“ข่าวจริงประเทศไทย” แจงทุกข้อสงสัย พ.ร.บ.ข้าว ยันยังไม่ผ่านสภา

by ThaiQuote, 20 กุมภาพันธ์ 2562

“ข่าวจริงประเทศไทย”ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ข้าวยังไม่ผ่านสภา ยังอยู่ในวาระสองที่ต้องแก้ไขในรายละเอียด และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

รายงานข่าวจากเพจ “ข่าวจริงประเทศไทย” ซึ่งเป็นเพจของรัฐบาลได้ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวว่า พ.ร.บ.ข้าวได้ผ่านสภาแล้วไม่เป็นความจริง โดยในเพจได้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่กำลังเป็นกระแสอยู่เวลานี้เสนอมาจากคณะกรรมาธิการใน สนช. ไม่ใช่จากรัฐบาลหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.รัฐบาลเห็นด้วยในหลักการ

2.รัฐบาลมีข้อไม่เห็นด้วยในเชิงข้อปฏิบัติ เพราะมีบางข้อที่รัฐบาล/กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าทำแล้วอาจมีปัญหา หรือ ทำงานจริงจะทำได้ยากมาก เพราะคนอาจไม่พอ

3.กระทรวงเกษตรฯ ส่งอธิบดีกรมการข้าวไป โต้แย้ง ในคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย

รัฐบาลยอมให้ผ่านในวาระที่ 1 เพราะเห็นด้วยในหลักการที่ดี แต่มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ รัฐบาลจึงขอให้คณะกรรมาธิการ แก้ข้อบกพร่องในวาระที่ 2-3
ร่างปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนวาระที่ 2 ที่ต้องแก้ไขในรายละเอียด และ รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม-นักวิชาการเพิ่มเติม ก่อนจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ในวาระที่ 2-3

ส่วนหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ข้าว ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้เกิดมาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวมตัวกันพิจารณาและเสนอกฎหมายที่จะช่วยยกระดับวงการข้าว จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีสาระดังนี้

คุมโรงสีไม่ให้เอาเปรียบชาวนา
ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องจดทะเบียน
เพิ่มอำนาจกรมการข้าว วิจัย-อนุญาต-ตรวจสอบ
กำหนดโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท

ด้านโรงสีควบคุมโรงสีไม่ให้เอาเปรียบชาวนา
– โรงสีต้องเก็บหลักฐานข้าวเปลือกไว้ 5 ปี

– โรงสีต้องออกใบกำกับคุณภาพข้าวเปลือก

– ชาวนาเอาใบกำกับคุณภาพไปตรวจสอบได้

 

ถ้าชาวนาสงสัยว่าโรงสีมั่วคุณภาพ เพื่อกดราคา ชาวนาสามารถนำไปร้องต่อ [กรมการข้าว] เพื่อขอให้ตรวจสอบได้ ถ้าโรงสีออกใบเท็จ เพื่อกดราคาชาวนา แล้วถูกตรวจสอบว่าเป็นจริงตามนั้น เจ้าของโรงสีโดนโทษ คุก 1 ปีหรือปรับ 1 แสนบาท!!!

 

ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องจดทะเบียน
– ห้ามขายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับรอง

– ห้ามขายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เสื่อมคุณภาพ

– ห้ามโฆษณาหลอกลวงเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์

 

สำหรับชาวนาที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเมื่อไรนำสายพันธุ์ที่พัฒนามา “ขาย” ต้องไปขอใบขึ้นทะเบียนกับ [กรมการข้าว] เพื่อได้รับการตรวจสอบ ว่าไม่ได้เอาของด้อยคุณภาพมาขายให้กับคนอื่น หลักการนี้ไม่ต่างอะไรกับสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ที่ต้องขอ ตรา อย. หรือจะผลิตเหล้า หรือขายยา (ทางการแพทย์) ก็ต้องไปขอใบอนุญาต เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าของที่ขายนั้นได้คุณภาพ ไม่หลอกลวงผู้บริโภค

 

เพิ่มอำนาจกรมการข้าว วิจัย-อนุญาต-ตรวจสอบ ให้กรมการข้าวมีอำนาจดังนี้
– มีอำนาจแบบบูรณาการเรื่องข้าว

– ไม่ได้ทำหน้าที่แค่วิจัยอย่างเดียว

– มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วย

– ออกใบรับรองให้กับผู้ขายเมล็ดพันธุ์

– มีสิทธิสุ่มตรวจสอบโรงสีต่างๆ ได้เอง

 

(จากเดิมต้องให้กรมการค้าภายใน มาตรวจสอบ)

 

ใน พ.ร.บ.ข้าว ฉบับใหม่นี้ กรมการข้าวจะทำหน้าที่แบบบูรณาการ คือ วิจัย และตรวขสอบคุณภาพพันธุ์ข้าว เพื่อป้องกันการขายเมล็ดพันธุ์ด้อยคุณภาพของพวกพ่อค้าหัวหมอ พ่อค้าขี้โกง อีกทั้งยังคอยเป็นเจ้าหน้าที่รับเรื่อง ดูว่าโรงสีโกงใบรับประกันคุณภาพข้าวเปลือกที่รับซื้อจากชาวนาด้วย ต่อไปชาวนาสงสัยว่าโรงสีโกงคุณภาพข้าวที่ตัวเองเอามาขาย ก็สามารถร้องเรียนต่อกรมการข้าวให้ตรวจสอบได้

 

ส่วนประเด็นที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้คือชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือแลกเปลี่ยนมีความผิดจริงหรือ?

