2 นักวิชาการชี้ ‘จัดยาแรง’ แก้พิษฝุ่นละออง

by ThaiQuote, 31 มกราคม 2562

ที่สำคัญ วันใดที่มหานครและคนอาศัย จะได้หายใจไร้ฝุ่นอีกครั้ง?

ตำหนิราชการทำงานช้า!!
อ.สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ค่าฝุ่นละอองสูงสุดที่ จ.สมุทรสาคร 140 กว่าไมโครกรัม หลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ก็มีปริมาณสูงมาก เกิน 80 ไมโครกรัมทั้งสิ้น คำสั่งทางราชการก็ทยอยออกมาไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในการให้ตรวจโรงงานต่างๆ คำสั่งหยุดเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า มันเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจจนต้องถึงมือนายกรัฐมนตรี


‘ในความเป็นจริงถ้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จัดการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ก็จะไม่เกิดความรุนแรงเท่าที่เป็นอยู่ และเรื่องก็คงไม่ต้องไปถึงมือนายกฯ เนื่องจากว่าเรื่องราวเหล่านี้มันมีกฎหมายที่สามารถดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2560 พ.ร.บ.โยธาผังเมือง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่ง มาตรา 9 ของพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ที่ให้อำนาจในการสั่งกำหนดพื้นที่การจัดการควบคุม พอมาถึงวันนี้มันรุนแรง แสดงว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้เพื่อที่จะไปบรรเทาปัญหาลง ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำหรือฉีดน้ำขึ้นฟ้า หรือการตรวจจับรถควันดำ มันไม่ได้ผล หรือถ้าได้ผลก็ได้ผลส่วนน้อย เพราะขณะนี้ค่าฝุ่นละอองกลับสูงขึ้น ทั้งๆที่มีการดำเนินการของฝ่ายรัฐอยู่ ซึ่งผมว่าต้อองกลับมามองแล้วว่า มันเกิดจากอะไร แม้ปีนี้จะรุนแรง แต่ผมมองว่า ราชการปรับตัวทำไม่ทัน 


ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ราชการไม่ใส่ใจเท่าที่ควร มีความคิดว่าปัญหาจะไม่รุนแรง แต่จนถึงปัจจุบันพบแล้วว่าปัญหาค่อนข้างรุนแรง และมาตรการที่ออกมาช่วงก่อนหน้านี้พิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ถึงวันนี้จึงเห็นภาพการใช้ยาแรง
‘ยาแรงที่ผมพูดถึงก็คือการที่ต้องใช้พ.ร.บ.การสาธารณสุข ประกาศเขตควบคุมเหตุรำคาญ ตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกๆพื้นที่ ไปจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นควันทั้งหมด หรืออาจจะต้องใช้มาตรา 9 ในพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม หรืออย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทหารเข้าไปตรวจสอบโรงงานทั้งหมด รวมทั้งจะเข้าจัดการเรื่องวันคู่วันคี่การขับขี่รถยนต์ ผมมองว่ามันเป็นความสามารถที่หน่วยราชการทำได้ แต่ที่ผิดพลาดเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อ แล้วปัญหานี้ในความเป็นจริงมันเกิดขึ้นทุกปี รวมทั้งปริมาณรถยนต์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งการจราจรที่ตื้องหันกลับมาแก้ไขให้สามารถใช้ได้อย่างครบถ้วนทุกรูปแบบ’

แนะราชการเตรียมถอดบทเรียนรับมือปีถัดไป
อ.สนธิ แนะต่อไปว่า ในปีหน้าฝ่ายราชการต้องทำแผนปฏิบัติการ ในการทำงานรับมือฝุ่นละอองในช่วงเดือนธันวาคมจนถึงมกราคม จะต้องมีแผนปฏิบัติ รวมทั้งต้องมีการเตรียมแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ลดราคาให้ต่ำเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อย่างทั่วถึง รวมทั้งรถสาธารณะอย่างรถโดยสารประจำทาง ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวี หรือ รถไฟฟ้าแทนการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล


‘และที่สำคัญในอนาคตการวางแผนต้องดีกว่านี้ ทันทีที่จะเริ่มมีปัญหา ฝ่ายราชการต้องเตรียมหน้ากากกันฝุ่นละอองเพื่อแจกประชาชน คนทำงานกลางแจ้ง พ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งในระยะยาว ต้องไปปรับปรุงมาตรฐานของฝุ่นละอองที่เกิดจากแหล่งกำเนิดทั้งหมด ไม่ว่าจะปล่องควันจากโรงงาน ไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล เพราะทุกวันนี้โรงงานเวลาปล่อยควันเสียออกมานั้น จะปล่อยตามมาตรฐานของปล่อง เช่น ปล่องมีมาตรฐาน 400 มิลลิกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ทำให้โรงงานสามารถจะปล่อยควันเสียเท่าไหร่ก็ได้ โดยที่ไม่เกินค่าที่กำหนด ตรงนี้เองทำให้เกิดปัญหาสะสมของฝุ่นละอองPM2.5 ‘
สำหรับตัวอย่างอ้างอิงจากต่างประเทศ อ.สนธิ บอกว่า ในต่างประเทศนั้น เขาไม่ให้รถยนต์ดีเซลวิ่งเข้าเมืองเลย จำกัดเฉพาะรถเบนซิน เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือถ้าจะต้องเข้าเมืองก็ต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยูโร 5 ยูโร 6 เท่านั้น


ในเรื่องการพูดถึงผังเมืองที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองที่วิกฤตขณะนี้ อ.สนธิ อธิบายว่า มีผลค่อนข้างมาก ส่วนตัวมักจะพูดเสมอว่า สาเหตุหลักฝุ่นละอองในเมืองเกิดจากถนนแคบ การจราจรคับคั่ง แล้วมีตึกสูงขนาบ 2 ข้างทาง ลมจึงไม่สามารถพัดไปมาได้อย่างสะดวก


‘ผมมองว่าตอนนี้ในกทม.เรามีการปล่อยให้สร้างคอนโดมากเกินไป ตั้งชิดแนวรถไฟฟ้าเป็นแถวเลย ปัญหาคือคอนโดพวกนี้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ครบถ้วน คือ ดูเฉพาะโครงการต่อโครงการ แต่ไม่ได้ดูที่ภาพรวม จึงทำให้สร้างติดถี่กันมาก และทำให้ลมไม่สามารถพัดผ่านได้ ตรงนี้ผมคิดว่าเราจะต้องปรับวิธีการใหม่กันทั้งหมด วิกฤตฝุ่นละอองในวันนี้มันจะต้องมีการยกเครื่องระบบสิ่งแวดล้อมใหม่ ทั้งการป้องกันจากแหล่งกำหนด การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผังเมืองด้วย ‘


ชี้ ‘พรรคการเมือง’ ต้องมีนโยบายมลพิษทางอากาศจริงจัง!!!
ห้วงเลือกตั้งที่ใกล้เข้า แต่หลายพรรคการเมืองยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะ เรื่องมลพิษทางอากาศ อ.สนธิ ชี้ว่า เรื่องฝุ่นละอองกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่สำคัญ
‘ฉะนั้น พรรคการเมืองที่จะมาลงรับการเลือกตั้งในเขตกทม.หรือปริมณฑล จะต้องมีนโยบาย เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ว่าถ้าได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้ว จะปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะจัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างไร รวมทั้งมาตรการการป้องกันลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงฤดูหนาวให้มีความชัดเจน อย่างที่บอกยังไม่มีพรรคไหนพูดออกมาให้ชัดเจน พูดกันแต่ภาพรวมกว้างๆ ยังไม่ลงไปถึงแนวทางการปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองแถลงออกมากันให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ’


ด้าน ผศ.ดร.ภัคพงศ์ พจนารถ รักษาการแทนคณบดี คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้เผยแพร่ความเห็นผ่านแฟนเพจ NIDA Thailand ในหัวข้อ รับมือ PM2.5 อย่างเข้าใจ ฝ่าวิกฤตฝุ่นพิษที่คนไทยต้องเผชิญ ในช่วงหนึ่งของบทความระบุว่า จะมีจัดการกับปัญหา PM2.5 ได้อย่างไร?


อ.ภัคพงศ์ อธิบายไว้ว่า สามองค์ประกอบของปัญหาฝุ่นละอองนะครับ แหล่งกำเนิด ตัวกลาง และผู้รับ การจัดการปัญหามลพิษมีทางเลือกหลักสามทาง จัดการที่แหล่งกำเนิด จัดการที่ตัวกลาง หรือจัดการที่ผู้รับ หรือไม่ก็บูรณาการกันมากกว่าหนึ่งทางขึ้นไป การจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ลด PM2.5 จากแหล่งกำเนิด แต่ก็เป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนทางการเงินสูงและกระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเช่นกัน ในทางปฏิบัติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงยังไม่กล้าใช้ยาแรงกับการลดที่แหล่งกำเนิดครับ มาดูที่ กทม. ของเรา ถ้าเราจำกัดหรือยกเลิกการใช้รถดีเซลใน กทม. ควบคุมการเผาในที่โล่งของในปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง รับรองว่าคุณภาพอากาศดีขึ้นแน่นอน


เพียงแต่ว่าการทำแบบนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะมันกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและมีผลทางเศรษฐกิจมากเกินไปครับ เราถึงต้องหามาตรการที่มันดูประณีประนอมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (แต่ลดมลพิษไม่ค่อยได้) เช่น รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว รณรงค์ให้ใช้รถขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ส่วนคนจะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ พอมาดูที่การจัดการที่ตัวกลาง คือ อากาศหรือสภาพอากาศ อันนี้ยิ่งเป็นไปได้ยากเข้าไปใหญ่ แต่ก็ใช่ว่ารัฐเราจะไม่พยายาม ตัวอย่างก็เช่นการพยายามสร้างให้เกิดฝนหลวงใน กทม. ในช่วงปัญหาฝุ่นละออง อันนี้ก็นับว่าเป็นการจัดการที่ตัวกลางครับ ส่วนอันสุดท้ายคือ จัดการที่ผู้รับผลกระทบ อันนี้ง่ายสุด ก็คือการผลักภาระให้ประชาชนไปจัดการตัวเองดีๆ ออกคำเตือน ใส่หน้ากากกันเข้าไว้ งดออกจากบ้าน อันนี้ต้นทุนระยะสั้นในการแก้ปัญหาจะต่ำมาก แต่ถ้าเราคิดถึงเรื่องต้นทุนทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา มันจะสูงมากครับครับ เพราะไม่ใช่ว่าผู้รับผลกระทบทั้งหมดจะมีความสามารถในการจัดการลดความเสี่ยงจากฝุ่นละอองได้เท่ากัน กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงสุดก็คือกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางมากที่สุด ทั้งครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย


