใช่ว่าจะหาทางหลีกเลี่ยง   "ต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริตของผู้สมัคร ถ้าใช้เกินคนรู้เขาก็อาจไม่ศรัทธา ต้องมีจิตสำนึกซื่อสัตย์ต่อตนเอง ถ้าตรวจพบก็มีโทษ ต้องตรวจสอบนิดนึงเพราะค่อนข้างละเอียด ต้องเปิดกฎหมายดู" พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว