พรรณพิมล ปันคำ ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียนรู้จากชีวิตจริงสู่เกษตรทฤษฎีใหม่

by ThaiQuote, 11 กุมภาพันธ์ 2560

ถ้าถามถึงปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยแล้ว ต้องบอกว่ามีอยู่ไม่กี่เรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญ ๆ หนึ่งในนั้นคือ การใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีรวมถึงหนี้สินที่ทำให้เกษตรหลายคนถึงกับสิ้นหวังในชีวิต โดยเฉพาะกับ “ชาวนา” บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ถูกระบุว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงอันดับ 3 ในการตกงานของปี 2560 แต่สำหรับ “พรรณพิมล ปันคำ” หรือ “ป้าพรรณ” ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต. ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เธอกลับมีความคิดที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะเธอใช้ภูมิปัญญาแบบชาวบ้านขจัดซึ่งปัญหาอย่างสิ้นเชิง แถมยังใช้ประสบการณ์จากชีวิตจริงของเธอมาถ่ายทอดเรื่องราวให้กับเกษตรกรที่แสวงหาแนวทางการเกษตรยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถลืมตาอ้าปาก หมดหนี้สิน ด้วยมือของตนเอง ป้าพรรณ หรือ นางพรรณพิมล ปันคำ เติบโตจากครอบครัวเกษตรกรใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อมาพบรักและแต่งงานกับ ลุงผ่าน หรือ นายผ่าน ปันคำ ที่เติบโตในครอบครัวเกษตรกรเหมือนกันทำให้การทำงานในอาชีพ “เกษตรกรมืออาชีพ” จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินฝัน ป้าพรรณเล่าว่าเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับสารเคมีหรือการทำเกษตรแบบมีระบบระเบียบ การทำนาจึงเป็นการทำจากภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง แต่เมื่อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงเข้ามามีบทบาทในเกษตรกรรม พืชถูกตัดแต่งพันธุกรรม ชาวบ้านเริ่มประสบปัญหาต้นทุนสูงแต่ผลผลิตต่ำ สุขภาพย่ำแย่ ภูมิปัญญาที่เคยใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษก็เริ่มจางหายไปอย่างสิ้นเชิง “10 ปีที่แล้วได้มีการระดมความคิดของคนในชุมชนว่าที่ผ่านมา พวกเรามีปัญหาอะไรกันบ้าง เรามาวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ทำให้พบว่าปัญหาอันดับหนึ่งของเกษตรกรคือ เรื่องของหนี้สินจากการทำไร่นาทำนา แล้วจะทำอย่างไรพวกเราถึงจะหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน จนได้ข้อสรุปว่าเราต้องตั้งกลุ่มเกษตรยั่งยืนใช้ชื่อว่า “ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ต. ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อศึกษา เรียนรู้ภูมิปัญหา แก้ไขปัญหาทางภาคเกษตรและแก้ปัญหาหนี้สิน นำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยละทิ้งมาทดลอง มาพัฒนากลับมาใช้ใหม่ ยกระดับภูมิปัญญาของไทยให้ทันสมัยขึ้น จนกระทั่งปี 2550 กลุ่มของพวกเราได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ของ จ.เชียงราย จนถึงทุกวันนี้” ป้าพรรณ เล่าต่อว่าศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต. ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ปรับแนวความคิดในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ฟื้นฟูองค์ความรู้ใหม่ ๆเพื่อนำมาใช้ในการทำเกษตร มีทิศทางในการจัดระเบียบเรื่องหนี้สิน และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่ามีเกษตรกรในกลุ่มกว่า 80 % หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ อีก 20 % เข้าสู่ระบบ ทำให้เกษตรกรผ่อนคลายจากปัญหาหนี้สินและหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำนา ทำไร่ โดยไม่พึ่งสารเคมี นำภูมิปัญญาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายกลับมาพัฒนาใช้ใหม่ ซึ่งได้ผลเกินความคาดหมาย ทั้งนี้ป้าพรรณ กับ ลุงผ่าน มีอุดมการณ์ที่จะเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป โดยเปิด “โรงเรียนชาวนา” สอนหลักสูตรโรงเรียนชาวนา สอนฟรีปีละ 2 รุ่น ๆ ละไม่เกิน 100 คน ใช้ระยะเวลาเรียน 5 เดือน ประกอบด้วยการสำรวจแปลงนา การผลิตปุ๋ยนมวัว การผลิตฮอร์โมนไข่ การทำถ่านพลังแกลบ การทำน้ำมันไบโอดีเซล เน้นการเรียนรู้เรื่องข้าวเป็นหลักรองลงมาคือความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดอื่น เช่นมันสำปะหลัง พริก เป็นต้น โดยเริ่มสอนให้กับเกษตรกรในจ.เชียงราย จากนั้นจึงขยายวงกว้างรับเกษตรกรจากจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศเข้ามาเรียนด้วย รวมทั้งออกไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ ๆกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านอื่น ๆ ที่มีเครือข่ายร่วมกัน นอกจากนี้ยังเดินทางไปช่วยลูกศิษย์ที่เคยมาเรียนรู้กับศูนย์ภูมิปัญญาศรีเมืองชุม จ.เชียงราย เพื่อขยายเครือข่ายโรงเรียนชาวบ้านในหลาย ๆ จังหวัด เช่น อ่างทอง กำแพงเพชร เป็นต้น แต่ถ้าเป็นหลักสูตรโรงเรียนชาวนาที่ศึกษาเชิงวิจัยหรือหลักสูตรนักวิจัยอาสาใช้ระยะเวลาเรียน 1 ปี “กว่าจะเป็นศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านศรีเมืองชุม เราผ่านการลองผิดลองถูกมานาน ต้นไม้ทุกต้นเป็นครู ป้ากับลุงผ่านต้องทดลองต้องศึกษาพัฒนาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สิ่งที่เราทำคือทางรอดไม่ใช่ทางเลือก เรามีอุดมการณ์สำคัญที่จะช่วยเหลือพี่น้องในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรใน จ.เชียงราย และขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ ต้องการติดอาวุธทางปัญญาให้พี่น้องเกษตรกรปรับแนวความคิดมาทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยนำองค์กรความรู้ที่มีอยู่ เช่น การทำปุ๋ยธรรมชาติ ทำการฮอร์โมนเป็นอาหารพืช ซึ่งเชื่อมกับนโยบายของสิงห์ในการให้ปัญญาแก่เกษตรกร ให้ชุมชนเข้มแข็ง เน้นองค์ความรู้ที่ทำได้จริง” ป้าพรรณ กล่าว ศูนย์ภูมิปัญญาศรีเมืองชุม จ.เชียงราย มีขนาด 14 ไร่ เป็นพื้นที่ไร่นาสวนผสม มีการบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆอย่างเหมาะสม ทั้งไร่นา บ่อปลา สวนครัว สวนสมุนไพร ฯลฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองอย่างครบวงจร ไม่ได้มีแค่คนไทยที่เข้าไปเรียนรู้เท่านั้น แต่เปิดรับชาวต่างชาติที่สนใจอยากศึกษาด้านเกษตรกรรม เข้ามาเรียนรู้ด้วย ดังนั้นจึงมีชาวพม่า ชาวลาว ชาวจีน เข้ามาขอศึกษาดูงานเป็นประจำ เพื่อแบ่งปันตามหลักหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ป้าพรรณ ย้ำว่าถ้าใครยังไม่เก่ง รู้ไม่ชัด รู้ไม่จริง อย่าไปบอกใครว่าเป็นศิษย์พรรณพิมลนะ เราไม่รับ เพราะลูกศิษย์ของพรรณพิมล “ทุกคำถามต้องมีคำตอบ ทุกปัญหาต้องมีทางแก้” พึ่งตนเองเป็นหลัก ต้องมีความคิดใหม่ที่ต้องช่วยตนเองก่อน อย่ารอให้ใครมาช่วย การที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย เราต้องช่วยตนเองก่อนเสมอ เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของปราชญ์ชาวบ้านที่น่าสนใจ ศึกษาเรื่องราวแห่งวิถีชีวิต “ชาวนา”ไทย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ในยามที่กระดูกกร่อนไม่แข็งแรงแต่สำหรับ “ป้าพรรณ” หรือพรรณพิมล ปันคำ  ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต. ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เธอเป็นความหวังที่ให้บรรดาเกษตรกรได้ค้นคว้าศึกษาเรื่องราวสู่การลงมือปฏิบัติจริง
Tag :