จะหนีก็หนีไม่ได้ ปัญหา"ภัยคุกคามทางเพศ"

by ThaiQuote, 8 กุมภาพันธ์ 2562

โดย....ทีมข่าว ThaiQuote

ปัญหาความรุนแรงนับวันจะร้าวลึกและเกิดขึ้นกับทุกชนชั้น ตลอดจนเพิ่มปริมาณมากขึ้น กลายเป็นปัญหาทางสังคมที่กัดกร่อนชีวิตผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดกับผู้ที่อ่อนแอกว่า มีตั้งแต่การทุบตี การล่วงละเมิดทางเพศ Thaiquote ได้มีโอกาสคุยกับ "สุเพ็ญศรี เพ็งโคกสูง" ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เพื่อให้สะท้อน และถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เห็นแนวทางการป้องกันภัยของความรุนแรงให้ลดน้อยลง หรือหลีกหนีภัยดังกล่าวให้พ้นจากชีวิตของเรา
สุเพ็ญศรี เปิดฉากถึงปัญหาภัยความรุนแรงทางเพศไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ภายนอกอาจเห็นว่าความรุนแรงนี้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มที่มีฐานะลำบาก แต่ที่จริงแล้วเกิดขึ้นกับทุกชั้นของสังคม กลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงก็เผชิญกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ปัญหาคือเสียงของคนเหล่านั้นออกมาไม่ได้ คนทำหน้าที่แก้ไขก็ขาดประสิทธิภาพเข้าไปช่วยเหลือ ขาดทักษะในการระงับเหตุ ไม่เปิดโอกาสให้คนที่ถูกกระทำร่วมในการแก้ไขปัญหา คนที่รับเรื่องต่อในแต่ละช่วงก็ทำงานไม่ประสานกัน หน่วยงานการบริการต่างๆ ตั้งแต่แพทย์ อัยการ มูลนิธิ ไม่เป็นหนึ่งเดียวในการทำงาน นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ไม่ครบวงจร ตัวอย่างเช่นคนที่ก่อเหตุก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรม
"ถ้าจะมองกันต้องมองกันที่มูลเหตุ เกือบทุกเหตุการณ์ของความรุนแรงเกิดจากคนใกล้ชิด มีความไว้วางใจ จึงขาดการเตรียมพร้อม และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกิดจากรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่สั่งสมให้ผู้ชายมีความเป็นใหญ่หรืออยู่เหนือสตรีเพศ ขาดความเคารพซึ่งกันและกัน ถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้น มันต้องใช้เวลานาน อาจหมายถึงคนหนึ่งรุ่นเลยก็ว่าได้ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทำงานเชิงบูรณาการ เป็นระบบและมืออาชีพ"
ปัจจุบันนี้ปัญหาเรื่องความรุนแรงมีความซับซ้อนมากขึ้น เกี่ยวข้องกับล่วงละเมิดทางเพศ การมียาเสพติดเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งล้วนเกิดจากคนที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำได้ลงมือกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่ถูกเพศชายทำร้าย เพราะต้องพึ่งพิงการเลี้ยงดู แล้วคนในครอบครัวหรือสังคมเครือญาติ ตลอดจนที่ทำงานเพิกเฉย เก็บงำให้เป็นเรื่องภายใน ตัวอย่างเช่น พ่อกระทำต่อลูก แม่ก็เห็นด้วย หรือหากไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีความคิดที่จะนำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขและพิทักษ์สิทธิของเด็กหรือผู้ถูกกระทำ หากเกิดในหมู่บ้านซึ่งเป็นสังคมเครือญาติก็จะจัดการกันเอง
วงจรเหล่านี้ทำให้กฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง เข้าไปจัดการไม่ได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายมีขั้นมีตอนของการจัดการทั้งบทของการภาคทัณฑ์ การคุมขัง ตลอดจนการเยียวยาเหยื่อ ปัญหาเหล่านี้ได้พอกพูนและตอกย้ำจนเหยื่อทนไม่ได้ จึงค่อยออกสู่สังคมให้ความช่วยเหลือ ปัญหาแบบนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายพ่อหรือผู้กระทำจะบังคับไม่ให้เหยื่อออกสู่สังคม ควบคุมให้อยู่ในสายตาของครอบครัวและเครือญาติ ยิ่งศึกษาเป็นรายกรณีเป็นความยากของเหยื่อที่จะเข้าสู่บริการ เพราะจะคิดว่าถ้าเกิดพ่อเป็นคนทำร้ายเขา แล้วหากพ่อติดคุก แม่จะปฏิบัติต่อเธออย่างไร น้องจะไร้ที่พึ่ง เป็นต้น เวลาแก้ปัญหาต้องช่วยให้เหยื่อปลอดภัยก่อน ถึงค่อยนำผู้ทำผิดเข้ากระบวนการทางกฎหมาย
สุเพ็ญศรี กล่าวว่า “ความยากของการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้คือการเอาความอายออก สถาบันการศึกษาไม่มีสอน เป็นเรื่องยากที่เขาจะต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตัวเองเพื่อที่จะมาร้องขอความช่วยเหลือ” พร้อมกับกล่าวต่อว่า
“แนวทางการแก้ไข ต้องแก้ไขตั้งแต่ระบบการศึกษา สอนกันตั้งแต่อนุบาลให้เคารพในสิทธิและตัวตนของกันและกัน เข้าใจในความเท่าเทียม ไม่ทำร้ายเนื้อตัวผู้อื่น เหตุการณ์ที่เกิดไปแล้ว บางอย่างแก้ไขไม่ได้ เป็นเรื่องร้าวลึกที่ต้องใช้กระบวนการลึกซึ้งและใช้เวลา ดังนั้นการป้องกันเริ่มต้นกับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำ นอกจากนี้ก็ต้องฝึกเรื่องการแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิด เราต้องฝึกให้เขามีภูมิ มีทักษะ มันก็เหมือนกับการฝึกหนีไฟ โดยปกติของคนที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือล่วงละเมิดจะมี 4 ระยะของการเกิดเหตุ ระยะที่ 1 คือช็อค ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ขาดสติ ระยะที่ 2 พอเริ่มรู้สึกตัวจะปฏิเสธความจริงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร เพราะส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่ไว้วางใจ ระยะที่ 3 แสวงหาข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ไข แต่โดยข้อเท็จจริงคือคนส่วนใหญ่ไปไม่ได้ เพราะจะอยู่ในระยะที่ 1 และ 2 ส่วนระยะที่ 4 คือตัดสินใจแก้ปัญหา คนไม่ฝึกจะไม่ครองสติรู้ในสิ่งเหล่านี้ เราต้องฝึกเขาให้รู้จักประเมิน ทำตัวให้หนีออกจากจุดเสี่ยงเหล่านั้นได้อย่างไร รู้จักวิธีต่อรอง ยิ่งถ้ามีความรู้เรื่องการป้องกันตัวก็ยิ่งดี”
ทางหากมองในภาคสังคม การบังคับใช้กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ เพราะจากการพูดคุยกับแวดวงตุลาการท่านกล่าวว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและความรุนแรงในเมืองไทยทันสมัยและก้าวหน้า ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เพราะเราไม่เอางานช่วยเหลือมาเป็นจุดเด่น ให้คนที่ผ่านปัญหามาแล้วมาเป็นพี่สอนน้อง เพื่อให้อยู่กับภายหลังเหตุการณ์ได้อยู่อย่างมีความสุข ทั้งหญิงและชายต้องปรับทัศนคติ หญิงต้องรู้จักพลังของตัวเอง ฝึกให้ตัดสินใจเป็น เด็กที่พ่อแม่สอนให้อดๆ อยากๆ จะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกด้วยความอบอุ่น เพราะคนเหล่านั้นขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิต และทักษะในการตัดสินใจ
ท้ายสุด สุเพ็ญศรี ย้ำว่า สิ่งที่เราควรรู้ต่อไปคือหากเหยื่อที่ถูกกระทำไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยา คนที่ถูกกระทำซ้ำๆ นานๆ จะรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง และมักถูกดูถูกจากผู้กระทำและสังคมรอบข้างที่รู้เรื่องราวของเขา เกิดความเศร้า สูญเสีย เครียด กังวลสะสม เป็นฝันร้าย จะเป็นพฤติกรรมของคนหลังเหตุการณ์ ที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ (Post Promatic Disorder)ซึ่งในที่สุดเมื่อกดดันมากๆ ก็นำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้ที่กระทำต่อตนหรือผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพราะเห็นว่าทางนี้เป็นการยุติปัญหา คนพวกนี้บางทีหากมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาด้วย ต้องบำบัด บางรายรุนแรงเกิดเป็นปัญหาทางจิตเวชก็ต้องให้ยา
"กระนั้นก็ตาม ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมควรสร้างค่านิยมใหม่ ไม่ควรให้ชายมีอำนาจเหนือหญิง แต่ทั้งคู่ควรอยู่ด้วยความเสมอภาค เคารพกัน เข้าใจกันและร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องยาก แต่ต้องสร้าง" สุเพ็ญศรี ทิ้งท้าย