ถอดนโยบาย “สองหล่อ” ประชาธิปัตย์

by ThaiQuote, 22 กุมภาพันธ์ 2562

ใบหน้าที่หล่อเหลา สมาร์ท ภูมิฐาน พกดีกรีมากมายพ่วงท้าย ที่น่าสนใจคืออายุอานามเพียงแค่ 27 ของหนุ่มไอติม และย่าง 30 ฝนของ “หมอเอ้ก” พวกเขาริอาจหาญกล้ามาอาสาทำงานด้านการเมือง เพื่อหวังเป็นปากเสียงของประชาชนกันแล้ว

แน่นอนว่าบนถนนการเมืองของไทย ไม่มีคำว่า “มิตรแท้และศัตรูถาวร” แต่ระหว่างทางคอการเมืองก็น่าจะทราบดีว่าเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือด บ้างก็เล่นกันถึงคุกตะรางก็เคยเห็นมาแล้ว แต่สองหนุ่มจากประชาธิปัตย์ อย่าง “ไอติม” ที่พกดีกรีปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด อีกฟากก็มี แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงด้วยศัลยกรรมผ่าตัดจากเยอรมันนี ของหมอเอ้ก ก็พร้อมจะลงชิงชัยขอเดินอาชีพนักการเมือง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรหลัง 24 มีนาคมนี้

แต่แน่นอนว่า ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่พูดถึงบ่อยครั้งมากที่สุด และโอกาสดีที่ทั้งคู่ไปนั่งสนทนาถึงเรื่องนี้ ในรายการ Review นโยบายเลือกตั้ง 62 ทางช่องทรู 49 และเฟซบุกของ Smart Sme พร้อมด้วย ThaiQuote น่าสนใจกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ เขามองเรื่องเศรษฐกิจระดับฐานรากเป็นอย่างไร และแน่นอนว่าทั้งคู่มีความรู้ความสามารถมากมาย แต่จะเอาความรู้มาใช้งานได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่สวยแต่รูป พอจูบกลับ “ไม่หอม”

“ไอติม” พริษฐ์ เปิดฉากให้ภาพก่อนว่า จากการลงพื้นที่พบว่าพ่อค้าแม่ขายทุกตลาดก็บ่นมาตลอดว่าขายของไม่ได้ เพราะคนไปเดินจับจ่ายกันน้อยลง กำลังซื้อก็น้อยลง เป็นแบบนี้ทุกตลาดอย่างเอกฉันท์ และเขาก็หวังว่าการกลับมาสู่ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง ก็น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้บ้าง ซึ่งผมก็ได้แต่บอกไปว่าแน่นอนว่าหลังการเลือกตั้งเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทันท่วงทีแบบอัตโนมัติ

หมอเอ้ก นพ.คณวัฒน์ รับลูกเสริมทันทีหลังเจอคำถามเดียวกัน ว่า ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องใหญ่มาก กำลังซื้อก็ลดลง แต่อีกปัญหาคือที่ทำมาหากินกลับน้อยลงไปตาม ซึ่งเ¬ข้าใจดีว่าเป็นผลมาจากการจัดระเบียบทางเท้า แต่เมื่อรัฐจัดระเบียบเสร็จแล้วกลับไม่ได้ดูแลที่ทำมาหากินให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเดิม พวกเขาก็ไม่รู้เลยว่าจะไปขายได้ที่ไหน ที่จัดให้ขายก็ไกลจากเดิม อย่างเขตที่ผมลงสมัครส.ส.ขออาสาประชาชน มีพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชนมากมาย ก็ต้องการพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้ให้คนหากินค้าขายได้

สองความคิดเห็นของสองหนุ่มจากประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะดุเด็ดเผ็ดมันส์ และแน่นอนเขาทั้งคู่เห็นปัญหาเหมือนกัน นั่นคือ เศรษฐกิจระดับฐานรากมีผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมทีเดียว

“ไอติม” เสริมว่า การแก้ปัญหาปากท้อง ต้องมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นนั้นต้องมีการประกันรายได้ให้กับกลุ่มคนค้าขาย และกลุ่มแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด สิ่งสำคัญคือการประกันรายได้ เริ่มจากพ่อค้าแม่ค้า ที่ปัจจุบันมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ไม่ได้สร้างผลบวกให้กับเศรษฐกิจโดยรวมแม้แต่น้อย เพราะบัตรถูกบังคับให้คนถือบัตรไปใช้จ่ายในร้านธงฟ้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ไปยังตลาด หรือร้านค้าอื่นๆ เลย

“การแก้ของประชาธิปัตย์คือให้เลย 800 บาท/คน/เดือน เติมเข้าบัญชีโดยตรง กดเงินสดไปซื้อของจับจ่ายใช้สอยกัน เงินก็จได้หมุนเวียนกันในพื้นที่จริงๆ ไม่ได้กระจุกในบางร้านเหมือนทุกวันนี้ พ่อค้าแม่ขายก็ได้คนเดินตลาดกลับมา ภาพรวมเศรษฐกิจก็ดีขึ้น” ภาพอนาคตจากหนุ่มวัย 27 ปี ซึ่งมีดีกรีเป็นหลานของ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กระนั้นก็ตาม ในส่วนกลุ่มแรงงาน “พริษฐ์” เสนอการแก้ไขปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ แน่นอนว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่อาจให้ค่าแรงของแรงงานมากเกินไปได้ เพราะทั้งนี้อาจจะต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวม และหากให้มากเกินไป ภาระก็จะไปตกอยู่กับผู้ประกอบการ และท้ายสุดผลพวงก็คือแรงงานนั่นเอง ที่จะถูกเลิกจ้าง

