อัยการชี้ร่าง “กม.ข้าว” ไม่ชัดเจนหวั่นมีโทษกระทบชาวนา

by ThaiQuote, 18 กุมภาพันธ์ 2562

นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้โพสต์บทเฟซบุ๊กส่วนตัวออกความเห็นถึงร่าง พรบ.ข้าวในหัวข้อ “ความจริงเรื่อง พรบ.ข้าว” ใจความว่า
“ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลุ่มหนึ่ง ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีความคิดเห็น ข้อโต้แย้ง ความเป็นห่วงกังวลจากบุคคลจำนวนมาก ต่อร่าง พ.ร.บ.ข้าว ว่าจะส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่ม โดยเฉพาะต่อชาวนาในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนประมาณ 15 ล้านคน และมี สมาชิก สนช.บางท่านให้ความเห็นว่า ตามที่มีบุคคลออกมาโต้แย้งร่าง พ.ร.บ.ข้าวนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายต่อร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ ว่า เนื้อหาที่ถูกต้องแท้จริงตาม พ.ร.บ.ข้าว เป็นอย่างไร แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะบางส่วนที่เป็นข้อโต้เถียงในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นประเด็นปัญหาและเกี่ยวข้องกับชาวนาทั้งประเทศโดยตรงเท่านั้น ดังนี้
1. ความไม่ชัดเจนของความหมาย “เพื่อประโยชน์ทางการค้า”
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว มาตรา 3 ให้ความหมายของ “จำหน่าย” ไว้ว่า “ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า” ในเรื่องนี้ การกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าอาจจะไม่ต้องกระทำโดยบุคคลที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าก็ได้ คนทั่วไปก็สามารถกระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ เช่น มีสิ่งของที่เป็นของตนแล้วขายให้แก่คนอื่น เพื่อให้ได้เงินตอบแทน หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของที่ตนมีกับคนอื่น โดยได้สิ่งของอื่นมาตอบแทน ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ แล้วการที่ชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนมา จะพิจารณาได้หรือไม่ว่าอยู่ในความหมายของเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งตาม ร่าง พ.ร.บ.ข้าว หากชาวนาขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตนเก็บไว้ให้บุคคลอื่น และหากถูกพิจารณาว่าอยู่ในความหมายของ “เพื่อประโยชน์ทางการค้า” แล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อชาวนาโดยตรงได้ ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป ซึ่งหากจะให้มีความชัดเจนว่าชาวนาไม่มีความผิดตามกฎหมายจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ควรเขียนยกเว้นไว้ในกฎหมายเสียให้ชัดเจน และควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่าอย่างไร เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าอย่างไร ไม่ใช่ไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายและป้องกันการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
2. ร่างเดิมของ พ.ร.บ.ข้าว
เดิมทีเดียว ร่าง พ.ร.บ.ข้าว มาตรา 22 กำหนดให้การควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าวและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับกับชาวนาที่ขายหรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นผลผลิตในที่นาของตนเองและไม่ใช้บังคับกับบุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนด และมาตรา 30 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 22 นี้ เช่น จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ต่อมาร่างทั้ง 2 มาตรา นี้ ได้ถูกตัดออกไปทั้งหมดดังจะกล่าวต่อไป
3. ร่างใหม่ของ พ.ร.บ.ข้าว
3.1 ในชั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าว ในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าวได้มีการตัดมาตรา 22 ทั้งมาตรา แต่เนื้อหาของมาตรา 22 ในเรื่องการควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าวและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ยังคงอยู่ แต่ว่าถูกย้ายไปบัญญัติไว้อยู่ใน มาตรา 27/1 ดังนี้
- มาตรา 27/1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้กรมการข้าวมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าว
- มาตรา 27/1 วรรคสอง กำหนดให้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเหมาะสมแก่การนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย ให้กรมการข้าวประกาศให้เป็นพันธุ์ข้าวรับรองในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหมายความว่า มาตรา 27/1 วรรคสองนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขให้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองโดยกรมการข้าวแล้วตามมาตรา 27/1 วรรคสองเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการ ฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ พรบ.ข้าวใช้บังคับ ให้กรมการข้าวไปพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการดำเนินการตามมาตรา 27/1 วรรคสองด้วย
- มาตรา 27/1 วรรคสี่ กำหนดให้การตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมการข้าวประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
3.2 นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการ ฯ ได้ตัดมาตรา 30 ที่กำหนดโทษ กรณีการควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม บทกำหนดโทษที่ฝ่าฝืนกรณีเมล็ดพันธุ์ข้าวนี้อาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่อาจจะแปลงเป็นร่างอวตารมาอยู่ในมาตรา 27/4 และมาตรา 27/5 ซึ่งกำหนดให้การตรวจสอบ กำกับ ควบคุม รับรองพันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าว และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งบทกำหนดโทษให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
ซึ่งในปัจจุบัน ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.พันธุ์พืช ได้กำหนดให้เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกทุกพันธุ์เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามกฎหมาย และได้กำหนดบทลงโทษจำคุกหรือปรับตามกฎหมายหากฝ่าฝืนบทบัญญัติในเรื่องเมล็ดพันธุ์ควบคุมไว้หลายกรณีเช่น การฝ่าฝืนประกาศที่กำหนดเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามมาตรา 13 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การรวบรวมและการขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตที่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น อีกทั้ง ตาม พรบ.พันธุ์พืชยังกำหนดให้คำว่า“รวบรวม” หมายความว่า "รวบรวมเมล็ดพันธุ์เพื่อคัดเลือกหรือบรรจุในภาชนะบรรจุ" และให้คำว่า“ขาย” หมายความว่า “จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขาย” อีกด้วย
ทั้งนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าว และการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่อธิบดีกรมการข้าวจะประกาศกำหนดตามมาตรา 27/1 วรรคสี่ด้วยว่าจะมีเนื้อหาอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้
4. มาตรา 27/2 ที่กำหนดให้ชาวนาซึ่งปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนตามมาตรการที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวประกาศกำหนด ซึ่งอาจส่งผลให้ชาวนาที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือและส่งเสริมจากรัฐจะต้องปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์เท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นการจำกัดทางเลือกของชาวนาในการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูกและอาจจะขาดมิติมุมมองสภาพชีวิตชาวนาตามความเป็นจริง อีกทั้งยังไม่เป็นการส่งเสริมให้ชาวนาพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยตนเองตามวิถีดั้งเดิม ซึ่งชาวนามักจะเก็บเมล็ดข้าวเปลือกไว้เพื่อเพาะปลูกและมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อมา ส่วนบทเฉพาะกาลตามมาตรา 34/1 นั้น ก็ให้การรับรองพันธุ์ข้าวเฉพาะที่ได้รับการรับรองพันธุ์ตาม พรบ.พันธุ์พืชก่อนวันที่ พรบ.ข้าวใช้บังคับเท่านั้น
บทบัญญัติตามร่าง พรบ.ข้าวจึงอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวของชาวนาไทยและการพัฒนาพันธุ์ข้าวในหลาย ๆ กรณี อีกทั้งยังอาจจะมีความไม่ชัดเจนของความผิดทางอาญาในกรณีของการขายหรือการจำหน่าย ซึ่งมีประเด็นปัญหาเรื่อง "เพื่อประโยชน์ทางการค้า"ดังกล่าวด้วย จึงควรที่ สนช. จะได้พิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนที่เกี่ยวข้องในวงการต่าง ๆ ให้รอบด้าน เพราะแม้แต่ร่าง พรบ.ข้าว ที่เสนอโดยสมาชิก สนช. เองก็ยังถูกคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างเป็นจำนวนมากแทบจะตลอดทั้งร่างในชั่วเวลาแค่เดือนครึ่ง หาก สนช.จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ย่อมจะมีข้อเสนอแนะที่ดีและเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พรบ.ข้าวให้มีความถูกต้องเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ถึงแม้ในขณะนี้ คณะกรรมาธิการ ฯ จะได้พิจารณาร่าง พรบ.ข้าว ในวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้ว สนช.ก็ยังไม่ควรที่จะรีบเร่งนำร่าง พรบ.ข้าว เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระ 3 โดยทันที และควรที่จะชะลอการพิจารณาร่าง พรบ.ข้าวนี้ไว้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วน รอบคอบ และให้ได้ความครบถ้วนเสียก่อน”