ย้อนรำลึก “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” ก่อนน้อมส่งสู่นิพพาน

by ThaiQuote, 30 มกราคม 2562

พรุ่งนี้ (29 ม.ค.) เป็นวันที่ถูกกำหนดเพื่อประกอบพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขารครูใหญ่พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ณ พุทธมณฑลอีสาน จ.ขอนแก่น ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลวางดอกไม้จันทน์ ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง ด้วยจิตใจน้อมส่ง พระอริยสงฆ์แห่งวัดบ้านไร่สู่นิพพาน

ประวัติ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” โดยสังเขป

หลวงพ่อคูณ ถือกำเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2466 (บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม) ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน เป็นบุตรชายคนหัวปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ 1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ 2. นายคำมั่ง แจ้งแสงใส 3.นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์

 

นางทองขาวผู้เป็นแม่ เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า… เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงามความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้าและครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกสว่างให้แก่นางด้วย

“ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง”

 

ต่อมาบิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ 6-7 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ สถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนเช่นในสมัยปัจจุบัน

นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชาคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาด้านคาถาอาคมมาแต่เยาว์วัย

 

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมพ.ศ.2487 (หนังสือบางแห่งว่า ปี 2486) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ

หลวงพ่อคูณได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ และหลวงพ่อคง พุทธสโร วัดถนนหักใหญ่ ฝึกปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ รวมทั้งด้านอาคาอาคม

 

จากนั้นตามคำแนะนำของอาจารย์ หลวงพ่อคูณก็ออกธุดงค์ เริ่มในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกล กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศเขมร มุ่งเข้าสู่ป่าลึก สร้างความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศเขมรสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ.2496 ชาวบ้านได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ ซึ่งในสมัยก่อนมีอยู่มาก การตัดไม้ในสมัยนั้น ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะไม่มีเครื่องจักร ไม่มีถนน กว่าจะได้ไม้ที่เลื่อยแปรสภาพสำเร็จแล้ว ต้องเผชิญกับการขนย้ายที่ยากลำบาก โดยอาศัยโคเทียมเกวียนบ้าง ใช้แรงงานคนลากจูง บนทางที่แสนทุรกันดาร เนื่องจากถนนทางเกวียนนั้นเป็นดินทรายเสียส่วนใหญ่ เมื่อต้องรับน้ำหนักมากก็มักทำให้ล้อเกวียนจมลงในทราย การชักจูงไม้แต่ละเที่ยวจึงต้องใช้เวลาถึง 3-4 วัน

นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่อุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย นอกเหนือจากนั้น หลวงพ่อยังได้สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนบริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณสุขต่างๆ

 

ตำนานแห่งการสร้างวัตถุมงคล

จากข้อมูลที่สืบค้นกันได้นั้นพบว่าหลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว 7 พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.2493

การปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณจะใช้คาถาไม่กี่บท หัวใจพระคาถามีว่า มะ อะ อุ นะ มะ พะ ธะ นะ โม พุท ธา ยะ พุทโธ และยานะ แต่ในการปลุกเสก หลวงพ่อคูณจะใช้วิธี อนุโลมปฏิโลม (การต่อตามและย้อนลำดับ) เรียกว่า คาบพระคาถา เมื่อนำหัวใจธาตุ 4 คือ นะมะพะธะ มาใช้ หลวงพ่อคูณจะภาวนาด้วยจิตอันเป็นหนึ่ง (สมาธิ) ให้อักขระทั้ง 4 นี้ เป็น 16 อักขระ ดังนี้ นะ มะ พะ ธะ มะ พะ ธะ นะ พะ ธะ นะ มะ ธะ นะ มะ พะ

 

ระยะเวลาการปลุกเสกของท่านใช้เวลาไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์จิต ท่านเคยปรารภว่าเมื่อจะปลุกเสกวัตถุใด ใจต้องเป็นสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิ ปลุกเสกสิ่งใดก็ขลัง ระยะเวลาหนึ่งนาทีก็ดีแล้ว แต่หากใจไม่เกิดสมาธิ ปลุกเสกทั้งคืนทั้งวันก็ไม่มีผล อย่างนี้สู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ในเรื่องข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ หลวงพ่อคูณสั่งว่า เมื่อมีพระเครื่องของหลวงพ่อคูณติดตัว ให้ภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ ละเว้นถ้อยคำด่าทอ ด่าพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุคคลอื่น และอย่าผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น ให้สวดมนต์ก่อนเข้านอนทุกคืน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และหวงพ่อคูณย้ำว่า “ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิจะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง…ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”

วัตถุมงคลที่หายากที่สุด!

