“สมคิด”สั่ง“สภาพัฒน์”เชื่อมเกษตร-บริการ-อุตฯ

by ThaiQuote, 21 กุมภาพันธ์ 2562

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กับคณะผู้บริหาร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ได้มากกว่าร้อยละ 4 และที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กว่าที่จะผลักดันมาถึงจุดนี้นับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังติดข้อจำกัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายประเด็น ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของ GDP ในขณะที่ Local Economy หรือ เศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้เศรษฐกิจโตอยู่เพียงด้านเดียว เมื่อเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ สศช. ต้องเร่งดำเนินการ หาจุดอ่อนที่อยู่ในภาคการส่งออก จำนวนสินค้า ที่มีอยู่ไม่กี่ชนิด ประกอบกับการสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจฐานราก กับ ภาคการส่งออก / และควรที่จะหาการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร ให้ได้ เพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับ สร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพื่อมาตอบสนองกับเป้าหมายการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในเขตอีอีซี

สศช. ควรที่จะวางบทบาทของตัวเองให้เป็น หน่วยงานกลางที่คิดแนวทางออกมาให้เป็นรูปธรรม แยกแต่ละเรื่องออกมาให้มีความชัดเจนและ ควรมีการแจกแจงรายละเอียดให้หน่วยงานระดับกระทรวงให้เป็นผู้ปฏิบัติงาน ต่อไป

ทั้งนี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ให้ สศช. พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ว่า สำหรับแนวทางที่จะนำมายกระดับเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy ได้วางแผนไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของไทยไปสู่ระดับโลก ด้วยการส่งเสริม bioeconomy หรือการผลิตทรัพยากรหมุนเวียน ผ่านเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ประสิทธิภาพจากอุตสาหกรรม ช่วยเหลือภาคการเกษตร สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้ชาวบ้านมีรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่มกันเป็น Cluster

2. ต่อยอดของเดิมที่มีศักยภาพ นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ3. การสร้างธุรกิจใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสนับสนุนโมเดลธุรกิจ Ecommerce และการส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprises หรือ SE มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการเติบโตของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม สศช. จะมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาที่ดินทำกิน รวมไปถึงเดินหน้าในหลายโครงการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแนวทางทั้งหมด เป็นการพัฒนาเชิง Area Base ที่ดึงเอาศักยภาพของแต่ละภาคส่วนขึ้นมา เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก