นายกฯขอคนไทยเลิกขัดแย้งใช้ “สติ”ร่วมเคลื่อนประเทศ

by ThaiQuote, 21 ตุลาคม 2559

หากเพียงคนไทยทุกคนแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน แม้เพียงเศษเสี้ยวความรักของพระองค์ที่มีต่อประชาชน และแม้เพียงคนไทยทุกคน มีความเพียรสร้างความดี ทำคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ แม้เพียงเศษเสี้ยวที่พระองค์ทรงมีแล้ว “คนไทย” ก็จะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก “ประเทศไทย” ก็จะเป็นประเทศที่มีความเจริญ มั่นคง ที่สุดในโลก เช่นกันนะครับ

ในเวลานี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชบัณฑูร ให้จัดการพระราชพิธีพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ และถูกต้องตามแบบแผนโบราณราชประเพณี รวมทั้งทรงรับสั่งให้ขอพระราชวินิจฉัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีในเรื่องพิธีการ ตลอดจนการก่อสร้างพระเมรุ และศาลาทรงธรรม สำหรับการประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ จากที่ได้ทรงมีพระราชบัณฑูรไว้ก่อนแล้วนะครับ  พร้อมทั้งดูแลทุกข์สุขประชาชนในช่วงนี้ให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติภารกิจสำคัญยิ่งนี้ร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวไทย ทุกภาคส่วน  เพื่อให้การพระราชพิธีพระบรมศพสมพระเกียรติ เทิดไว้ซึ่งพระเกียรติยศ และพระเกียรติภูมิอันสูงส่ง

ผมและรัฐบาลขอให้คำมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่สานต่อพระราชภารกิจ และสนองพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ด้วยความจงรักภักดีเสมอด้วยชีวิต ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความวิริยะอุตสาหะ อย่างเต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา รวมทั้งขอปฏิญาณตนว่า จักจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

รายการวันนี้เป็นต้นไปนะครับจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบและชื่อรายการไปบ้าง แต่สาระสำคัญก็ยังคงมีเหมือนเดิมโดยผมจะนำสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานไว้ ทั้งพระราชดำรัส พระราชดำริ และสิ่งที่ทรงทดลองทรงทำไว้ แล้วเกิดผลตลอดมาอย่างยั่งยืน

ผมจะนำสิ่งที่รัฐบาลได้ยึดถือปฏิบัติใช้เป็นหลักการและแนวทางในห้วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาว่า มีความสอดคล้องต่อเนื่องเชื่อมโยง และสนับสนุนกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติได้อย่างไรนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนทราบว่า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ “พระราชดำริ” คือแนวคิดและปรัชญา “พระราชดำรัส” คือคำสั่งสอน ตักเตือนให้สติ “พระราชกรณียกิจ” คือหลักการทรงงาน และ “พระราชจริยวัตร”ของพระองค์ คือการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ปวงพสกนิกรชาวไทย  ซึ่งจะยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป ด้วยพระองค์ได้ทรง“พูดให้ได้คิด สอนให้เกิดปัญญา และทำให้เห็นประจักษ์” ด้วยพระองค์เองตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ “ศาสตร์พระราชา”เหล่านั้น สามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่การประกอบกิจวัตรประจำวัน และสัมมาชีพของแต่ละ “บุคคล” ไปจนถึงการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นแนวทางให้กับ “รัฐบาล” และข้าราชการทุกคน

ทั้งนี้ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งได้รับการยกย่องในเวทีระดับโลก และสอดคล้องกับ “วาระของโลก” คือเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ (SDG 2030) คือ อีก 15 ปีข้างหน้า ได้แก่ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มากว่า 40 ปี  และได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าถวายรางวัล “ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าเป็นปรัชญาที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่ชุมชน และสู่สังคม ในวงกว้างขึ้นในที่สุดนะครับ โดยองค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆที่เป็นสมาชิกทั่วโลกได้ยึดถือเป็นแนวทางสู่การพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

ในส่วนของรัฐบาลเองนั้น ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมาของการบริหารบ้านเมือง ได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ในหลาย ๆ รูปแบบ  เช่นการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” สร้างความเข้มแข็งให้กับ “ครอบครัว” ซึ่งเป็นสถาบันสังคมที่เล็กที่สุด  แต่เป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นหน่วยสังคมแรกที่เลี้ยงดูอบรมสั่งสอน และหล่อหลอมชีวิตของคนในครอบครัวเป็นแหล่งผลิตคนเข้าสู่สังคม ต่อไป