สำหรับเรื่องมาตรการปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ผลหรือไม่นั้น รักษาการแทนคณบดี คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อมระบุว่ามาตรการระยะสั้นที่กรมควบคุมมลพิษ และ กทม. ใช้ในปัจจุบัน อาทิเช่น การเพิ่มความถี่ในการกวาดล้างทำความสะอาดถนน และฉีดพ่นน้ำในอากาศ การเข้มงวดตรวจจับรถควันดำ การเข้มงวดมิให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง การรณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอด หรือ การตั้งคณะกรรมการร่วม คณะทำงานร่วมต่างๆ
นักวิชาการและคนทำงานสายมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่คงได้แต่ยิ้มปลงๆ เพราะเป็นมาตรการทางจิตวิทยาเสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นการล้างถนน อันนี้ช่วยได้สำหรับพวกฝุ่นขนาดใหญ่ และฝุ่นหยาบบ้าง ส่วน PM2.5 ไม่ช่วยเท่าไร เพราะมันมีขนาดเล็กมาก ไม่ค่อยมาตกกองอยู่พื้นถนนเหมือนฝุ่นขนาดใหญ่ หรือการฉีดน้ำในอากาศ ลดฝุ่นได้หรือไม่ ตอบว่าได้ครับ แต่ได้ตรงที่ฉีดนั่นแหละ พอเลิกฉีด ค่ามันก็สูงขึ้น ทำเอานึกถึงมาตรการที่บางท้องถิ่นใช้ขณะเกิดปัญหาหมอกควันภาคเหนือเมื่อทางจังหวัดมีนโยบายว่าค่า PM10 ต้องไม่สูงเกินเท่านั้นเท่านี้ ท้องถิ่นก็แก้ปัญหาด้วยการใช้รถขนน้ำไปฉีดตรงสถานีตรวจวัดเอา แต่ก็เข้าใจได้ว่ามาตรการระยะสั้นนี่แหละทำได้ยากสุด ถ้าไม่ใช้ยาแรง สำหรับมาตรการระยะยาวก็ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนประเภทของเชื้อเพลิงของรถโดยสารสาธารณะ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5/6 การปรับลดอายุการตรวจสภาพรถยนต์ใช้งาน การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า จัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น พวกนี้ถ้าทำได้จริงก็มีส่วนช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้


ในตอนท้ายบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ อ. ภัคพงศ์ ได้ระบุแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไว้ว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้เวลา ปัจจุบันในประเทศไทยพิสูจน์แล้วว่า มาตรการที่ภาครัฐรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมาย การใช้เครื่องมือต่างๆ ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหา PM2.5 PM10 ที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ที่ประสบปัญหาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน และปัจจุบันปัญหาก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เคยได้ยินภาครัฐกล่าวถึงการมีมาตรการจัดการปัญหาระยะสั้น ซึ่งไม่ค่อยได้ผล มาตรการระยะยาว ซึ่งยังไม่ได้นำมาปฏิบัติ และการพิจารณามาตรการพิเศษประกาศเป็นช่วงวิกฤต ซึ่งก็ยังไม่ได้นำมาใช้เช่นกัน แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่า ในระยะยาวหลังจากมาตรการต่างๆ ได้ถูกนำมาปฏิบัติ ความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM2.5 คงบรรเทาลง แต่สำหรับในระยะเวลาอันสั้นนี้ การจัดการปัญหาที่ตัวผู้รับผลกระทบคงเป็นมาตรการหลักเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนใน กทม. และปริมณฑล ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ร่วมทำให้เกิดปัญหา PM2.5 ด้วย ต้องจัดการดูแลตัวเองไปก่อน หลีกเลี่ยงการออกกลางแจ้งในวันที่ฝุ่นละอองสูง ใช้หน้ากากอนามัย กันได้ไม่ถึง 99.9% ก็ใช้ไป ดีกว่าไม่มีหน้ากากเลย ใครที่คันตาก็อาจล้างตาและใส่แว่นกันแดดใหญ่ๆ ช่วยกันได้บ้าง หรือใครแพ้ที่ผิวหนังก็อาจต้องใช้เสื้อผ้าที่มิดชิด หมั่นทำความสะอาด ในบ้านใครมีเครื่องกรองอากาศก็เปิดใช้ แล้วพออีกเดือนหรือสองเดือน สถานการณ์เช่นนี้ผ่านไป เราก็อย่าปล่อยให้มันผ่านแบบลืมมันไป ปีหน้าเจอกันใหม่ แต่คงต้องช่วยกันส่งเสริมและกระตุ้นให้มาตรการต่างๆของภาครัฐที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติ ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดผลจริงจัง ถ้าภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและไม่ปล่อยวางก็เป็นการตรวจสอบตรวจทานการดำเนินการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอีกรอบหนึ่ง

เรื่องโดย วรกร เข็มทองวงศ์

 

Tag :