พริษฐ์ เสนอว่า จะประกันรายได้ขั้นต่ำคือ 1.2 แสนบาท/คน/ปีให้กับแรงงานทุกคน ซึ่งตัวเลขนี้จะสอดคล้องกับค่าครองชีพ และส่วนต่างที่ว่าจะเป็นการสมทบจากรัฐบาล เพื่อลดภาระผู้ประกอบการจากรายได้ขั้นต่ำที่ถูกกำหนดเอาไว้
“แต่นี่คือมาตรการระยะสั้นเท่านั้นนะครับ หากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล” พริษฐ์ ย้ำ

ไปฟังความคิดของ “หมอเอ้ก” กันบ้าง ว่ามองอย่างไรกับปัญหาปากท้อง หมอที่เบนเข็มอาชีพมาบนเส้นทางการเมืองภายใต้สีเสื้อของประชาธิปัตย์ มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากคือเรื่องใหญ่ แม้ภาพวิมานจะสวยหรูว่า GDP ของประเทศเติบโต แต่จากการลงพื้นที่ เงินในกระเป๋าของชาวบ้านไม่ได้พอกพูนขึ้นมาด้วยแม้แต่น้อย

“ลงพื้นที่กลับได้ยินคำบ่น เพราะคนขายของไม่ได้ คนซื้อก็ไม่มีเงินไปซื้อของ กระเทือนไปถึงไม่มีเงินส่งลูกเรียน ดังนั้น สิ่งที่เราพากันพูดเสมอรวยกระจุก จนกระจาย อาจจะเป็นเรื่องจริง พรรคประชาธิปัตย์เห็นความสำคัญตรงนี้มาก และต้องการลดความเหลื่อมล้ำ” นพ.คณวัฒน์ สะท้อนถึงผลการลงพื้นที่

แต่กระนั้น ฝันของ “หมอเอ้ก” ที่ต้องการมาเป็นตัวแทนชาวบ้าน เป็นปากเสียงของประชาชน ก็หวังจะพาพื้นที่ดุสิต บางซื่อ พลิกโฉมใหม่ โดยคาดหมายผ่านเส้นทางการเมือง ผลักดันพื้นที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่ต่อยอดมาจากนโยบายของพรรค นั่นคื “สมาร์ทซิตี้” พัฒนาพื้นที่โดยรอบที่กำลังจะกลายเป็น “ฮับ” ด้านการขนส่งมวลชนของเมืองหลวง พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน โดยคำนึงถึงการค้าขายที่ต้องช่วยเหลือคนในพื้นที่ให้มีรายได้ ดึงคนนอกมาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่มากขึ้น

ขณะที่ฝันของ “ไอติม” พริษฐ์ ก็หวังว่าจะพาพื้นที่บางกะปิ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง รุดหน้าไปด้วยดีกับคนในพื้นที่

เพื่อผลักดันให้เป็นพื้นที่แห่งอนาคตผ่าน 3 เสาหลักในแนวคิด คือ 1.คว้าโอกาส ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการท่องเที่ยว ผุดถนนคนเดินดึงคนต่างถิ่นเข้ามาให้มากขึ้น รวมถึงให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่อย่าง “นิด้า” และ “รามคำแหง” เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มรายได้ 2.คงอัตลักษณ์ บางกะปิมีศักยภาพด้านการกีฬา ต้องใช้นำลดปัญหาต่างๆ ทั้งยาเสพติด จุดเสี่ยง รวมถึงความหลากหลายทางศาสนาของคนในพื้นที่ที่อยู่กันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ต้องคงไว้ และดันให้เป็นศูนย์กลาง “อาหารฮาลาล” ของประเทศ และ 3.ยั่งยืน การสร้างบางกะปิให้ยั่งยืนสอดรับกับการอำนวยความสะดวกให้คุนทุกกลุ่ม ทั้งสกายวอล์คไร้บันได เพื่อคนพิการ คนสูงอายุ พลิกขยะเป็นรายได้

ท้ายสุดกับคำถามที่ว่า อยากฝากอะไรถึงประชาชน ในฐานะที่เป็นนักการเมือง ทั้งคู่รีบตอบทันที โดย “พริษฐ์” ระบุว่า มีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะทำงานเพื่อประชาชน และยังมีทีมงานของประชาธิปัตย์ ที่มีประสบการณ์ สิ่งที่อยากจะบอกเอาไว้คือ อายุไม่ใช่เรื่องสำคัญ คือสิ่งสำคํญคือประสบกาณ์ที่สะสมมา เพราะลงพื้นที่เจอประชาชนตั้งแต่อายุได้ 14-15 ปี

“ผมอยากมาทำงานให้ประเทศไทยครับ” ไอติม พริษฐ์ เลือดใหม่จากประชาธิปัตย์ ย้ำ

และจากใจของ “หมอเอ้ก” นพ.คณวัฒน์ ฝากเอาไว้ว่า มีความมุ่งมั่นเพื่อมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ที่ผ่านมาลงพื้นที่ทุกวัน และไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรหลังวันที่ 24 มีนาคม ก็จะไม่เสียใจ แต่จะขอเดินหน้าทำเหมือนทุกๆ วันต่อไปอย่างไม่ลดละ

“ผลจะออกมาอย่างไร ผมก็จะทำอย่างที่ทำทุกวัน และสิ่งที่อยากบอกคือ พรรคประชาธิปัตย์มีทีมงานที่พร้อมรับใช้ประชาน อีกทั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญ อยากให้ประชาชนออกมากำหนดอนาคตประเทศ ไม่ว่าจะชอบพรรคไหนก็ตาม อยากให้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง”

นั่นคือสิ่งสะท้อนของเลือดใหม่ประชาธิปัตย์ แล้วคุณล่ะ มองพวกเขาว่าอย่างไร?