ดูสัญลักษณ์โภชนาการ 'ทางเลือกสุขภาพ' ช่วยลดหวาน มัน เค็ม

by ThaiQuote, 16 มกราคม 2562

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ประชาชนนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปมากขึ้น ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารมีความสำคัญเพื่อใช้ในการสื่อสารและให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเดิมมีเพียงฉลากอาหารที่แสดงวันผลิต วันหมดอายุ วิธีการเก็บรักษา ส่วนประกอบอาหาร ฉลากโภชนาการที่แสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ ฉลาก GDA ที่แสดง พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ของอาหาร  ทั้งบรรจุภัณฑ์ แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมทั้งแหล่งทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันพัฒนาเป็น   ตราสัญลักษณ์โภชนาการแบบง่ายเพื่อเป็น “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier  Choice) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร หมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์พิจารณาจากคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่ายแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสมตามเกณฑ์ ช่วยให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารในกลุ่มเดียวกัน ได้อย่างรวดเร็วและส่งผลดีต่อสุขภาพ และเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ได้ตามเกณฑ์มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

ทางด้านดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันมีการแสดงสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพใน 8 กลุ่มอาหาร ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์นม กลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว น้ำจิ้ม ซอส กลุ่มอาหารมื้อหลัก กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มและโจ๊กที่ปรุงแต่ง กลุ่มขนมขบเคี้ยว        กลุ่มไอศกรีม กลุ่มน้ำมันและไขมัน เช่น เนยเทียม น้ำสลัด มายองเนส เป็นต้น แต่เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้ในการให้สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เป็นเกณฑ์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา ก่อนซื้อจึงควรอ่านฉลากโภชนาการควบคู่ไปด้วย เน้นเลือกอาหารที่ดีสุขภาพ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีควรเลือกบริโภคอาหารจากแหล่งธรรมชาติเป็นหลัก ให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม และที่สำคัญ ลด หวาน มัน เค็ม  ด้วยการบริโภคน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน”