สกว.เปิดเวทีแก้ปัญหา-โชว์เทคโนโลยีลดฝุ่น

by ThaiQuote, 22 กุมภาพันธ์ 2562

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” และนิทรรศการเทคโนโลยีในการตรวจวัดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ณ โรงแรม พูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) จัดโดยโครงการสัมมนาเผยแพร่ฯ (TRF Forum) ภายใต้งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สกว. เพื่อเผยแพร่งานวิจัยด้านเทคโนโลยี ข้อมูลข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง สกว. รวมถึงเป็นเวทีหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างนักวิจัย สกว. ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทั้งเชิงปฏิบัติและเชิงทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตบนฐานองค์ความรู้จากงานวิจัย

การเสวนาเรื่อง “สถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการตรวจสอบแหล่งที่มาของฝุ่นละอองว่าจากประสบการณ์การทำงานท่ามกลางหมอกควันในภาคเหนือในปี 2559 จุดประกายให้ตนพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพความรุนแรงของปัญหาหมอกควันให้กับคนในพื้นที่ในฐานะที่เป็นนักวิจัยด้านวิศวกรรม โดยมีเป้าหมายติดตั้งให้ได้ครบทุกตำบลในจังหวัดน่านให้ทันภายในต้นปี 2560 เพราะปัญหาไฟป่าจะเกิดในช่วงต้นปี เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดน่าน โดยส่งข้อมูลทุก 5 นาทีมาที่ระบบคลาวด์ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลา



สำหรับภาพรวมเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิด การดักจับและการกำจัดฝุ่นละอองในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง ครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะ โดย ศ.กิตติคุณ ราชบัณฑิต ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ระบุว่าการทำงานวิจัยด้านฝุ่นในช่วงแรกนั้นปัญหามลภาวะอากาศยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก และมุ่งไปที่ PM10 เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันฝุ่นละอองมีขนาดเล็กลง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพมากขึ้น ฝุ่นมีหลากหลายรูปแบบจากแหล่งต่าง ๆ ยังไม่มีเครื่องกำจัดฝุ่นที่ใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ปัจจุบันระบบการกำจัดมีสองรูปแบบ คือ แบบเปียก ใช้น้ำหรือของเหลวในการดับฝุ่น และแบบแห้ง ที่คุ้นเคยคือการใช้เครื่องกรองอากาศ โดยหากโรงไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมที่มีไอเสียที่อุณหภูมิสูงต้องจับฝุ่นด้วยระบบแห้ง รวมถึงโรงงานเผาขยะ สำหรับตัวกรองที่มีสมรรถนะสูงจะต้องมี HEPA filter ที่ดักจับฝุ่นในระดับนาโนได้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นใยด้วย โดยเส้นใยที่ละเอียดจะจับอนุภาคขนาดเล็กได้
ขณะที่ ผศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์ในประเทศไทย รถยนต์ส่วนบุคคลยังใช้ยูโร 4 แต่สากลใช้ยูโร 6 ส่วนรถกระบะและรถบรรทุกใช้ยูโร 3 ปัจจุบันทีมวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพการเดินรถโดยสารไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ผลการทดสอบวิ่งวันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากการจราจรค่อนข้างหนาแน่น ทั้งนี้ นักวิจัยได้เสนอมาตรการแก้ปัญหามลพิษจากยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยียานยนต์และเชื้อเพลิงที่สะอาด


มาตรการการจัดการรถเก่าและการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม รวมทั้งมาตรการลดระยะการเดินทางจากการใช้รถยนต์ เช่น ให้ลูกหลานไปโรงเรียนพร้อมกัน บริหารจัดการช่วงเวลาที่มีจราจรหนาแน่นไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนพร้อมกัน มีช่วงเวลาทำงานยืดหยุ่นที่ไม่จำเป็นต้องให้บุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กร หรือเริ่มงาน-เลิกงานในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น และอยากเชิญชวนผู้ประกอบที่สนใจมาร่วมลงทุนสร้างรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อให้คนไทยมีการขนส่งด้วยพลังงานสะอาดในอนาคต ตลอดจนผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญของการปรับมาตรฐานยานยนต์ไปสู่ยูโร 5/6 ให้เร็วที่สุด หรือภายในปี 2023 โดยหากใช้รถใหม่ในประเทศปีละ 1 ล้านคันจะช่วยลดมลพิษลงได้มากถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ยูโร 3/4 ในปัจจุบัน

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวถึงแนวคิดและแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น ว่าคนที่รายได้ปานกลาง-สูง ควรมีมาตรการภาษีตามค่าฝุ่นจากเครื่องยนต์ ประกอบด้วย ภาษีประจำปีรถยนต์ตามการปล่อยมลพิษ ภาษีน้ำมันตามค่าการปล่อยมลพิษ โดยปัจจุบันการเก็บภาษีป้ายวงกลมไม่ได้เก็บค่าฝุ่นละอองที่ปลายท่อ จึงเสนอให้รถที่ปล่อยควันพิษออกมามากต้องจ่ายแพงขึ้น ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถของกองทัพหรือหน่วยงานราชการที่ควรจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน ขณะที่ภาษีน้ำมันจะต้องหลีกเลี่ยงน้ำมันที่สกปรก ออกแบบจูงใจให้คนหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างน้ำมันยูโร 5 น้ำมันไร้สารราคาถูก โดยรัฐมนตรีสามกระทรวง คือ คลัง พลังงาน และมหาดไทย จะต้องหารือกันเพื่อให้เกิดการใช้มาตรการภาษีเขียว

นอกจากนี้ยังต้องมีภาษีสรรพสามิตรถพลังงานไฟฟ้า และภาษีศุลกากรรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาด รวมถึงค่าเข้าเมือง ขนส่งสาธารณะ และ CCTV เพื่อลดปริมาณรถที่เข้าเขตเมืองได้ ซึ่งกรมภาษีสรรพสามิตขยับแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกยังไม่ขยับ ส่วนฝุ่นจากภาคเกษตรนั้นควรมีการรับรองที่มาของวัตถุดิบทางการเกษตร ปฏิเสธการรับซื้อจากผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวน หรือผลิตอ้อยจากไร่ที่มีการเผา สำหรับผู้มีรายได้น้อยต้องมีเงินช่วยเหลือและการอุดหนุนไขว้ รถไฟฟ้าควรได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ขณะที่ภาคเกษตรควรมีเงินกู้เครื่องจักร รถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ และระบบการจัดการของเหลือใช้ มีมาตรการจูงใจให้เกิดการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ควรจะต้องเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ละเมิดกฎได้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจริงจัง

นอกจากการเสวนาแล้ว สกว.ยังได้จัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อตรวจวัดและแก้ปัญหาฝุ่นละออง ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และ AQI ขนาดเล็กและพกพา โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช. ซึ่งได้พัฒนาออกแบบอุปกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งเซนเซอร์มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและเทคโนโลยี IoT ในการรายงานผลข้อมูลอย่างแม่นยำ เนื่องจากการได้มาซึ่งข้อมูลสภาพอากาศโดยภาพรวมในปัจจุบันยังไม่ตรงกับพื้นที่ไกล้เคียงกับที่ต้องการรู้ข้อมูล โดยการนำเสนอข้อมูลนั้นผู้ใช้งานจะสามารถเรียกดูข้อมูลขณะนั้นและข้อมูลย้อนหลังได้จากหน้าเว็บไซต์ที่ใช้รายงานผลทั้งบนโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวพกพาติดตัวหรือนำไปติดตั้งได้ทุกที่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศและค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ด้วยตนเอง