สมเด็จพระเทพฯ ทรงย้ำ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ข้อมูลต้องแม่นยำ

by ThaiQuote, 5 กุมภาพันธ์ 2562

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงเน้นย้ำเรื่องการใช้ข้อมูลข่าวสารในงานฯ ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ส่วนช่วงถ่ายทอดสด บทบรรยายต้องไม่มากจนรบกวนบรรยากาศพระราชพิธี

วันนี้ (4 ก.พ.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ครั้งที่ 2 โดยกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงานจากสิ่งที่สมเด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จฯ เป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยพระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องการประชาสัมพันธ์อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก การใช้ข้อมูลข่าวสารในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกาศทุกคนทุกด้าน หรือผู้บรรยายเกี่ยวกับพระราชพิธี จะต้องถ่ายทอดออกมาให้ถูกต้องแม่นยำและมีความรู้ในเรื่องนี้

เรื่องที่ 2 ระบบการถ่ายทอด ในห้วงพระราชพิธีฯ ถือว่าเป็นห้วงที่มีความสำคัญ ผู้บรรยายบางครั้งบรรยายมากเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถรับทราบบรรยากาศในพระราชพิธี ซึ่งวันนี้ได้นำมาย้ำเตือนกับที่ประชุมให้วางแผนให้ดี โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอด ซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก

และต้องมองลึกลงไปว่า ในช่วงถ่ายทอดสดต้องนำเรื่องที่รับสั่งไว้ใส่เกล้าฯ เสมอ และดำเนินการอย่างเข้มงวด ซึ่งการประชุมในวันนี้ ได้นำทั้ง 2 เรื่องที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งไว้มาเน้นย้ำกับคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ทุกคนให้ไปวางแผนให้ดี

“การที่จะบรรยายสดๆ ต้องระมัดระวัง เน้นว่าต้องมีบทบรรยายที่ถูกต้องและแม่นยำ โดยบทบรรยายจะผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการฯ เพื่อป้องกันความผิดพลาด แต่ต้องไม่บรรยายมากจนเกินไป เพราะบางครั้งประชาชนที่รับฟังทางวิทยุหรือโทรทัศน์ต้องการซึมซับบรรยากาศงานพระราชพิธี เรื่องนี้ต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

 

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องการทำงานร่วมกัน ในเบื้องต้นได้ใช้การถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเป็นหลัก แต่ก็มีผู้ดำเนินการเกี่ยวกับโทรทัศน์และวิทยุ อยากจะมีส่วนร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้ จึงได้แจ้งมาว่าอยากให้คณะกรรมการได้เปิดกว้าง อยากขอความร่วมมือให้คณะกรรมการถ่ายทอดสดเปิดโอกาสให้ทีวีหลายๆ ช่องเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะทำให้พระราชพิธีนี้สมพระเกียรติ สื่อออกไปให้พี่น้องประชาชนได้เห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตั้งแต่เริ่มเรื่องของพิธีตักน้ำ ก็จะให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพ เพื่อมาเผยแพร่ให้กับพี่น้องประชาชน

ด้านเนื้อหาของการประชุมในวันนี้ พล.อ.ฉัตรชัย ได้ขอให้คณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ อนุกรรมการด้านศูนย์ถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ คณะอนุกรรมการด้านศูนย์สื่อมวลชน และคณะอนุกรรมการด้านต่างประเทศ ทำงบประมาณว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่และมาเสนอภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพื่อเสนอต่อ ครม.ต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ตนได้เน้นย้ำว่างานนี้ รัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เพราะฉะนั้นในทุกเรื่องต้องละเอียดรอบคอบ และสามารถสื่อสารได้กับทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ และในระยะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ต้องทำงานให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนรับทราบข้อมูลทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ซึ่งพระราชพิธีจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน แต่พิธีการต่างๆ จะมีการซักซ้อมกันตั้งแต่เดือนมีนาคม อาทิ ซักซ้อมริ้วกระบวนพยุหยาตราสถลมารค อยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในพระราชพิธีประวัติศาสตร์แห่งชีวิตที่มีความสำคัญของชาติ พี่น้องประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้หมด

“ในห้วงพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศจะทำให้การถ่ายทอดสดทั้งในและต่างประเทศ 170 ประเทศทั่วโลก อยากเน้นให้คนไทยทุกคนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านในช่องทาง www.phralan.in.th และแฟนเพจเฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ด้านนางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะอนุกรรมการด้านศูนย์สื่อมวลชน กล่าวว่า ขณะนี้กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดตั้งช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านทางเว็บไซต์ www.phalan.in.th แฟนเพจ ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ และเปิดเผยแพร่ข้อมูลที่เชื่อถือแล้ว

โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ทั้งรูปแบบตำรา เอกสาร เพื่อเผยแพร่ในระบบออนไลน์ ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตชื่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ด้านล่างของเนื้อหา มุมซ้ายมีตรากรมประชาสัมพันธ์ในฐานะแอดมินเว็บไซต์และแฟนเพจ ส่วนมุมขวาเป็นที่มาของแหล่งข้อมูล เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อน และข้อมูลผิดพลาด

สื่อมวลชนสามารถนำข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์ต่อได้ เพื่อป้องกันความผิดพลาด เนื่องจากพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างไม่ถูกต้อง เช่น คำว่า หมายกำหนดการ และกำหนดการ เป็นต้น โดยทั้งสองช่องทางจะมีการอัพเดทข้อมูลพิธีการหรือกำหนดการอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังจัดทำเป็นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งหนังสือพิธีบรมราชาภิเษก โดยกระทรวงวัฒนธรรม หนังสือรวบรวมบทความพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกรมศิลปากร หนังสือรวบรวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยกระทรวงมหาดไทย

นางทัศนีย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชนสำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเบื้องต้นจะเปิดเป็นศูนย์ย่อยที่ชั้น 1 หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับงานพระราชพิธีฯ พร้อมจัดเตรียมเอกสารและหนังสือที่เกี่ยวข้องให้สืบค้น และมีแผนจะจัดทำ E-BOOK เพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถดาวน์โหลดได้ด้วย ตลอดจนจัดทำแผ่นพับเพื่อชี้เป้าแหล่งข้อมูลในการสืบค้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ เตรียมจัดอบรมสื่อมวลชนจำนวน 4 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ ร่วมกับสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์มาอบรมให้ความรู้ จำนวน 3 วัน ครั้งที่ 2 เชิญผู้บรรยายในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 3 จัดอบรมจิตอาสา

และครั้งที่ 4 จัดอบรมสื่อมวลชนและเดินทางลงพื้นที่ที่มีการเตรียมงานพระราชพิธี เช่น กระบวนพยุหยาตราสถลมารค และเครื่องประกอบพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งกรมศิลปากร โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการใช้คำศัพท์เฉพาะและมีประวัติความเป็นมาตามโบราณราชประเพณี จะต้องคำนึงถึงความถูกต้อง หากประชาชนไม่แน่ใจการใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่ถูกต้องสามารถสอบถามได้ที่กรมประชาสัมพันธ์และสำนักราชบัณฑิตยสภาเท่านั้น

ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานและสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อสร้างการรับรู้ในโบราณราชประเพณีที่มีมาโดยตลอด ซึ่งคนไทยมีความรักความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ” นางทัศนีย์ กล่าว

Tag :