หากย้อนไปดู พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จะพบบทบัญญัติที่ว่า การจำหน่ายพันธุ์พืชจะทำได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีการรับรองพันธุ์แล้วโดยกรมวิชาการเกษตร แต่ภายหลังมีการจัดตั้งกรมการข้าวขึ้น การรับรองพันธุ์ข้าวจึงเป็นหน้าที่ของกรมการข้าว และยังให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์และเก็บไว้ใช้เองได้

 

ส่วนการห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองตามร่าง พ.ร.บ.ข้าว นั้น เป็นบทบัญญัติที่ห้ามเฉพาะกลุ่มนายทุน แต่ถ้าเป็นกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการและมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในเครือข่ายชาวนาด้วยกันก็จะไม่มีความผิด ไม่ต้องติดคุกหรือถูกปรับ

 

นอกจากนี้ยังมีคำวิจารณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.ข้าว เอื้อนายทุน “ข่าวจริงประเทศไทย”แจ้งว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เอื้อนายทุนยักษ์ใหญ่ตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา เพราะถ้าชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรเสียเอง เช่นนี้ก็ต้องขออนุญาตจากกรมการข้าวเสียก่อน

 

ประเด็นเรื่องบังคับให้ชาวนาทุกคนขึ้นทะเบียนจริงหรือ?

สำหรับกรณีที่พูดกันว่าชาวนาทุกคนต้องขึ้นทะเบียนนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. ข้าว ตามที่เป็นข่าว แต่กฎหมายได้กำหนดให้กรมการข้าวเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรกับฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วของภาครัฐ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ยังได้กำหนดให้โรงสีต้องส่งสำเนา “ใบรับซื้อ” ให้กับกรมการข้าว เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการส่งเสริมจากภาครัฐในอนาคต โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการต่อไป

 

ห้ามซื้อขายข้าวหอมจัสมิน 85 จริงหรือ?

แม้ข้าวหอมจัสมิน 85 หรือข้าวหอมพวง จะเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร แต่เกษตรกรภาคกลางมักนิยมปลูกกัน ก็สามารถนำไปขายได้ หากยังมีผู้รับซื้อในท้องตลาด เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้เกษตรกรสามารถแลกเปลี่ยนกันเองได้ ยกเว้นการซื้อขายด้วยการโฆษณาจะไม่สามารถทำได้

 

ท้ายที่สุด “ข่าวจริงประเทศไทย” ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับนี้ ได้ยกเว้นการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 5 แสนตัน ที่เกษตรกรแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิของพี่น้องชาวนาแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว ชี้แจงปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะสำหรับชาวนา ดังนั้นการมี พ.ร.บ.ข้าว ก็จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาได้

 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ จะมีคณะกรรมการข้าวระดับชาติ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการหน่วยต่างๆ ที่สำคัญจะมีสัดส่วนของตัวแทนชาวนาผู้ประกอบการโรงสี ร่วมเป็นคณะกรรมการ ที่สามารถสะท้อนความเดือดร้อน ความต้องการ สู่คณะกรรมการข้าวระดับชาติได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม พัฒนา และกำหนดนโยบาย เพื่อยกระดับการผลิตและคุณภาพชีวิตของชาวนาอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยังเน้นเรื่องของการสร้างความมั่นใจกับชาวนาในเรื่องของต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว การซื้อขายแลกเปลี่ยน การให้บทบาทกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ที่สำคัญคือการตอบสนองความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศกว่า 8 แสนตันต่อปี

 

สรุป ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติข้าว ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการแล้ว และในวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ก็จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการตรวจร่าง พ.ร.บ. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

 

อนึ่ง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า การบรรจุมาตรา 27 ลงในร่าง พรบ.ข้าว ที่ระบุว่า ห้ามชาวนาซื้อขายข้าวกันเอง เพื่อป้องกันปัญหาข้าวกลายพันธุ์ ส่วนผลการพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะออกมาเป็นยังไง ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ

 

ก่อนหน้านี้ มีมาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดข้าวว่า ว่า เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาจากกรรมวิธีการผลิตของเกษตรกร ที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของข้าว เช่น การที่ชาวนาจ้างรถเกี่ยวข้าวที่มีไม่การแยกเกี่ยวพันธุ์ จนทำให้พันธุ์ข้าวเกิดความไม่บริสุทธิ์ในรุ่นต่อๆไป จึงมีการเสนอมาตรานี้เข้าไปเพื่อที่จะพยายามแก้ปัญหานี้ด้วย ซึ่งอนาคตกฎหมายจะบังคับใช้ในรูปแบบใด ทาง ธ.ก.ส. ก็ต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์

 

ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมธิการพิจารณา ได้นำมาตรา 27 ออกจากร่าง พ.ร.บ.ข้าว เนื่องจาก เป็นการจำกัดโอกาสในการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโดยตรงจากชาวนา ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวก็จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Tag :