อ่าน “ธนาธร” เศรษฐกิจไทย “อนาคตใหม่”จะแก้ยังไง

by ThaiQuote, 13 กุมภาพันธ์ 2562

ย่างก้าวชีวิตที่ครบ 40 ปีพอดิบพอดีของ “เอก” หรือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับก้าวสำคัญของตัวเองในฐานะ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังจะพาตัวเองและผองเพื่อสมาชิกพรรค ผู้สมัครส.ส. ก้าวเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ และแน่นอนว่ามันจะเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิตเขาในทันที
ทุกพื้นผิวที่ได้เหยียบเยือน ทุกแห่งหนที่ได้ป่าวประกาศแนะนำตัวเพื่อหาเสียงกับชาวบ้าน ดอกผลที่ธนาธรได้ลงพื้นที่เริ่มส่งกำไรให้กับเขาบ้างแล้ว เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประเทศไทยได้กาชื่อ “ธนาธร” เข้าไปอยู่ในสารบบการเมืองของสยามประเทศ และคนไทยเกือบทั้งหมดได้รู้จักเขาเป็นที่เรียบร้อย

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจหันหลังให้ธุรกิจครอบครัวอย่าง “กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท” อาณาจักรหมื่นล้าน และเดินหน้าสู่ถนนการเมืองในฐานะหัวหน้าพรรค อีกทั้ง วัยแค่ 40 ปีของธนาธร เขาหาญกล้าประกาศตัวให้สังคมรับรู้ว่า “พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีของเมืองไทย คนที่ 30” หลังการเลือกตั้งทันที


กระแสตอบรับจากใบหน้าอันหล่อเหลา และเรียกเสียงฮือฮาได้ทุกย่างก้าวที่เดินผ่านไปมา แม้จะดูเหมือนเขาขวยเขินเมื่อรอบสัปดาห์ที่ผ่านถูกยกให้กลายเป็นหนุ่มฮอตของสังคม แต่ความแน่วแน่ในเจตนารมย์ทางการเมืองของเขากลับมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการประกาศล้างบางขั้วอำนาจของ คสช. ที่กุมงานบริหารประเทศในชั่วยามนี้ รวมถึงขอยุติทุกอย่างที่คสช.ได้ทำมาตลอดทั้ง 5 ปีที่ผ่านมา และขอพาประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์โดยประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับเขา
บทบาททางการเมืองที่แข็งกร้าวของเขาได้ถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่ในด้าน “เศรษฐกิจ” ธนาธร ก็ขอสำแดงความคิดของตัวเองในฐานะ “นักการเมือง” ไว้อย่างน่าสนใจ
ธนาธร ตอบคำถามถึงแง่มุมของปัญหา ทางออก และภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ ผ่านรายการ “เที่ยงวันทันกระแส smart sme” ผ่านช่องทรู 49 ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ออกากาศสดจากยูทูปของ ThaiQuote ซึ่งเขา ฉายภาพไว้ว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกันเราก็ “ช้า” กว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งมันน่ากลัวอย่างมาก โดยเฉพาะการรุกคืบของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่ปัจจุบันได้โตแซงประเทศไทยไปแล้วเกือบเท่าตัว ซ้ำร้ายยังถูก เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตีคู่การพัฒนามาแบบกระชั้นชิด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยก็อาจจะไปสู้กับอินโดนีเซียแทน ทั้งที่พวกเขาเคยล้าหลังกว่าเราถึง 40 ปี


