“แม่วัยรุ่น” เตรียมรับสิทธิ์พ.ร.บ.ท้องก่อนวัย

by ThaiQuote, 28 กรกฎาคม 2559

  ทั้งนี้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องมาจากการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศนับว่ามีความซับซ้อนและไม่อาจแก้ไขได้ด้วยอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังนั้นจึงมีสร้างกลไกในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน และประชาสังคม เพื่อบูรณาการให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นรูปธรรม มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           สำหรับสิทธิที่เด็กและเยาวชน ซึ่งตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรจะได้รับตามมาตราที่ 5 คือ 1.สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง 2.สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ด้านการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์  3. สิทธิในการได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว  4. สิทธิในการได้รับการจัด สวัสดิการสังคม อย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  และได้รับสิทธิอื่นๆที่เป็นประโยชน์ ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ

          ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ดังกล่าวยังได้กำหนดสิทธิในสถานศึกษาในมาตรา 6  โดยให้สถานศึกษาจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้ได้รับ การศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง  

          นอกจากนี้ในมาตรา 9 ยังกำหนดให้มีการจัดการฝึกอาชีพตามความสนใจและความถนัดแก่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ก่อนและหลังคลอดที่ประสงค์จะเข้ารับฝึกอาชีพ และประสานงานเพื่อจัดหางานให้ได้ประกอบอาชีพตามความเหมาะสม และการจัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรด้วยตนเองได้

          รวมทั้งในมาตรา 10 ยังได้กำหนดให้หน่วยราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดําเนินการให้วัยรุ่นในเขตราชการส่วนท้องถิ่น ได้รับสิทธิตามมาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการ

            อย่างไรก็ตามได้มีการจัดทำผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.ชลบุรี และ จ.สงขลา พบว่า ร้อยละ 93.7 อยากให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน  ร้อยละ 91.5 โรงเรียนจะต้องประสานหรือหาแหล่งช่วยเหลือด้านสังคม ร้อยละ 90.1 ให้มีการจัด เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ส่งต่อระบบสวัสดิการสังคม  ร้อยละ 89.9 สร้างความเข้าใจเรื่องเพศเป็นประจำ  และร้อยละ 86.7 จัดครูให้คำแนะนำ พร้อมปกปิดข้อมูลเป็นความลับ


ที่มา  : Thaiquote