อุณหูมิการเมืองร้อน หลัง "บิ๊กเซอร์ไพรซ์"

by ThaiQuote, 8 กุมภาพันธ์ 2562

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยถูกบันทึกเอาไว้อีกครั้ง พลันที่เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติ พรรคที่ถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นอีกพรรค "นอมินี" ของเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสว่าเป็นพรรคที่ ทักษิณ ชินวัตร กำกับเอาไว้อยู่ ได้สั่นสะเทือนทั้งแผ่นดินเมื่อเสนอชื่อ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคไทยรักษาชาติ เพียงชื่อเดียว
สิ่งที่ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ยืนยันว่าเป็นมติของพรรคเอง และพระองค์ทรงมีความรู้ความสามารถ และแนวคิดที่สอดคล้องกับพรรค อีกทั้ง ที่ผ่านมาพระองค์ยังทรงทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด และทรง "เสียสละ" อย่างมากเพื่อลงมาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน รวมถึงพระองค์ยังได้อนญาตให้เสนอนามของพระองค์ได้ เพื่อขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีของประเทศในนามของพรรคไทยรักษาชาติ
คล้อยหลังไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ร่างหนังสือ "ตอบรับ" และให้คำตอบกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ และสำทับเหตุผล ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต แต่เพื่อสานงานต่อที่ทำเอาไว้ จึงตอบรับกับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

เสียงในสังคมตามมาทันที ว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นชื่อและน่าจะเห็นก่อนรู้ก่อนว่า ไทยรักษาชาติจะเสนอชื่อ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นนายกฯ แต่เหตุใดจึงไม่ถอย แต่ยังตอบรับพลังประชารัฐอีก
เหตุผลตรงนี้ แหล่งข่าววงในสะท้อนว่า มีการพูดคุยกันวงระดับสูง ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ "ถอย" และต้องการให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปตามกระบวนการ ตามระบบ เพื่อผลักและดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นอีกครั้ง คับคล้ายว่า "ใครอยู่ตรงไหน ก็อยู่ตรงนั้น ใครทำอะไร ก็ทำหน้าที่ต่อไป" และหลังเลือกตั้งคำตอบจะออกมาแบบใดก็ต้องมาว่ากันอีกที แต่ทุกอย่างย่อมอยู่บนพื้นฐานที่ประเทศชาติจะได้ "ประโยชน์สูงสุด" เป็นหลัก
เหตุผลที่ว่าในวงพูดคุยจึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ร่างหนังสือตอบรับเดินหน้าต่อไม่ได้ถอยหลัง แม้ก่อนหน้าวันประวัติศาสตร์ทางการเมืองแค่ 2 วัน จะมีกระแสเล็ดรอดออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มจะ "ท้อ" กับเส้นทางทางการเมือง แต่ท้ายสุดคำตอบของทหารมาทั้งชีวิตอย่างพล.อ.ประยุทธ์ ก็ชัดเจนกับสังคมแล้วว่าจะเดินหน้าต่อตามระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเดินทางมาถึงในอีกไม่ช้า
แน่นอนว่าหลังการเลือกตั้งทิศทางประเทศไทยจะนำไปสู่แนวทางไหน เพราะในวันนี้ต้องยอมรับแล้วว่าบริบททางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากเดิมที่หลายพรรควางแผนตัวจำนวนส.ส.ที่จะได้เมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้ง เพื่อเป็นอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาล และต้องปรับกระบวนทัพกันใหม่เพื่อสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า
กระนั้นก็ตาม เมื่อมองตามแนวทางของกฎหมายที่ถูกวางเอาไว้ ชื่อของ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ" จะถูกเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรองรับมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า พรรคไทยรักษาชาติ จะได้ส.ส.อย่างน้อยที่สุด คือ 25 ที่นั่งหรือไม่ เพื่อยื่นสิทธิ์การได้เสนอชื่อต่อรัฐสภาได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้รับรองด้วย ขณะที่พลังประชารัฐเอง ก็หมายมั่นว่าจะได้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาสู่รัฐสภาเพื่อให้ "โหวต" กันด้วย เมื่อถึงช่วงเวลานั้นแน่นอนว่าภาพความขัดแย้งถึงกับหักผลโหวตกันในรัฐสภาคงไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นกระแส "รัฐบาลแห่งชาติ" จึงระงมขึ้นทันทีหลังจากเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาพูดชัดเจนถึงประเด็นนนี้
อย่างไรก็ตาม กับประเด็นจำนวนส.ส.ของไทยรักษาชาติ ตั้งเป้าเอาไว้ว่าน่าจะได้ระหว่าง 25-30 เก้าอี้ จากส.ส.เขต 10 ที่นั่ง และส.ส.บัญชีรายชื่อที่ 20 ที่นั่ง บวกลบไม่เกิน 5 ที่นั่ง ซึ่งเท่ากับว่าหากเป็นจริงตามที่เป้าหมายของพรรคไทยรักษาชาติตั้งเป้าเอาไว้ ก็จะเท่ากับว่า ส.ส.ในสังกัดของไทยรักษาชาติก็มีสิทธิ์จะเสนอชื่อบุคคลของพรรคเป็นนายกฯ สู่รัฐสภา
การเมืองของประเทศไทยนับจากวินาทีตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จึงน่าจับตาทุกโมเมนต์ และทุกย่างก้าว