หลายท่านจะคุ้นเคยวัตถุมงคลต่างๆของหลวงพ่อคูณ แต่ไม่มีใครรู้ว่า มีวัตถุมงคลอยู่หนึ่งรุ่นที่หายากตั้งแต่ตอนสร้าง นั่นคือเหรียญหลวงคูณปี 2517 รุ่นสระแก้ว มีเรื่องเล่าขานของคนร่วมสมัยที่ทันเหตุการร์นี้ได้บอกกันว่า ในช่วงเวลานั้น หลวงพ่อคูณท่านสร้างวัตถุมงคลออกมา มักจะมีคนไปขอไปเช่า แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรวยคนมีเงิน และมีคนกล่าวว่าหลวงพ่อแจกพระแต่กับคนรวย ทำให้หลวงพ่อท่านมีความรู้สึกสังเวชใจ จึงได้นำพระรุ่นดังกล่าวทั้งหมด ไปเทไว้ในสระน้ำของวัด แล้วสั่งว่า “ใครอยากได้ มึงลงไปงมหาเอง”

 

ย้อนวันวาน “วัดบ้านไร่” ใต้ร่มเงาหลวงพ่อคูณ

ในสมัยที่หลวงพ่อคูณดำรงขันธ์นั้น วัดบ้านไร่ไม่เคยห่างหายจากผู้คนที่ศรัทธาจำนวนมากในแต่ละวัน ใกล้ๆ สระน้ำด้านหลัง (บริเวณที่เป็นวิหารเทพวิทยาคมในปัจบัน) รถยนต์จากทุกสารทิศจะจอดกันแน่นขนัด ผู้คนที่มาวัดนั้น จะเดินทางมาตั้งแต่หัวค่ำ หรือมาถึงช่วงกลางดึก ตี 2 ตี 3 เรียกได้ว่า ผู้คนเดินขวักไขว่ในวัดบ้านไร่ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง

ระหว่างนั้น คนที่ต้องการนำวัตถุมงคล รูป ของมงคลต่างๆ ซึ่งในยุคนั้นที่ได้รับความนิยมสุดๆ คือการนำธูป มาให้หลวงพ่อคูณเสก เพราะเชื่อว่าจะทำมาค้าขายร่ำรวย จะนำสิ่งของต่างๆ มาวางอยู่โถงรับแขกของหลวงพ่อ บางครั้งสูงถึง 2-3 เมตรจะชนกับเพดานทีเดียว แล้วเจ้าหน้าที่จะนำสายสิญจน์พันรอบภูเขาน้อยๆ ลูกนี้ไว้ จนกระทั่งตี 5 หลวงพ่อคูณจะออกมาทำพิธีปลุกเสกให้ เป็นอันเรียบร้อย

 

นอกจากวัตถุมงคลต่างๆ แล้ว การฝังตะกรุดทองคำ เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนนิยม สมัยนั้นเจ้าหน้าที่จะรับหน้าที่ฝังให้แทนหลวงพ่อ โดยผู้ที่จะฝังให้เข้าแถวตามคิว จุดที่ฝังจะเป็นที่เดียวกับวางของปลุกเสก วิธีการคือใครจะฝังตะกรุดที่แขนข้างไหน ให้ยื่นท่อนแขนด้านบน วางไว้บนท่อนไม้ที่วางตั้งไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดึงหนังท้องแขน ใช้ตะปูตัวใหญ่มาก ตอกท้องแขนจนปลายทะลุติดเนื้อไม้ แล้วดึงขึ้นมา เอาตะกรุดทองคำเสียบไว้ที่ด้านปลาย ก่อนจะดึงสวนออกมา เป็นอันว่าเรามีตะกรุดอยู่ในแขนแล้ว

จากนั้น เจ้าหน้าที่จะให้คนที่ได้รับการฝังแล้ว เดินเข้าไปหาหลวงพ่อคูณ ซึ่งท่านจะยืนรออยู่ ให้เรายกท่อนแขนข้างที่ฝังให้ท่าน ท่านจะบริกรรมคาถาแล้วพ่นใส่จุดที่ฝังตะกรุด เป็นอันเสร็จพิธีอย่างสมบูรณ์แบบ

ภาพต่างๆ เหล่านั้น ณ เวลานี้ มีแต่เพียงความทรงจำ

ข้อมูลประวัติสังเขป โดย พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์( สมประสงค์ ปญฺญาวชิโร )

ผจล.วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร Cr. จิตอาสางานพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณี กีฬา อำเภอสูงเนิน โคราช

Tag :