เอาไงดี! ชีวิตหลังเกษียณ อยากรู้ต้องอ่าน

by ThaiQuote, 3 เมษายน 2559

อดีตข้าราชการหลายคนเลือกเงินบำเหน็จด้วยเหตุผลต่างๆกัน บ้างคิดว่าตนเองเพิ่งอายุ 60 ยังมีโอกาสสร้างธุรกิจส่วนตัว ถ้าจับพลัดจับผลูธุรกิจไปได้สวย จะมีรายได้มากกว่าเงินบำนาญหลายเท่า เงินก้อนที่ได้มากก็มากโข ใช้ลงทุนส่วนหนึ่ง ยังพอเหลืออีกส่วนจุนเจือครอบครัว หรือบางคนรับเงินบำเหน็จเพื่อนำเงินก้อนมาให้ทายาทใช้ในความจำเป็นเร่งด่วน เช่นคืนหนี้นอกระบบ หรือลงทุนค้าขาย ก็ว่ากันไป

 แต่ก็มีข้าราชการอีกจำนวนมากเลือกรับเงินบำนาญ เพื่อสร้างหลักประกันในระยะยาวว่าตนเองจะมีเงินใช้ไปตลอดโดยไม่ต้องเบียดเบียนลูกหลาน ยิ่งในยุคนี้เป็นยุค สว. หรือผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ  คาดว่าตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 10,014,699 คน หรือประมาณร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในปี 2564 ก่อนจะขยายสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ในอีก 20 ปีข้างหน้า พูดง่ายๆก็คือแนวโน้มคนไทยอายุยืนขึ้นนั่นเอง

 แต่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งแก่ตัวไป เรี่ยวแรงการทำงานก็ลดน้อยถอยไปเรื่อยๆ หมดโอกาสในการทำงาน เป็นช่วงที่จะได้ใช้ชีวิตแบบสบายๆ อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปเที่ยวที่ไหนก็ไป คิดดูซิว่าถ้าอายุ 75 ปียังมีรายได้จากเงินบำนาญมันน่าอิจฉาไม่น้อยเลยนะ

 อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าต้องการเงินบำเหน็จหรือบำนาญ แต่สิ่งที่อยากย้ำให้จำแม่นๆคือ แนวโน้มนับจากนี้ คนไทยจะอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี สูงกว่าในอดีตที่อายุขัยเฉลี่ย 65 ปี และมีแนวโน้มว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่มั่นใจในการนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ หรือไม่เดือดเนื้อร้อนใจจริงๆ คุณจะเลือกรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