เร่งติดตั้ง EDC รับ E-Payment ย้ำค่าธรรมเนียมไม่ถึงบาท

by ThaiQuote, 9 กุมภาพันธ์ 2560

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างร่วมเปิดตัวการใช้ระบบ ซัมซุงเพย์ผ่านแอ็พพลิเคชั่น ว่านับว่าเอกชนให้ความสนใจต่อนโยบายรัฐเพื่อลดการใช้เงินสดในระบบ ขณะนี้รัฐบาลต้องการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด  จึงได้พัฒนาระบบ E-Payment รองรับการใช้เงินสดผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อสินค้าและบริการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทเอกชน 2 รายเพื่อให้บริการติดตั้งเครื่องติดตั้งเครื่องชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ( EDC)  คาดว่าได้ผลสรุปรายชื่อผ่านการคัดเลือกภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ National  E-Payment โดยมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในครั้งต่อไป

ทั้งเพื่อต้องการให้ระบบ  E-Payment ลดการใช้เงินสด เตรียมให้เอกชนผู้ให้บริการติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านค้าทุกแห่งทั่วประเทศ ในเฟสแรกกว่า 5 แสนเครื่องภายใน 1 ปี  อนาคตร้านค้าทุกประเภท ควรได้รับการติดตั้งเพื่อรับชำระเงิน แม้กระทั่งร้านก๋วยเตี๋ยว แท็กซี่ ร้านค้าทั่วไป เนื่องจากต้องการให้คิดค้าธรรมเนียมการซื้อสินค้าไม่ถึง 1 บาทต่อรายการเพื่อดึงดูดให้ประชาชนใช้ระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้เมื่อรัฐบาลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรับสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถนำบัตรดังกล่าวมาใช้บริการผ่านเครื่อง EDC ได้ เนื่องจากรัฐบาลพร้อมโอนเงินเข้าบัตรสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร อีกทั้งต้องการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจผู้บริหารสาธารณูปโภคต้องติดตั้งเครื่อง EDC ให้ครบทุกแห่ง  และใช้บัตรดังกล่าวบริการสาธารณะ และเมื่อสังคมงดใช้เงินสดจะลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การฟอกเงินได้สูงมาก เนื่องจากการโอนเงินมีใบเสร็จและหลักฐาน

นายอภิศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาการออกบัตรสำหรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐให้กับข้าราชการและครอบครัวประมาณ 5 ล้านราย เมื่อเจ็บป่วยสามารถรูดจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ จากปัญหาการเวียนเบิกยา และเงินรั่วไหลในรูปแบบต่าง ๆ คาดว่าภายในพฤษภาคม - มิถุนายนปี 60 กรมบัญชีกลางจะเริ่มออกบัตรให้กับราชการได้​ยอมรับว่าทั้งหมดเป็นแนวคิดการศึกษา ส่วนแนวทางการให้บริษัทประกันเอกชนบริหารดูแลค่ารักษาพยาบาลยังดำเนินการศึกษาด้วยเช่นกัน  เมื่อผลการศึกษาได้ข้อสรุปจะประเมินผลระหว่างการใช้บัตรเบิกเงินรักษาพยาบาลกับใช้บริษัทเอกชนดำเนินการแบบใด จะช่วยลดการรั่วไหลของเงินงบประมาณ