“คุมค่าบริการ รพ.เอกชน” รัฐต้องแกร่งดั่งหินผา

by ThaiQuote, 21 มกราคม 2562

"ผมว่าเขาไม่ค่อยมีอะไรทำมากกว่า ถึงได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา"

ข้างบนคือวลีของ "หมอเสริฐ" หรือ นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานกลุ่มดิสุตเวชการ เจ้าของโรงพยาบาลในเครือมากกว่า 40 แห่ง ที่สื่อปนกระทุ้งไปยัง กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เจ้ากระทรวง หลังประกาศจะ "คุมค่าบริการทางการแพทย์" ของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าหากประเด็นนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ก็เป็นอันว่ามันย่อมกระเทือนธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งทันที

เหตุผลของสนธิรัตน์ ก็เพื่อต้องการจัดการผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ขณะที่แน่นอนว่าความเห็นของธุรกิจโรงพยาบาล ก็มุ่งหวังที่จะทำกำไรจากการรักษาพยาบาลของกลุ่มคนที่มีความต้องการ แต่พลันที่ล่าสุดทิศทางของกระทรวงสาธารณสุข ก็ฉายไฟไปยังทางที่ว่าการคุมค่าบริการทางการแพทย์นั้น อาจทำไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง การที่กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งขึ้นทะเบียนยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางแพทย์เป็นสินค้าควบคุม อาจจะเป็นการขัดข้อกฎหมายในขณะนี้ เพราะโรงพยาบาลเอกชนในไทยถูกกำกับดูแลของโดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว

และผลของความย้อนแย้งระหว่างสองหน่วยงานรัฐ มันจึงทำให้สังคมไม่อาจมองภาพอื่นใดได้นอกจากที่ว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังทำเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน ก็เหมือนคล้ายว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังเอาอกเอาใจธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน หรือไม่?

โรงพยาบาลเอกชน อิสระที่ไร้การควบคุม

“การคุมค่าบริการมันควรจะมีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำเลย” คำพูดแรกจากปากของ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่เป็นอีกหนึ่งอาจารย์หมอที่ลุกขึ้นมาทำวิจัยค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมาหลายปี หลังจากที่เรายิงคำถามว่ามันถึงเวลาที่ต้องควบคุมค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแล้วหรือยัง

กระนั้น นพ.ไพบูลย์ ขยายความของคำว่า “โรงพยาบาล”ในบริบทของประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มโรงพยาบาลที่จัดได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ในประเทศไทย คือ 1.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด การบริหารกและดำเนินการทุกอย่างจะเป็นระบบราชการ ไม่มีความยืดหยุ่นในการบริหารทั้งคนและเงินงบประมาณ โดยเป็นการบริการแบบศูนย์รวมอำนาจ ที่สำคัญคือ “เลือกคนไข้ไม่ได้” สังคมจึงได้เห็นภาพคนไข้นอนรอการรักษาที่โถงทางเดินบ้าง หน้าลิฟท์บ้าง ซึ่งสะท้อนได้ว่าปริมาณคนไข้มากล้นจนเกินกว่าการขยายของโรงพยาบาล ทั้นในแง่อาคารสถานที่ หรือแม้แต่ไม่สอดคล้องกับความเพียงพอของแพทย์ และพยาบาล และมันย่อมสะท้อนถึงความเป็นความตายของคนไข้

2.กลุ่มโรงพยาบาลเอกชน จะมีความอิสระทั้งการกำหนดราคาค่าบริการ เลือกคนไข้ได้ ดูแลอย่างไรก็ได้ไม่มีใครมาควบคุม เพราะนับตั้งแต่มีพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ เมื่อปี 2541 เป็นต้นมา ก็ยังไม่เคยมีข้อมูลใดที่จะใช้กำกับโรงพยาบาลเอกชนได้ สังคมจึงไม่เคยเห็นภาพ “การลงโทษ” โรงพยาบาลเอกชนแม้แต่ครั้งเดียว

“ทั้งๆ ที่บางส่วนของพวกเขา(โรงพยาบาลเอกชน) ก็สะเพร่ามาก ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะ เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัส มีสภาพกระดูกหักหลายแห่ง แต่เมื่อไปโรงพยาบาลเอกชนแล้วกลับได้รับการรักษาแค่ดามจุดที่หักเอาไว้จากนั้นก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลของรัฐ สุดท้ายเด็กไปเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินรักษากับโรงพยาบาลเอกชน คือโรงพยาบาลเอกชนเขากำหนดได้ทุกอย่าง ทั้งคุณภาพว่าจะให้เป็นแบบไหน ค่าบริการ มาตรฐาน เพราะไม่มีใครคุมเขาได้เลย” นพ.ไพบูลย์ ก่อนขยายไปยังกลุ่มโรงพยาบาลถัดไป คือ

