ย้อนมหาวีรกรรม ‘สมเด็จพระนเรศวร’ กู้ศักดิ์และศรี กรุงอโยธยา

by ThaiQuote, 18 มกราคม 2562

ไล่เลียงตามการวิเคราะห์ของ ศาสตราจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่ได้อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก มหายาชวินเต๊ะ หรือ ราชพงศาวดารใหม่ ของพม่า ระบุชัดเจนในเรื่องการเสียเอกราชของอยุธยาในปี พ.ศ.2106 รวมถึงการเสียสัญลักษณ์ทางอำนาจต่างๆ และการตีตัวออกหากของอาณาจักรเล็กอาณาจักรน้อย

ในยุคสมัยนั้น ความเป็นเจ้าเอกราชมีความสำคัญมาก และก่อนกาลปี 2106 กรุงศรีอยุธยา มีสถานะเป็น เอกราช ทั้งนี้ คำว่าเอกราช เป็นการ สมาสคำระหว่าง เอกะ คือ เป็นหนึ่ง เป็นที่หนึ่ง ราชะ ก็คือราชา หรือกษัตริย์ รวมความคือ เอกราช เป็นราชาหรือกษัตริย์ที่เหนือกษัตริย์ทั้งปวง

ที่สำคัญ ความเป็นเอกราช หรือ เอกราชา นี้ ทำให้ กรุงศรีอยุธยา และ พระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์กลางจักรวาลของศาสนาพุทธ ( แนวความเชื่อผู้มีบุญญาธิการ) แนวคิดรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช ยิ่งมีช้างเผือก ยิ่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า พระเทียรราชา เมื่อครองราชสมบัติแล้วได้ช้างเผือกมาครอบครอง จึงใช้พระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

และนั้นเอง ทำให้มหาราชชาติทหาร อย่างพระเจ้าบุเรงนอง ผู้กร่ำศึกด้วยสองหัตถ์และพระแสงดาบ จึงประกาศตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชอีกองค์ และเข้าตำรา ราชสีห์ 2 ตน จะคงเป็นใหญ่ทั้งสองไม่ได้ เมื่อปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายได้ จึงมุ่งเข้าโจมตีกรุงศึกอยุธยา ตัดร่มไม้ใบหนาให้เหล่าผู้ต่อต้านอำนาจพระองค์หมดที่พึ่งไปในตัว

การทำศึกพิชิตกรุงศรีอยุธยาจบลงด้วยชัยชนะ ทำให้ศูนย์กลางจักรวาลย้ายไปยังกรุงหงสาวดีแทน ยิ่งการยึดช้างเผือกไป คือการตอกย้ำว่า พระองค์คือพระเจ้าจักรพรรดิราช ชนะสิบทิศอย่างแท้จริง

เมื่อร่มฉัตรหงสาวดีล้มลงเพราะการสวรรคตของพระเจ้าชนะสิบทิศในพ.ศ.2124 เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าวังหน้าอยุธยา พระนเรศ หรือ พระนเรศวร กำลังฉายพระบารมี มุ่งมั่นจะกู้ศักดิ์ศรีราชอาณาจักรอยุธยาคืนมาหลังเสียไปร่วม 15 ปี

และหากไล่ดูตามสมมติฐานที่เป็นไปได้ ในยุคนั้น การเป็นประเทศหรือพรมแดนชัดเจนยังไม่มีนัก เป็นเพียงการแผ่ขยายอำนาจออกไปคุมเมืองต่างๆ ดังเช่นการขึ้นเป็นมหาอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เริ่มที่สมัยขุนหลวงพะงั่ว เริ่มรวบรวมเมืองสุโขทัย หัวเมืองฝ่ายใต้ เข้ามาอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ทำให้อยุธยาจึงขึ้นเป็นศูนย์กลางได้

พระนเรศวร ได้ทรงมุ่งมั่นที่จะกอบกู้ความเป็นเอกราชของอยุธยาที่สูญเสียไป ให้กลับคืนมาเหมือนเดิม รักษาสถานะมหาอำนาจทั่วสุวรรณรภูมิอีกครั้ง

ทำให้เห็นว่าด้วยการมุ่งเน้นสู้ศึกนี้ วิเคราะห์และประมวลความเป็นไปได้ องค์จอมทัพวังหน้าอยุธยา เป็นไปเพื่อกอบกู้สถานะ เอกราช อันเป็นยอดมงกุฏของราชอาณาจักร เพื่อกู้ศักดิ์และศรีความเป็นหนึ่งให้คืนมา เพราะยุคนั้นสำคัญคือ ศักดิ์ศรี ในสถานะมากกว่าที่จะมุ่งเน้น ศักดิ์ศรี ในรูปแบบชาติ หรือประเทศอย่างในปัจจุบัน โดยทรงอาศัยความอดทนในการรอจังหวะที่เหมาะสม รอความพร้อมของกำลังทหาร เพราะนอกจากจะเป็นทหารอยุธยา กำลังมอญ ยังมีกำลังฉานที่หนีทัพจากกำแพงเพชรที่ถูกส่งมาปลูกข้าว เพียงเป็นเสบียงในการทำศึกในอนาคตของหงสาวดี

เพราะในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ถือว่าเป็น ขาลงของราชวงศ์ตองอู หลังการดำเนินนโยบายทางการเมืองการทหารที่ผิดพลาดของพระเจ้านันทบุเรงอย่างต่อเนื่อง และยิ่งตอกย้ำว่าการทวงคืนเอกราชอยุธยาใกล้สัมฤทธิ์ผล

นั้นเพราะนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง จนถึงศึกนันทบุเรง ปี 2130 หงสาวดีไม่สามารถปราบอยุธยาลงได้อีก ยิ่งทำให้จักรวรรดิตองอูระส่ำระสายหนัก เมืองน้อยเมืองใหญ่ต่างๆ เอาอยุธยาเป็นตัวอย่าง

และเมื่อพระแสงของ้าวกรีดคมด้วยแรงฟันตวัดผ่านพระวรกายองค์มหาอุปราชหงสา จุดจบราชอาณาจักรแห่งคมดาบผู้ชนะสิบทิศ ก็พังทลายลงอย่างราบคาบ การเคลื่อนทัพของสมเด็จจักรพรรดิราชองค์ใหม่แห่งฟากตะวันออก คือการโต้กลับอย่างต่อเนื่องและดุดัน ถึงขนาดที่นรธาสอ พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ผู้ราชโอรสบุเรงนอง อนุชาแห่งนันทบุเรง นำราชบุตรีถวายมายังอยุธยา ส่งเมงตุ๊ลอง ราชบุตรมาเป็นองค์ประกัน ความเป็นองค์เอกราชและศักดิ์อยุธยาจึงคืนกลับมาอย่างสมบูรณ์และไร้ศึกจากฟากเขาตะวันตกตะนาวศรีนับร้อยปี....