ครม.ใจป้ำผุดมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยพ่วงเกษตรกร

by ThaiQuote, 15 มิถุนายน 2559

การเปิดให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ  กระทรวงคลังบอกว่าต้องการจัดทำฐานข้อมูลประชาชนร่วมกับกระทรวงมหาดไทยให้เป็นระบบ รองรับโครงการพัฒนาระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ  (E-Payment) โดยมี “ขุนคลัง” อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เจ้าของไอเดียนี้เพราะที่ผ่านมาพบว่ามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างไม่ตรงจุด เช่นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี หรือสวัสดิการต่าง ๆเพราะทั้งคนจนคนรวยรับบริการได้ทั้งหมด

การลงทะเบียนในครั้งนี้จึงกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อย ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1 แสนบาท อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทยเดินทางไปลงทะเบียนกับสถาบันการเงินของรัฐ 3 แห่งประกอบด้วยธ.ก.ส. - ออมสิน และกรุงไทย เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. - ส.ค.59 สำหรับในปีต่อไปให้เปิดลงทะเบียนในช่วงวันที่ 1-30 ก.ย.ของทุกปีเพื่อให้สถาบันการเงินจัดเก็บข้อมูลทรัพย์สิน ภาระหนี้ แล้วส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากร สำนักงานทะเบียนราษฎร์เพื่อนำไปประมวลจัดสรรระบบสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการระบบ E-Payment และยังทำให้รัฐบาลทราบข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของประเทศอย่างถูกต้อง และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆได้อย่างถูกต้องตรงจุด หากใครพอมีเงินจ่ายก็ควรจ่ายเพราะจะได้นำเงินไปช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมมากขึ้น เห็นอย่างนี้แล้วไม่ต้องอายนะคับ รีบเดินทางไปลงทะเบียนกับแบงก์รัฐทั้งสามแห่งกันเลยนะคับ

นอกจากนี้ครม.ประยุทธ์ยังใจปล้ำ หวังฟื้นกำลังซื้อของเกษตรกรไม่ให้ขาดตอนด้วยการสานต่อโครงการด้านเกษตรต่อจากปี 58  ด้วยการเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ที่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำ ด้วยการมอบหมายให้ธ.ก.ส.และกระทรวงพาณิชย์ร่วมดำเนินโครงการ โดยใช้งบประมาณที่เหลือจากปี 59 และใช้งบปี 60 วงเงิน 6,760 ล้านบาท  ดำเนินโครงการ  อันประกอบด้วย

1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 59/60 มอบหมายให้ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อผ่านสถาบันเกษตรกร ได้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจำหน่ายและเพื่อการแปรรูป เป้าหมายในการรวบรวบข้าวเปลือก 2.5 ล้านตัน  คิดดอกเบี้ยจากสถาบันเกษตรกร ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระให้ร้อยละ 4 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 59 -30 กันยายน 60

2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 59/60 เป็นสินเชื่อชะลอการขายผลผลิตให้แก่เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร โดยใช้ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเป็นหลักประกัน ในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งวงเงินสินเชื่อที่เกษตรกรจะได้รับเป็นไปตามคุณภาพข้าว เป้าหมายโครงการที่ 2 ล้านตัน

3.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 59/60  สำหรับลูกค้าเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการผลิตข้าวปีการผลิต 59/60 รายละไม่เกิน 80,000 บาท จะได้รับการลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาการลดดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือนโดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร เพราะเมื่อชะลอการขายข้าวออกไปอาจทำให้มีเงินทุนน้อยในการใช้จ่าย เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 1.2 ล้านราย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้เกษตรกรมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่องและเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกร

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ให้กำกับดูแลผู้ประกอบการโรงสีข้าวเพื่อรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเก็บไว้ในโกดังระยะเวลา 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าว คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จึงหวังว่าชาวบ้านจะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน

ยังไม่พอนะครับ ครม.ยังช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามประกาศตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการแปลงสภาพที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน บริเวณคลองเชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี จำนวน 30 ไร่ให้เป็นที่ราชพัสดุ โดยอยู่ในการดูแลของกรมธนารักษ์  ด้วยการย้ายประชาชน ซึ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำคลองสาธารณะช่วงคลอง 1  และคลอง 2 กว่า 1,000 ครัวเรือน  โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการให้ชาวบ้านรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ เพื่อทำการเช่าที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัย คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี

การแก้ปัญหาดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งจังหวัดปทุมธานี กรมชลประทาน กรมธนารักษ์  กรมที่ดิน  นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้เป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหา หรือ"ปทุมธานีโมเดล"เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาการรุกล้ำที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินสาธารณะของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ นับว่าวันนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไฟแรง งัดหลายมาตรการเสนอ ครม.ดูแลชาวบ้านได้คะแนนไปเต็มๆจากรายย่อย

 

                                                                                                                                                ชมัย  มรุเชษฐ์