“เศรษฐกิจระดับมหภาคไม่มีอะไรน่ากังวล จีดีพีอยู่ในระดับที่โตวันโตคืน แต่เศรษฐกิจในประเทศนี่สิ มันเกิดปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงกับการพัฒนา และปัญหาใหญ่ที่มาฉุดเอาไว้มันก็ชื่อว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เพราะประเทศไทยเป็นชาติอันดับหนึ่งของโลก ที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน มันห่างกันมากที่สุด” ธนาธร ตอกหมุดของปัญหาเศรษฐกิจตามมุมมอง
กระนั้น ธนาธรเมื่อได้พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เขาก็ขอขยี้ต่อให้เห็นถึงปัญหาที่เขาระบุ โดยความร่ำรวยนั้น ถูกจำกัดเอาไว้เพียงแค่คนจาก 5 ตระกูลใหญ่ที่มีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใครนึกภาพไม่ออกว่า 3 ล้านล้านบาทมันมากแค่ไหน ธนาธรเขายกตัวอย่างไว้ว่า
“มันก็เยอะเท่ากับงบประมาณประเทศ 1 ปี งบประมาณประเทศปี 2561 เคาะกันที่ 3 ล้านล้านบาท งบประมาณประเทศปี 2562 ก็รับรองกันที่ 3.2 ล้านล้านบาท นี่คือความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นเพราะพวกเขาผูกขาด ปิดบังกลุ่มบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลาง หรือแม้แต่ทุนท้องถิ่นได้ลืมตาอ้าปาก การแก้ก็ต้องไปทำลายกลุ่มทุนที่ผูกขาดเอาไว้ เพื่อให้กลุ่มอื่นได้งอกเงยขึ้นมาบ้าง”
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ฉายแนวทางอีกว่า การพัฒนาชาติผ่านระบบทุนไม่ควรจะต้องมีใครมาผูกขาดเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น ดิวตี้ฟรีของสนามบิน ที่ผ่านรัฐบาลยกสัมปทานให้กับเอกชนเพียงเจ้าเดียวมาตลอด 20 ปี ทำให้บริษัทนี้รวยเป็นแสนล้านได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ขายกันอย่างเดียวไร้ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมใดๆ ออกมา
ทั้งนี้ หาใช่ว่าอนาคตใหม่ปฏิเสธกลุ่มทุน แต่ต้องเป็นกลุ่มทุนที่มีความสามารถในการพัฒนา ตอบสนองประชาชนได้ มีองค์ความรู้ผ่านนวัตกรรม เพื่อทำให้สินค้าถูกลงแต่มีคุณภาพดี บริการดีขึ้น และกำไรมันควรจะมาจากส่วนนี้ ผ่านกระบวนการนวัตกรรม เพราะกำไรไม่ควรมาจาการผูกขาดของกลุ่มทุน
“หรือพูดในมุมกลับ กำไรของกลุ่มทุนมันไม่ควรมาจากภาษีประชาชนนั่นเอง” ธนาธร ให้นิยามก่อนจะขอร่ายยาวต่อไปว่า
“ถ้าหากผมมีอำนาจ ผมจะมาแก้ตรงนี้ให้กับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่เอาแล้วกับสัญญาสัมปทานฉบับเดียว และต้องห้ามเด็ดขาดให้บริษัทใดประมูลสัญญาจากภาครัฐได้เกินกว่า 1 สัญญา เช่น สนามบินสุวรรณภูมิที่เคยมีสัญญาเดียวให้เอกชน ก็ต้องยกเลิก เพิ่มสัญญาแบ่งสัดส่วนกันไปเลย 7-8 สัญญาก็ได้ หรือสนามบินต่างจังหวัด บริษัทที่จะประมูลสัมปทานพื้นที่ขายของก็ต้องเป็นบริษัทของท้องถิ่น ไม่ใช่เอาบริษัทจากกรุงเทพฯ เข้าไปรวบกินทั้งหมด”
ธนาธร ย้ำอีกว่า ต้องทำให้กลุ่มทุนในพื้นที่มีโอกาสได้ประมูลเอาสัญญาของภาครัฐด้วย เพราะหากรัฐเปิดประมูลอย่างเสรี และเป็นธรรม รัฐเองนั่นแหล่ะก็จะมีรายได้เพิ่มเพิ่มขึ้นจากการประมูล อีกทั้งการประมูลก็จะไม่เอื้อให้กลุ่มทุนกลุ่มเดียว ซึ่งรัฐจะสามารถสะสมทุนได้เป็นแสนล้านบาทในระยะเวลาแค่สิบปี และบริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก ก็จะมีพื้นที่ได้ขายของบ้าง
“ยกตัวอย่างสินค้าโอทอป ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยมีพลังอย่างมาก แต่ทุกวันนี้เงียบเหงาไปแล้ว เพราะสนามบินเอาแต่ของแบรนด์เนมหรูหรามาขาย ทั้งที่สนามบินจังหวัดไหนก็ควรขายของพื้นถิ่นของจังหวัดนั้น นี่คือปัญหาที่มันกดทับอยู่”
ดูเหมือนจะดุดันตามสไตล์คนรุ่นใหม่ กระนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเจอคำถามว่า การไปเบรกทุนใหญ่ตามแนวคิดของธนาธร มันจะไม่เป็นการสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเลยหรือ เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าที่เศรษฐกิจของชาติมันเคลื่อนได้ในทุกวันนี้ ทุนใหญ่ก็มีส่วนในการใส่น้ำมันให้มันเดินไปข้างหน้าได้