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน และความไม่ประมาทต่อความเสี่ยงในอนาคต ด้วยการวาง “แผนการออมเพื่อการเกษียณ” ตั้งแต่ช่วงวัยทำงานแล้ว ยังเป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทย ในการเข้าถึงระบบบำนาญของประเทศ สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ รายได้น้อย แต่ไม่มีระบบบำนาญใด ๆรองรับ ไม่เหมือนภาครัฐ ที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือภาคเอกชน ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในระดับครอบครัว สามารถผ่อนคลายปัญหาระดับชาติได้นั้นสอดคล้องกับ “หลักการทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “การแก้ปัญหาจากจุดเล็ก” กล่าวคือ การมองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มตั้งแต่จุดเล็ก ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้าม

สำหรับการ “ต่อยอด – ขยายผล” หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับภูมิภาค และระดับโลก ทั้งในเวที G77, G20 และ ACD ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้นำเสนอผลสำเร็จ ในการพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับฐานราก เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสมดุลในทุกมิติ รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ตามภูมิภาคที่แตกต่าง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา, ห้วยทราย จ.เพชรบุรี, อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี, ภูพาน จ.สกลนคร, ห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ และพิกุลทอง จ.นราธิวาส

อย่างไรก็ตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีสูตรตายตัวนะครับ สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบท ขีดความสามารถ ข้อจำกัด ที่แตกต่างกันออกไป แต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง และสามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แบ่งปัน ประสบการณ์และองค์ความรู้ ซึ่งกันและกันได้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, เทคโนโลยี นวัตกรรม และพลังงาน “สีเขียว”, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจะสืบสานพระราชปณิธาน ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีมากกว่า 4,000 โครงการทั่วประเทศ ให้ยังคงอยู่ อีกทั้งได้ขยายศักยภาพ โดยนำหลักการบริหารของ “ศูนย์การเรียนรู้” ประกอบกับการแสวงประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้” ของกระทรวงต่างๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนมากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 2,000 กว่าแห่งเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล, นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” และการสร้าง Smart Farmer เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี 2559 ถึง 2564 บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้ประเทศมีระบบภูมิคุ้มกัน และสังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ สำหรับ “ศาสตร์พระราชา” ที่เกี่ยวกับน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษ ทรงให้ความสำคัญในลักษณะ “น้ำคือชีวิต” ดังพระราชดำรัส ตอนหนึ่งว่า“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทานนั้น นับเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลักเท่านั้น ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ อีกทั้งความผันแปรเนื่องจากฝนตกไม่พอเหมาะกับความต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร ตัวอย่างโครงการ เช่น

โครงการฝนหลวงเนื่องจากทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ นอกจากความผันแปร และความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  พระองค์ทรงใช้เวลา 14 ปี ในการวิเคราะห์วิจัย ทบทวนเอกสาร รายงานผลการศึกษาและข้อมูลต่าง ๆ ก่อนที่ทดลองในท้องฟ้าเป็น “ครั้งแรก” ในปี 2512 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ทรงติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยพระองค์เองโดยตลอด และได้พระราชทานตั้ง “ศูนย์ฝนหลวงพิเศษ” พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และคำแนะนำอยู่เสมอ

โครงการแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อ 2538โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว แล้วบริหารจัดการ “แก้มลิง” ทั้งระบบอย่างบูรณาการ

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สำหรับเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคของประชาชน, แหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และการเกษตรในพื้นที่ชลประทาน, แหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่และแหล่งเพาะพันธ์ปลา, ช่วยป้องกันอุทกภัยพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริคลองลัดโพธิ์เป็นการบริหารจัดการน้ำ โดยบูรณาการงานหลายหน่วยงาน โดยช่วยลดระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร นอกจากนี้ยังใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ รวมอยู่ในโครงการเดียวกันด้วย นับว่า “ 1 โครงการ ได้ประโยชน์ 2 ประการ ”

ทั้งนี้ รัฐบาลได้น้อมนำแนวทางแก้ปัญหาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกมาจัดทำเป็น “แผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งระบบ” ระยะยาว 12 ปี  ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ “ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง”  อาทิน้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง, น้ำบาดาลการเกษตร, ขุดสระน้ำในไร่นา, ประปาหมู่บ้าน, ประปาโรงเรียน เป็นต้น โดยดูแลการใช้น้ำ ทั้งน้ำกิน-น้ำใช้, น้ำสำหรับป้อนแหล่งผลิต ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำในการผลักดันน้ำเค็ม ทั้งนี้เพื่อจะรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ ด้วยนะครับ

