หมอจุฬาไม่ทน อัดกก.วัตถุอันตรายคืนชีพ”พาราควอท”

by ThaiQuote, 16 มกราคม 2562

16 ม.ค.2562-ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสารพิษในอาหารว่า

“เลวไม่มีที่สิ้นสุด คนไทยต้องลุกขึ้นมาสู้แล้วครับเราหวังอะไรไม่ได้อีกแล้วอาหารพืชผักผลไม้ปะปนไปด้วยสารเคมีพิษข้าราชการกระทรวงทบวงกรมคอรัปชั่นรัฐบาลไม่ใส่ใจ

เวียดนามประกาศนโยบายส่งเสริมอาหารปลอดสารตกค้าง ไทยส่งเสริมการใช้สารพิษต่อไป

กรรมการวัตถุอันตรายกลับมาพิจารณาเรื่องสารเคมีพิษพาราควอทเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ทั้งๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมีมติแบน การใช้สารเคมีพิษพาราควอท และอื่นๆ ซึ่งมีหลักฐานทำให้คนไทยเสียชีวิตถูกตัดขา เข้าไปในเด็กในครรภ์ สมองพิการ เป็นมะเร็ง เป็นโรคสมอง และมีมติซ้ำเมื่อต้นปี 2561

กรรมการวัตถุอันตรายเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากกรมวิชาการเกษตร และจากตัวแทนใช้สารเคมีพิษสรุปว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ      

ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยและมีมติให้แบนสารเคมีพิษเหล่านี้ภายในปลายปี 2562 และกระทรวงเกษตรต้องนำแผนมาตรการทดแทนมาเสนอภายในหนึ่งเดือนและจะทำการลงพื้นที่ประเมินว่าเกษตรกรรับทราบถึงอันตรายของสารเคมีพิษเหล่านี้หรือไม่ภายในสามเดือน        

กรรมการวัตถุอันตรายในการประชุมวันที่ 15 มกราคม 2562 ตอบโต้คำวินิจฉัยของท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน     

สรุปการประชุมกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวานนี้ คือ มีการโหวตแบบเปิดเผย ได้คะแนน 17 ต่อ 7 เสียง เห็นชอบให้มีการพิจารณามติเฉพาะพาราควอตใหม่ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพิจารณาโดยตรง ไม่ต้องผ่านอนุฯเฉพาะกิจ      

แต่ให้มีการขอข้อมูลจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการพิจารณาว่ารอบคอบแค่ไหนอย่างไร แล้วจะนัดลงมติวาระพิเศษ ภายใน 1 เดือ          

ฝั่งสารพิษเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ เพราะตอนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติแบนพาราควอต ก็มีการโทรเข้าไปบอกว่าไม่เห็นด้วย และจะพาคนไปเยี่ยมผู้ตรวจการแผ่นดินอาจใช้มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายสยบกระแสของผู้ตรวจการแผ่นดิน         

ประเด็นสำคัญอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขในที่ประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีคนป่วยเข้าโรงพยาบาลปีละมากกว่า 2,000 รายและเสียชีวิตมากกว่า 100 รายต่อปีเป็นข้อมูลจาก สปสช และ อย. ดังนั้นการอ้างถึงหลักฐานทางส่วนประกอบความเข้มข้น มาตรฐานไม่สามารถจะลบล้างสิ่งที่เห็นในประเทศไทยได้”