“สธ.-พณ.” เดินคนละทาง ปมคุมราคารพ.เอกชน

by ThaiQuote, 19 มกราคม 2562

จากกรณีที่ทางกระทรวงพาณิชย์มีมติให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าควบคุม และมีแนวทางนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 มกราคมนี้  เบื้องต้นปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล 2541 ที่ได้กำหนดให้คณะกรรมการสถานพยาบาล ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในการดูแล

แม้ว่าเป็นความพยายามของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการตีกรอบหรือควบคุมราคายาและค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเป้าหมายหลักคือการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ดูเหมือนว่าแนวทางดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากหลายโรงพยาบาลตลอดจนขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเอง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับต้นสังกัดก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสม โดยมีเหตุผลหลักสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรกติดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล และปัญหาทางเทคนิคด้านการรักษา ซึ่งแต่ละโรคมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงสาธารสุขออกมาป้องกันว่ากรอบที่วางไว้นั้นดีแล้ว เพราะได้กำหนดให้มีการแจ้งรายละเอียดเรื่องราคาอย่างละเอียดยิบแล้ว และเกรงว่าหากมีการควบคุมราคามากเกินไปจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลเอกชน

ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเริ่มขึ้นมาแสดงบทบาทไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวโดยเห็นว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งขึ้นทะเบียนยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางแพทย์เป็นสินค้าควบคุม อาจจะเป็นการขัดกับ พ.ร.บ. นี้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนในไทยถูกกำกับดูแลของโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการมาคุยกับสาธารณสุขแล้ว 2 ครั้ง ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่กระทรวงพาณิชย์ก็รีบนำไปขึ้นทะเบียนสินค้าควบคุม ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนในอนาคตได้          

ทางกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามออกมาประชาสัมพันธ์และให้ข่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทางกระทรวงอยากให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจคือ ต้นทุนค่ายาของโรงพยาบาลรัฐนั้นไม่ได้มีการนำค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินเดือนบุคลากร, ค่าที่ดิน, ค่าก่อสร้าง, ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปคิดคำนวณในค่ารักษา เพราะทางภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ให้โรงพยาบาลรัฐ ซึ่งแตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนที่ค่ายานั้นจะมีต้นทุนอื่นๆ รวมด้วย เช่น ค่าเภสัชและการจัดหา เงินเดือนบุคลากร ค่าที่ดินอาคาร การลงทุนต่างๆ ซึ่งเอกชนแต่ละแห่งจะต้องเป็นไปผู้รับภาระส่วนนี้เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงได้มีการกำหนดในประกาศกระทรวง ให้โรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งมีการประกาศราคาค่ายา, ค่าบริการ, ค่าเตียงและห้องพัก มีรายละเอียดแยกย่อยต่างๆ มาก เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ชัดเจน นำไปเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ และให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายแล้ว ซึ่งถือว่าครอบคลุม

สิ่งที่ผู้บริโภคเห็นว่า โครงสร้างค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน โดยโรงพยาบาลแพทย์ศาสตร์จะมีค่าเฉลี่ยต่อบิลสูงสุด เพราะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือมาก และผู้ป่วยที่มา โรงพยาบาลมักเป็นโรคที่รักษายาก ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าเฉลี่ยบิลรองลงมา ส่วนโรงพยาบาลรัฐจะมีค่าเฉลี่ยบิลต่ำสุด เพราะไม่ได้คำนวณต้นทุนอื่น

สำหรับผู้ป่วยนั้นก็ยังสามารถเลือกใช้บริการได้ หากมีการบริการตามมาตรฐานก็มีโรงพยาบาลรัฐ หรือ เอกชนในการดูแล ซึ่งก็มีสิทธิตาม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือประกันสังคมอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการความสะดวกสบายเหนือมาตรฐาน ก็จะต้องมีการจ่ายเพิ่มขึ้น  ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าหากทางกระทรวงพาณิชย์ต้องการเข้ามาควบคุมควรที่จะกำหนดเป็นแพ็กเกจต่างๆ แต่ไม่ใช่การควบคุมทั้งหมดจนไม่สามารถพัฒนาได้

โดย.... นกกางเขน