นอกจากนั้น เรายังมีมาตรการเสริมเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ Agri Map เข้ามาช่วยในกระบวนการโซนนิ่ง, การทำเกษตรแปลงใหญ่, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช, การทำไร่นาสวนผสม เป็นต้น ก็สามารถติดตามได้ในศูนย์ของกระทรวงเกษตรนะครับ จำนวน 882 ศูนย์ ที่ได้จัดตั้งทั่วไปในทุกภาค ทุกพื้นที่ของประเทศไทยในเวลานี้ ไปศึกษา  ไปแลกเปลี่ยน หรือไปสอบถาม ไปนำวิทยาการใหม่ ๆที่เขาเตรียมไว้ให้พวกเราทุกคนนะครับ มาช่วยกันนำไปใช้  มันก็จะลดปัญหาความขัดแย้งซึ่งกันและกัน  ไม่ว่าจะเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเรื่องการปลูกพืช ไม่ว่าจะราคาพืชตกต่ำ อะไรทำนองนี้ กระทรวงเกษตรฯได้แก้ปัญหาทั้งวงจรนะครับ ในเรื่องน้ำก็มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมความไปถึงเรื่องการจัดที่ดินต่าง ๆเหล่านั้นนะครับ มันมีผลผูกพันกันทั้งสิ้น เรื่องน้ำ เรื่องการเกษตร เรื่องการบุกรุกทำลายป่า การจัดที่ดิน ราคาพืชผลทางการเกษตร  เหล่านี้เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงทั้งปัญหา และผลสำเร็จ หากเราทำดีดี นำแนวทางในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการนะครับ

ในเรื่องของฝนหลวงนั้น ย้อนกลับมานิดนึงว่า เราก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ สิทธิบัตรฝนหลวงแล้ว 4 ประเทศที่พระราชทานให้นะครับ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แทนซาเนีย, โอมา และจอร์แดน คราวนี้ก็กำลังเตรียมการกับภูฐาน ด้วยนะครับ


พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ประชาชนทุกคน อีกทั้ง “จิตอาสา” ที่ร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานของข้าราชกาลในการอำนวยความสะดวก และให้บริการแก่พี่น้องประชาชนที่ต่างมีประสงค์จะเดินทางมายังมหาราชวัง ทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยาลัยพยาบาลหัวเฉียว, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, นักเรียนจากโรงเรียนจิตรลดา, โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ โรงเรียนสตรีวัดระฆัง นักศึกษาวิชาทหารจากโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนวิมุตยารามพิทยากร วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี (Shrewsbury International school) ลูกเสือ-เนตรนารีจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆอีกมาก ซึ่งผมอาจจะกล่าวไม่ได้ทั้งหมดครบถ้วนนะครับต้องขอโทษด้วย ขอบคุณทุกคนนะครับ รวมทั้งมูลนิธิ องค์กรเอกชน ห้างร้าน พี่น้องประชาชนและดารานักแสดง ที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งช่วยแจกจ่ายอาหาร-เครื่องดื่ม, เก็บขยะ,  รักษาความสะอาด ดูแลการจราจร จัดระเบียบแถว จัดดอกไม้ พยุงดูแลผู้สูงอายุ เข็นรถคนพิการ และช่วยอำนวยความสะดวกตามกำลังความสามารถ มีการให้บริการตัดผม บริการทางการแพทย์ ตลอดแจกจ่ายสิ่งของที่จำเป็นนะครับ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนก็เกรงว่าพี่น้องจะเป็นไข้นะครับ หลายคนที่มาก็อาจจะมีโรคประจำตัว ก็กรุณาถ้าเป็นเด็กก็ใส่ที่อยู่ ชื่อผู้ปกครองในกระเป๋าของเด็กไว้ด้วยเผื่อพลัดหลง ส่วนของผู้เจ็บป่วยเป็นโรคประจำตัว เช่นความดัน โรคลมชัก โรคเบาหวานอะไรก็แล้วแต่ กรุณามีรายละเอียดใส่กระเป๋าเสื้อไว้ด้วยนะครับเผื่อมีอะไรขึ้นมาจะได้แก้ไขได้ทันเวลานะครับ มีอย่างอื่นอีกมากนะครับที่อยากให้ทุกคนช่วยกัน สร้างการเรียนรู้ว่าเราจะดูแลตัวเองและผู้อื่นได้อย่างไร ใช้เวลาช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดนะครับ ก็เราพยายามจะดูแลพี่น้องประชาชนจากทั่วประเทศซึ่งนับวันก็มากขึ้นเรื่อย ๆที่จะเดินทางมาแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ บริเวณท้องสนามหลวงนะครับ

สิ่งดี ๆ เหล่านี้นั้น ผมเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี แด่ “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย  เป็นการเสียสละ เป็นการทำดีเพื่อส่วนรวม เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม ที่เรียกว่าเป็นการเผื่อแผ่แบ่งปันนะครับ ที่สำคัญ การเป็น “ผู้ให้” เหมือนอย่างที่พ่อหลวงของเรา ทรงเป็น “ผู้ให้” แก่พสกนิกรของพระองค์ ตลอดพระชนม์ชีพ ตลอด 70  ปีแห่งการทรงงาน ผมอยากให้พี่น้องประชาชนคนไทย มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือแบ่งปัน ทั้งในวันนี้ และในวันข้างหน้า

