ไม้จันทน์หอม.... ไม่ได้มีดีแค่ชื่อ ทำไมถึงใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ

by ThaiQuote, 10 พฤศจิกายน 2559

โดยทางอุทยานฯได้จัดเตรียมไม้จันทน์หอมที่จะใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพไว้ 19 ต้น เพื่อให้คณะผู้แทนจากสำนักพระราชวังคัดเลือก หลังจากคณะเข้าไปสำรวจแล้วได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมไว้ 4 ต้น คือลำดับที่ 11, 12, 14 และ 15 และกำหนดพิธีบวงสรวงตัดไม้จันทน์หอมในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. โดยใช้ฤกษ์ 14.09-14.39 น.

สำนักข่าว Thai quote นำข้อมูลดี ๆมาฝาก สำหรับเรื่องราวของไม้จันทร์หอม ที่ใช้ในพระราชพิธีศพถึงที่มาที่ไป โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่าทำไมต้องใช้ไม้จันทร์หอม เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่ทราบในบางเรื่องบางมุม   

ไม้จันทน์หอม จัดเป็นไม้มีค่าที่หายากชนิดหนึ่ง ถือเป็นไม้มงคลชั้นสูงใช้ในพระราชประเพณี ตั้งแต่สมัยโบราณมาตราบจนปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่าราว ๆ ประมาณ 1,500 ปีก่อนมนุษย์ยังไม่มีการฉีดยาศพหรือฉีดฟอร์มาลีน และวิธีการที่จะรักษาศพไม่ให้มีกลิ่นเหม็นดั้งนั้นในการประกอบพิธีฌาปนกิจศพ จึงใช้ไม้จันทน์มาเป็นส่วนในการประกอบพิธีเพื่อบรรเทากลิ่นศพ

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประเพณีเกี่ยวกับพระบรมศพที่ผ่านมาสำนักพระราชวังได้คัดเลือกไม้จันทน์หอมยืนต้นที่ป่าเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ไปใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า , สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รวมถึงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นั้นก็จะจัดสร้างโดยใช้ไม้จันทน์หอมจากป่าแห่งนี้ด้วยเช่นกัน  โดยเอาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆมาสร้างพระรองประดับพระโกศพระบรมศพ ตลอดจนใช้ทำฟืนหรือดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้เนื้อไม้แข็ง ละเอียด กะพี้สีน้ำตาลอ่อน นิยมใช้สร้างบ้าน หรือตำหนักของเจ้านายสมัยก่อน เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำหอม ใช้ทำเครื่องหอม ธูปหอม ตลอดจนเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ไม้จันทน์หอมจัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓๐ เมตร เรือนยอดเป็น รูปกรวยต่ำ ๆ หรือเป็นพุ่มกลมค่อนข้างโปร่ง พบขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ กันตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณขึ้นทั่วไปเว้นแต่ทางภาคเหนือ และอาจพบขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูนพบใน
จังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ในต่างประเทศพบในพม่า และอินเดีย

ลำต้น มีลักษณะเปลา ตรง เปลือกสีเทาอมขาวหรือเทาอมนำตาล แตกเป็นร่องเปลือกชั้นในเมื่อถากใหม่ๆจะมีสีขาว ทิ้งไว้แห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  

เนื้อไม้ กระพี้ สีขาว แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบตบแต่งง่าย ไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอมจึงใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป น้ำมันหอมที่ได้จากการกลั่นชิ้นไม้ ใช้ปรุงเครื่องหอม และเครื่องสำอาง ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ยังใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้กระหายน้ำและอ่อนเพลียได้อีก

                ที่น่าสนใจก็คือไม้จันทร์หอมเป็นพันธุ์ไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลในจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศไทย  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. มีชื่อวงศ์ว่า STERCULIACEAE มีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อ เรียกอื่นอีกไม่ว่าจะเป็นจันทน์ ,จันทน์ชะมด ,จันทน์ขาว, จันทน์พม่า, จันทน์หอม (เต็ม สมิตินันท์, 2523)
ไม้จันทน์หอมเป็นไม้คนละชนิดกับจัน หรือจันอิน-จันโอ (Diospyros decendra Lour.) และเป็นคนละชนิดกับไม้กฤษณา (Aquilaria malaccensis) ซึ่งบางคนก็เรียกว่าไม้หอมเช่นกัน ควรศึกษาและพิจารณาให้ถ่องแท้ เพราะการใช้ประโยชน์แตกต่างกัน โดยเฉพาะในรูปของสมุนไพรซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ

โดยทั่วไปจัดเป็นพืชหายาก ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีถือเป็นแหล่งอนุรักษ์สายพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้จันทน์หอม โดยพบเป็นหมู่ไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง และด้วยเหตุที่ไม้จันทร์หอมมีความหอมไม่ว่าจะเป็นหรือตาย จึงเปรียบเหมือนคนที่เกิดมาทำความดีเมื่อตายแล้วความดีก็ยังอยู่ คนโบราณจึงใช้ไม้จันทร์หอมมาเผาศพ โดยเรียกว่า “ดอกไม้จันทร์”ตราบจนปัจจุบันนั่นเอง