ก.แรงงาน ดัน พ.ร.บ.เงินทดแทนใหม่ พิการรับ 70% ของเงินเดือนตลอดชีวิต

by ThaiQuote, 30 มกราคม 2562

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ผลักดัน พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ หรือชื่อเต็มว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง
จากการแก้ไข พ.ร.บ.เงินทดแทน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในการนำเงินซึ่งนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ส่งเข้ากองทุนเงินทดแทนมาใช้สร้างหลักประกันด้านสวัสดิภาพให้แก่ลูกจ้างนั้น ส่งผลให้ลูกจ้างได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย พ.ร.บ.เงินทดแทนใหม่ เพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นให้จนถึงสิ้นสุดการรักษา

พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ กรณีต้องหยุดงาน-เสียชีวิต
กรณีต้องหยุดงาน จะได้ค่าชดเชยเพิ่มจากเดิม 60% ของค่าจ้าง เป็น 70% ของค่าจ้าง โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่เจ็บป่วย จากเดิมที่จ่ายหลังจากหยุดงาน 3 วัน
ยกตัวอย่าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท แพทย์ออกใบรับรองให้หยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน
วิธีคำนวณคือ
10,000 x 70% = 7,000 บาท
เท่ากับได้ค่าชดเชยวันละ = 7,000 บาท หารด้วย 30 วัน = 233 บาท
ลูกจ้างหยุดงาน 10 วัน เงินทดแทนที่ได้รับ = 233 x 10 = 2,333บาท
กรณีทุพพลภาพ กองทุนเพิ่มค่าฟื้นฟูสุขภาพจากเดิม 24,000 บาท เป็น 40,000 บาท และจะจ่ายค่าทดแทนเพิ่ม จากเดิม 60% ของค่าจ้าง ทุกเดือน นาน 15 ปี เป็น 70% ของค่าจ้างทุกเดือน ตลอดชีวิต
เช่น ลูกจ้างได้เงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท หากทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนเดือนละ 7,000 บาท ตลอดชีวิต แม้ว่าลูกจ้างจะฟื้นฟูร่างกายจนสามารถกลับไปทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ กองทุนก็ยังจ่ายค่าทดแทนในส่วนนี้ให้ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ผู้ทุพพลภาพ
กรณีเสียชีวิต จะเพิ่มค่าทดแทนแก่ทายาทเพิ่ม จากเดิม 60% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นเวลา 8 ปี เป็น 70% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นเวลา 10 ปี พรั้อมทั้งให้ค่าทำศพเพิ่มจาก 33,000 บาท เป็น 40,000 บาท อีกด้วย
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับใหม่ปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้ว ยกเว้น เงินทดแทนทุพพลภาพ 70% ของค่าจ้างทุกเดือน ตลอดชีวิต (ปัจจุบันงินทดแทนทุพพลภาพ อยู่ที่ 70% ของค่าจ้างทุกเดือน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี) และสิทธิประโยชน์ค่าทำศพที่เพิ่มเป็น 40,000 บาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวง

ความคุ้มครองครอบคลุมทุกส่วน
พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับนี้ ขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างในส่วนราชการ ลูกจ้างในองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม และลูกจ้างขององค์การระหว่างประเทศอีกด้วย
และการดูแลผู้เจ็บป่วยจากการทำงานตาม พ.ร.บ.เงินทดแทนนี้ครอบคลุมอุบัติเหตุ ผลกระทบจากฝุ่นละอองหรือสารเคมีในโรงงาน และโรคออฟฟิศซินโดรม ที่มีอาการปวดหลัง ปวดต้นคอ จากการนั่งทำงานนานๆ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจากการยกของหนักติดต่อกันนานๆ ซึ่งลูกจ้างก็สามารถรับการรักษาหรือรับเงินทดแทนได้
ในการเข้ารับการรักษา นอกจากจะเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าบริการแล้ว ยังสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการเพียง แต่ต้องมีใบรับรองการเจ็บป่วยจากสถานประกอบการ และค่ารักษารวมต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท
แต่หากเกิน 1 ล้านบาทจนถึงสิ้นสุดการรักษาต้องเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรัฐ แต่หากเป็นกรณีวิกฤตก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ และรับการรักษาได้จนถึงพ้นช่วงวิกฤตโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเช่นกัน

ดูแลในส่วนของการฟื้นฟูร่างกาย ฝึกอาชีพเพื่อให้ลูกจ้างสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ
โดยหลังจากที่เสร็จสิ้นการรักษาแล้วผู้ทุพพลภาพสามารถเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานประกันสังคมทั้ง 5 แห่งที่กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ โดยกองทุนฯ มีค่าฟื้นฟูด้านการแพทย์ เช่น ทำแขนเทียม ขาเทียม ให้คนละ 24,000 บาท
นอกจากนั้นในระหว่างฟื้นฟูร่างกายและฝึกอาชีพ ทางศูนย์ยังมีที่พักและอาหารให้บริการแก่ลูกจ้างที่ทุพพลภาพฟรีทั้งหมดอีกด้วย ทั้งนี้ ในการฟื้นฟูและฝึกอาชีพนั้นไม่ได้จำกัดระยะเวลา ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี
โดยการฟื้นฟูลูกจ้างที่ทุพพลภาพจากการทำงาน เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้อีกครั้ง เช่น บางรายแขนขาด-ขาขาด หลังจากรับการรักษาและใส่แขนเทียม-ขาเทียมแล้ว ก็สามารถฝึกอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างเย็บผ้า พนักงานโอเปอเรเตอร์ ซึ่งเมื่อเขาเห็นว่าตนเองยังมีศักยภาพในการทำงานก็จะมีกำลังใจและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป

กองทุนเงินทดแทนมีที่มาที่ไปอย่างไร และนำเงินจากไหนมาใช้ในการดูแลลูกจ้าง
กองทุนเงินทดแทนคือกองทุนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพื่อดูแลลูกจ้างที่เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง โดยเป็นกองทุนที่นายจ้างส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว ซึ่งอัตราการส่งสมทบจะขึ้นกับความเสี่ยงของประเภทงาน โดยอยู่ระหว่าง 0.2-1.0% ของค่าจ้างเงินเดือน
โดยคิดจากฐานค่าจ้างเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท อาทิ มีลูกจ้าง 3 คน ลูกจ้างแต่ละคนได้เงินเดือนเดือนละ10,000 บาท งานมีความเสี่ยงน้อย อัตราส่งสมทบอยู่ที่ 0.2% ดังนั้นจำนวนเงินที่นายจ้างส่งสมทบ = 10,000 x 12 = 120,000 คิด 0.2% ของ 120,000 = 240 บาทต่อคนต่อปี มีลูกจ้าง 3 คน จึงต้องส่งเงินสมทบรวม (240 x 3) 720 บาทต่อปี ข้อดีคือหากเกิดอะไรขึ้นกับลูกจ้าง กองทุนจะเข้ามาช่วยเหลือดูแล ไม่เป็นภาระกับนายจ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก : mgronline

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
https://www.thaiquote.org/content/64429

Tag :