การทำดีสามารถทำได้ทุกวันและกับทุกคนนะครับ ระมัดระวังเรื่องความขัดแย้งด้วยนะครับ อย่ากระทบกระทั่งกันอีกเลยไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม พูดจากันดีๆนะครับ  ในส่วนของการมี “จิตสาธารณะ” นั้น มันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในเวลานี้กับประเทศไทย เพราะเป็นการแสดงออกโดยความสมัครใจ ด้วยศักยภาพของตนเอง เป็นการสะท้อนถึงความเป็นผู้เจริญ ผู้มีอารยะและมีคุณค่า หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้เลยถ้าหากปราศจาก “พลังประชารัฐ” ด้วยการสนับสนุนความร่วมมือ จากภาคเอกชนภาคประชาสังคม ในสังคมที่หลากหลาย

เรายอมรับว่า ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างผสมปนเปกันอยู่ แต่การตัดสินความเห็นต่างว่าผิดทีเดียวนั้นคงไม่ใช่สิ่งที่ “ถูกต้อง” มันต้องมีเหตุผลนะครับ หลักการและเหตุผลมีการตรวจสอบ และข้อสำคัญคือสังคมมีกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้วนะครับ หากทุกคนเคารพสิทธิ ซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพกระบวนการของศาลตัดสินยุติธรรม สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่มีการขัดแย้ง ไม่ว่าจะเจ้าหน้าที่กับประชาชนหรือว่าใครก็แล้วแต่นะครับ

เราจะต้องไม่ตั้ง “ศาลเตี้ย” ไม่ตัดสินปัญหา “ด้วยกำลัง” แต่ควรใช้สติ และใช้กฎหมายบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ดูแลด้วยนะครับ อย่าให้มีการกระทบกระทั่งกันโดยเด็ดขาด ต้องระงับโดยทันที แล้วก็สอบสวนว่าเรื่องอะไรกันนะครับ ให้มันได้ข้อมูลที่แท้จริงแล้วก็กรุณาแพร่สัมพันธ์ให้ประชาชนทราบด้วย เพราะบางทีแพร่ในโซเซียลมีเดียบางเรื่องก็จริง บางเรื่องก็ไม่จริง บางเรื่องก็ตัดสินคนโน้นถูกคนนี้ผิดไป ซึ่งมันทำให้อันตรายมันเกิดขึ้นในสังคมบ้านเราในเวลานี้นะครับ ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ผมอยากให้ทุกคน รวมพลังใจที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไป สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสืบสานแนวทางพระราชดำริ และสานต่อพระราชปณิธาน ด้วยความรู้ รัก สามัคคีของคนในชาติ มุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ มีข้อมูลข่าวสารที่ทุกคนติดตามกันอยู่ในหลาย ๆแง่มุมนะครับ  ผมขอให้ยึดถือช่องทางสื่อสารของรัฐบาล ตามจอภาพข้างล่างนี้ เป็นสำคัญ อย่าหลงเชื่อ หลงแชร์ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่มั่นใจ ไม่สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาได้  เนื่องจากหลายเรื่องมีความอ่อนไหว หลายเรื่องสร้างความสับสน เพราะการแชร์ในสิ่งที่ไม่รู้และไม่จริง นอกจากอาจผิดกฎหมายแล้ว อาจสร้างความเสียหายให้กับสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน รวมทั้งประเทศชาติด้วย

สุดท้ายนี้ในนามของรัฐบาลผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศอีกครั้งที่ได้ร่วมกัน ทั้งร่วมมือร่วมใจให้กำลังใจซึ่งกันและกัน กุมมือกันผ่านช่วงเวลาที่โศกเศร้าแสนสาหัสในครั้งนี้ กลับสู่สติที่มั่นคงและก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน ด้วยปัญญาด้วยพลังและด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและแน่วแน่ ที่จะสืบสานพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ผู้เป็นที่รักเทิดทูนของพวกเราทุกคนนะครับ พระองค์ทรงทอดพระเนตรพวกเราอยู่ จากเบื้องบนลงมา แล้วก็พระองค์ทรงอยู่ในทุกอณูของแผ่นดิน ผืนน้ำและอากาศ

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ




ช่องทางการสื่อสารภาครัฐ

1. สายด่วน 1111 ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.)

2. สายด่วน1567ศูนย์ดำรงธรรม (ทั่วประเทศ)

3. เว็บไซต์รัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th/

4. เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพฯ กรมประชาสัมพันธ์

http://www.prd.go.th/

โทรศัพท์ 0 2618 -3600 อัตโนมัติ 10 คู่สาย

โทรสาร 0 2618 2357

Website :www.prd.go.th

E-mail :[email protected]

Twitter :thaiprdept

IG :thaiprdept

Facebook :ศูนย์ข้อมูลข่าวสารงานพระบรมศพฯ (กรมประชาสัมพันธ์)