สั่งรถตู้ปลายทาง 30 จว.เข้าสถานีขนส่ง คัดกรองรถไร้มาตรฐานพ้นระบบ

by ThaiQuote, 19 มกราคม 2560

พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นประธานในการประชุมชี้แจงนโยบายทางการปฏิบัติการนำรถตู้โดยสารสารธารณะ เข้าสถานีขนส่งปลายทางรวมถึงการจัดตั้งสถานีขนส่งชั่วคราว ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีในการจัดระเบียนรถตู้โดยสารที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ และเป็นการดำเนินการในระยะที่ 3 เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยใยการเดินทางของประชาชนประชาชนและ พร้อมสร้างความรับรู้ให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มงานจราจร บริษัทขนส่ง จำกัด ทหารที่รับผิดชอบงานในแต่ละจังหวัดเข้าร่วม

          พล.ต.เฉลิมพลกล่าวว่า เป็นการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งพล.ม. 2 รอ.รับคำสั่งจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 เพื่อให้เป็นตัวแทนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในการประสานงานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดระเบียนรถตู้โดยสารมีความเรียบร้อย สมบูรณ์ ภายหลังที่ได้ดำเนินการนำรถตู้โดยสารในกทม.กลับเข้า 3 สถานีขนส่ง แต่ในส่วนปลายทางต่างจังหวัด รถตู้โดยสารยังไม่ได้อยู่ในสถานีขนส่ง มีการออกรถในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่เอกชน จึงให้หน่วยงานเกี่ยวข้องในต่างจังหวัดได้รับทราบถึงแนวทางการดำเนินการของ คสช.กำหนดให้รถตู้ปลายทางต่างจังหวัดกลับเข้าไปอยู่ในสถานีขนส่งเช่นเดียว กทม. และหากพื้นที่ใดที่สถานีขนส่งจังหวัดนั้น ๆไม่พร้อมให้กำหนดพื้นที่เป็นสถานีชั่วคราว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การขนส่ง 2522 โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการขนส่งจังหวัด และใช้อำนาจนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เทศบาล ทหาร ร่วมกันกำหนด

          “มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการให้รถตู้เข้าไปอยู่การควบคุมการเข้าสถานีขนส่ง บริษัทขนส่ง หรือ บขส.ซึ่งได้รับอนุญาตในการเดินรถ จึงเป็นหน้าที่ของบขส.ที่จะมากำกับการเดินรถและเมื่อนำรถตู้ปลายทางต่างจังหวัดเข้าสถานีได้ บขส.จัดเจ้าหน้าที่มาดูแลได้ทั้งการออกใบเวลา การตรวจสภาพคนขับ ที่ต้องขับต่อเนื่องไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องได้รับการพัก รวมถึงสภาพรถ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล เพราะบางพื้นที่ต่างจังหวัดมีการเช่าพื้นที่ หากผู้ที่มีบทบาท เรียกเก็บเงินเพิ่ม รถแต่ละคันต้องจ่ายเงิน ซึ่งการนำรถตู้เข้าสถานีขนส่ง ถือเป็นการปลดเปลื้องเจ้าของวินเดิมออกจากระบบได้สมบูรณ์”

          พล.ต.เฉลิมพล กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินการภายในเดือน ก.พ.2560 นี้ คณะทำงานจากส่วนกลางไปตรวจสอบแต่ละจังหวัด โดยในข้อมูลมี 30 จังหวัด รถตู้ที่วิ่งได้ไม่เกิน 300 กิโลเมตร เพื่อเกิดความเรียบร้อย

          ส่วนการประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับทราบนั้น ต้องไปดูแนวทางการเดินรถของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีรถตู้หมวด 4 อยู่ด้วย คือวิ่งบริการระหว่างอำเภอภายในจังหวัด คล้ายหมวด 1 ขสมก.ที่วิ่งใน กทม. และปริมณฑล เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องการจัดรถหมวด 4 เพื่อขนคน รับผู้โดยสารไปยังตำบลที่เป็นสถานีขนส่ง ทั้งนี้ทางขสมก.ต้องพิจารณาการเดินรถว่าย่านใดเป็นย่านชุมชนที่มีคนเดินทางไปต่างจังหวัด ต้องกำหนดเส้นทางขนคนไปสถานีขนส่งและต้องเป็นรถวิ่งยาวเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน ทั้งนี้การดำเนินการต้องอยู่ในข้อกำหนดไม่เช่นนั้นอุบัติเหตุ ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เรายอมรับในตรงนั้นไม่ได้ บางส่วนที่กระทบประชาชนบ้าง เพื่อผลประโยชน์โดยรวม

          พล.ต.เฉลิมพลกล่าวว่าสำหรับการบังคับใช้กฎหมายในห้วงเวลานี้ ถือเป็นการคัดกรองผู้ประกอบการด้วย เมื่อรัฐเข้ามาดูแลแล้วต้องไม่ให้ใครมาเก็บเงินเพิ่มเติมเหมือนในอดีต ในการให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซง และยังเป็นการคัดกรองมาตรฐานคนขับด้วย ใครมีพฤติกรรมเดิม ทำผิดซ้ำ โทษจะแรงขึ้นจนถึงเพิกถอนว่าไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่ระบบ

          “ปัญหาที่เกิดขึ้นเหตุผลสำคัญคือการเป็นเจ้าของรถรายย่อย รายคัน ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกผู้โดยสารเกิน ขับรถเร็วทำรอบเพิ่ม ไม่ดูแลสภาพรถ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากเจ้าของรายคันเพราะได้ประโยชน์เข้าตัวเอง จึงเป็นประเด็นสำคัญ เราจึงต้องคัดกรองเจ้าของรายคันให้มีมาตรฐานให้ได้ คันไหนไม่เข้าสู่มาตรฐานปรับเพิกถอนไปตามข้อกฎหมาย ขอเรียนพี่น้องรถตู้ไม่ใช่เรื่องการทำมาหากิน โดยการออกรถมาวิ่งหากรถประสบอุบัติเหตุ ซ่อม 7 วันไม่มีเงินเข้าบ้าน ยังไม่รวมค่าสูญเสีย ค่าสินไหมต่าง ๆ ดังนั้นรถโดยสารประจำทางต้องดำเนินการในรูปแบบบริษัทถึงจะควบคุมได้”

Tag :