คำตอบของคำถามนี้จากปากของธนาธร เขาแสดงความมั่นใจว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะยังมองไม่ออกเลยว่าจะมีผลกระทบอะไรหากเข้าไปจัดการกับกลุ่มทุนใหญ่ กับการแค่เอาสินค้าของไทย ของคนพื้นที่พื้นถิ่นไปขายบ้าง ขายควบคู่ไปกับสินค้าแบรนด์เนม มันจะไปกระทบกับทุนใหญ่อะไรนักหนา
“ผมไม่ได้บอกว่าไม่เอาแบรนด์เนมนะ แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องเอาแบรนด์เนมมาขายทั้งหมด ทุกวันนี้ทุกสนามบินมันมีแต่ของต่างชาติ แล้วสินค้าไทยล่ะ มันควรจะอยู่ตรงไหนได้บ้าง” ธนาธร ถามกลับไปยังสังคม
หัวหน้าอนาคตใหม่ สะท้อนอีกว่า ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีระบบซื้อขายที่ทันสมัยอยู่ไม่น้อย ทั้ง ไทยเทรด และโคออปคลิก ที่มาช่วยในเรื่องการซื้อขายสินค้าของไทยผ่านระบบออนไลน์ แต่ก็ยังดูเหมือนว่าจะไปไม่สุด ไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการปล่อยให้ “อาลีบาบา” เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการสินค้าของบ้านเราเอง
“คำบรรยายสินค้าก็ไม่ชัดเจน รูปถ่ายสินค้าก็ไม่ดึงดูดเงินในกระเป๋า และการสั่งซื้อก็ยากต้องใช้เวลานาน หรือทุกครั้งจะต้องโทรไปถามเจ้าหน้าที่เองว่ามีสินค้าหรือเปล่า กลับกันถ้าผมเข้าเว็บอย่างอเมซอน คลิกแค่ 5 ครั้งก็จบ รอรับสินค้าได้เลย แต่ของไทยเองกลับต้องใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์กว่าจะได้ของ ทั้งๆ ที่เรามีพื้นฐานดีแล้ว เริ่มต้นแล้ว แต่กลับไม่พัฒนาให้มันต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลทำเองไม่ได้ทำไมไม่ให้เอกชนเข้ามาทำมาพัฒนาต่อ”
เมื่อเจอคำถามว่า กับปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มคนรากหญ้า คนรุ่นใหม่อย่างเขา มีความเห็นอย่างไร ธนาธร ตอบคำถามนี้ว่า ปัญหาของเกษตกรคือปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตร ปัญหาหนี้สิน และปัญหาที่ดิน ส่วนตัวมองว่าการสนับสนุนราคา ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ดี แต่รัฐบาลควรจะสนับสนุนในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า แทนการสนับสนุนราคาสินค้าทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์และต่อยอดพัฒนาสินค้าเกษตรที่เรามีอยู่แล้วให้มันดียิ่งขึ้นไป
แต่แน่นอนว่า ในแง่การพัฒนาผ่านคนด้วยเทคโนโลยีและเสริมสร้างให้คิดค้นนวัตกรรม อาจใช้ไม่ได้กับคนไทยทุกคน กระนั้น ธนาธร ก็มองออกเช่นกัน โดยเชื่อว่าคนไทยทุกคนอาจไม่ได้ถูกสร้างและเลี้ยงดู หรือแม้แต่การพัฒนามาในแนวทางวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี รวมถึงด้านคณิตศาสตร์ที่จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะแน่นอนว่ายังมีคนอีกมากที่ตามเรื่องนี้ไม่ทัน แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะต้องทอดทิ้งพวกเขา หากแต่ยังมีช่องทางในการเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ ผ่านความถนัดที่หุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ไม่อาจทำได้แทนความสามารถของมนุษย์
3C คือแนวทางของธนาธร ที่หมายมั่นจะเอามาใช้กับกลุ่มคนในข้างต้น คือ Creative Craft Care หรืองานที่ สร้างสรรค์ ปราณีต และใช้ใจเข้าทำ


"3C เป็นเรื่องที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ หุ่นยนต์จะคิดได้มั้ยว่าจะดึงดูดการท่องเที่ยวได้อย่างไร หากมันไม่ออกจากสมองความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ หรือผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆ ที่ต้องใช้ความปราณีต ใช้ใจเข้าทำงาน หุ่นยนต์ก็ทำไม่ได้เหมือนฝีมือคน ซึ่งสิ่งพวกนี้คนไทยเก่งอยู่แล้ว แต่เราต้องมาต่อยอดให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผมยกตัวอย่าง เคยไปดูผ้ากิโมโนที่ดังอย่างมากในญี่ปุ่น มีประวัติศาสตร์ของร้านมายาวนาน คุณรู้มั้ยว่าเขาขายผ้ากิโมโนที่ร้านราคาเท่าไหร่ ผมตอบให้เลย 30 ล้านบาท เพราะมันคืองานปราณีต งานที่สร้างสรรค์ และเป็นงานที่ต้องใช้ใจทำ หุ่นยนต์ทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้น ประเทศไทยมีของดีอยู่มากมายอย่างผ้าไหม เราก็ต้องมาคิดที่จะช่วยผู้ผลิตให้ต่อยอดทางเศรษฐกิจผ่านสิ่งที่มีอยู่ให้ได้" ธนาธร ฉายความเห็นของตัวเอง