“สุวิทย์”ย้ำไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มรายได้ลดเหลื่อมล้ำ

by ThaiQuote, 7 กันยายน 2559


แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในภาพรวมฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการบริหารงานภาครัฐ โดยภารกิจสำคัญขณะนี้คือ การเดินหน้าประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0เพื่อนำพาประเทศไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นโยบาย ประเทศไทย 4.0คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”  โดยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติสำคัญ มิติแรกคือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า โภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิง นวัตกรรมโดยเปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี  และเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ มิติที่สองคือ เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยเปลี่ยนจาก SMEs ที่รัฐให้การสนับสนุนเป็น SMEs ที่มีศักยภาพสูง (Smart Enterprises และ Startups) รวมทั้งเปลี่ยนจากแรงงานที่ทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง และมิติที่สามคือ เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services โดยจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งใน 4 ระดับ ได้แก่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่เข้มแข็ง ผนวกกับการส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปตั้งฐานและขยายธุรกิจในต่างประเทศเพื่อสร้างการยอมรับในสินค้าและบริการของไทย

 

การปรับเปลี่ยนในมิติต่าง ๆ ข้างต้นจะนำไปสู่การพัฒนา5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย 1) กลุ่มอาหาร เกษตร พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Tech) 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Bio-Med) 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ พัฒนาไปสู่ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Mechatronics) 4) กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Embedded Technology) และกลุ่มที่ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative) วัฒนธรรม พัฒนาไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง (High Value Services)

 

 เป้าหมายของการดำเนินงานตามนโยบายประเทศไทย 4.0  คือการขับเคลื่อน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในระยะเวลา 3 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนปัญหาและความท้าทายให้เป็นศักยภาพและโอกาส เมื่อประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 เต็มรูปแบบ รูปธรรมที่จะเห็นได้อย่างเด่นชัด คือ รายได้ต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำต่างๆ จะลดลง ประเทศจะมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน