ยุบพรรค! กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต

by ThaiQuote, 13 กุมภาพันธ์ 2562

วันที่ 13 ก.พ. นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สดสัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ทางช่อง NOW 26 ถึงกรณีพรรคการเมืองใดถูกยุบจะมีผลทางกฎหมายต่อกรรมการบริหารพรรคอย่างไร
โดยอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ตามข้อกฎหมายแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดจะทำให้กรรมการบริหารพรรคนั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตด้วย ซึ่งจะไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้อีก
เนื่องจากใน มาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง วรรคท้ายระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”
จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญตัด “สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” ของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งสิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งไม่มีการกำหนดอายุไว้ ต่างจาก “สิทธิ์เลือกตั้ง” ที่กำหนดจำนวนปีไว้
ในเรื่องนี้หากดูใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 94 วรรค 2 ที่เขียนว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ”
หากดูแค่นี้อาจจะเกิดความสับสนเรื่องของระยะเวลาในการถูกตัดสิทธิ์ แต่ในทางความเป็นจริงการยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองหรือไปยื่นเป็นกรรมการบริหารพรรคจะไปสัมพันธ์กับการมี “สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” ทั้งสิ้น
ซึ่งสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งกำหนดอยู่ใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 ที่กำหนดผู้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ใน (5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งถ้าดูในส่วนนี้จะไม่มีเรื่องระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นลักษณะต้องห้ามถาวร ถ้าเมื่อไรถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งจะเป็นข้อห้ามในการดำเนินการอื่นๆ ด้วย

นายอุดม กล่าวด้วยว่า การเขียนกฎหมายแบบนี้ต่างไปจากเดิม เพราะมองว่าผู้ที่จะถูกตัดสิทธิ์ในการรับสมัครเลือกตั้ง ต้องมีพฤติกรรมรุนแรง ไม่ควรจะอยู่ร่วมในการทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการมาเป็นผู้นำของสังคมการเมือง เรื่องการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นสิทธิพลเมือง แต่สิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งถือเป็นผู้แทนของคนอื่นในการทำหน้าที่ ถ้าถูกตัดคือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ
ทั้งนี้ กรณีของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรค และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ล่าสุดสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ กรณีคณะกรรมการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ในทางธุรการ และอยู่ระหว่างการตรวจคำร้องโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องดังกล่าว ต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 13.30 น. ต่อไป
โดยกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ 13 คน ประกอบไปด้วย
1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค
2.นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1
3.นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2
4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3
5.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4
6.นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค
7.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค
8.นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1
9.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค
10.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3
11.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ
12.นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค
13.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค
ขอบคุณข้อมูล รายการ “เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์” ทางช่อง NOW 26 , workpointnews
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

https://www.thaiquote.org/content/66474