3. กลุ่มโรงพยาบาลนอกสังกัด จะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือกลุ่มโรงพยาบาลในหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลทหารต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีวิธีบริหารภายใต้การกำกับของรัฐ แต่ก็มีสิทธิ์จะเลือกคนไข้มากกว่าโรงพยาบาลของรัฐ แต่ก็น้อยกว่าโรงพยบาลเอกชน ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนไข้ที่มีเคสซับซ้อน คนไข้หนัก หรือบางส่วนก็ความต้องการของคนไข้ที่ไม่ไว้ใจการรักษาของโรงพยาบาลเอกชน กลัวถูกรีดเงิน แต่ก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาลของสาธารณสุขเพราะคิวยาว และไม่แน่ใจว่าคุณภาพจะเทียบเท่ากับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์หรือไม่

ไม่ลงทุน ถึงเวลาใช้เงิน “ดูด”หมอ-พยาบาล

อาจารย์หมอจากรามาฯ ฉายภาพอีกว่า ปัจจุบันในส่วนของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และใช้เม็ดเงินนี้เองในการ “ดูด” เอาบุคคลากรทางการแพทย์ของรัฐเข้าไปสังกัดตัวเอง เมื่อใดที่ขาดแคลนก็ใช้เงินแก้ไขปัญหา โดยไม่สนว่าที่ผ่านมารัฐบาลต้องลงทุนไปเท่าไหร่กว่าจะได้หมอ หรือพยาบาลมือดีเข้ามารักษาประชาชน

“อย่างรามาฯ ฝึกพยาบาลอย่างหนักเพื่อให้พร้อมกับห้องไอซียู หรือในห้องผ่าตัด แต่ถึงเวลาก็ถูกเอกชนมาดูดไป หมอก็เหมือนกัน โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เฉพาะทาง เรา “สร้าง” ขึ้นมาใช้เวลาไม่น้อย แต่จำนวนไม่น้อยเช่นกันก็ไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะเขาจ่ายค่าจ้างดีกว่า อิสระกว่า ได้เงินก็มากกว่า 3-4 เท่า ผลคือหมอของรัฐก็น้อยลง ไม่พอจะส่งไปโรงพยาบาลของรัฐเลย นี่คือความเหลื่อมล้ำ และไม่ยุติธรรมอย่างมาก” เสียงสะท้อนที่หนักแน่นเพื่อต้องการสื่อถึงปัญหาจากนพ.ไพบูลย์ ที่ย้ำไว้ชัดเจนถึงกลไกของโรงพยาบาลเอกชน ที่เขาระบุว่า “รัฐ” ต้องเสียหายไม่น้อยทีเดียว และจุดสำคัญคือมันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

กระนั้นก็ตาม ในแง่การเข้าควบคุมค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่กระทรวงพาณิชย์กำลังชงเรื่องเข้าครม.ในขณะนี้ นพ.ไพบูลย์มองว่า รัฐบาลต้องการ “เห็นราคา” ของโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า แต่เมื่อเห็นแล้วก็ควรจะต้องกำหนดราคาให้ชัดเจนลงไป เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนเลย

เขาเล่าว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีโอกาสแค่ครั้งเดียวเท่านั้นที่จะได้เห็นข้อมูลราคาค่าบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลเอกชน นั่นคือเกิดขึ้นในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เค้นให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้าร่วมบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยบางส่วนให้แลกกับการให้ประชาชนเข้ารับการรักษาอยางทันท่วงที แต่ก็ต้องขอดู “ค่าบริการ” เบื้องต้นด้วย และจุดนี้เอง ทำให้เราเห็นว่า ราคายาชนิดเดียวกัน แบบเดียวกัน จากโรงงานเดียวกัน แต่มันแตกต่างกันถึง40- 400 เท่าเมื่อเทียบกับของโรงพยาบาลรัฐ หรือค่าห้องแล็ปปฏิบัติการก็สูงกว่าของรัฐถึง 1-13 เท่าทีเดียว

เชื่อแน่ เอกชนปักหลักสู้รัฐบาล

แต่อีกนัยจากมุมมองของนพ.ไพบูลย์ ที่สะท้อนว่าเพราะความอิสระในการจัดการค่ายา ค่าบริการ แต่ก็ไร้ความคำนึงถึงการดึงเอาบุคลากรของรัฐที่ประคบประหงม และถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเต็มที่เพื่อให้มาช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ออกจากอ้อมอกของรัฐเพื่อไปสังกัดกับโรงพยาบาลเอกชน โดยที่ไม่ต้องลงทุนใดๆ เลย เมื่อถึงเวลาก็หว่านเงินซื้อตัว ง่ายๆ แค่นั้น

“"เขาสู้แน่นอน โรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมหรอก ท่าทีของเขาต่อสาธารณะก็ต้องการสู้เต็มที่ ไม่ต้องการให้มีนโยบายนี้ออกมา คือ การจะให้ใครได้เปรียบสักอย่าง มันก็ต้องมีคนเสียเปรียบ ถ้าจะคุ้มครองผู้บริโภคได้เปรียบ โดยไม่ทำให้ผู้ให้บริการเสียเปรียบเลย มันเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องดูต่อว่ารัฐจะแข็งได้แค่ไหน" หมอไพบูลย์ ทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยคำถามที่น่าติดตาม