นายกฯ ชื่นชม “ลุงดำ” ชาวสวนยาง ตัวอย่างผู้ที่ให้ความรักกับสังคม

by ThaiQuote, 10 กุมภาพันธ์ 2560

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งนะครับที่ได้มาพูดคุยกับพี่น้องระชาชนอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ผมมีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง ก่อนอื่นผมอยากจะน้อมนำอีกหนึ่งในศาสตร์พระราชามาเล่าสู่กันฟังนะครับ

โลกวันนี้นั้นเต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ ความสับสนอลหม่านนะครับ เพราะฉะนั้นใครที่ขาดสติก็อาจถูกกิเลสครอบงำโดยง่าย ขาดภูมิคุ้มกัน เพราะงั้นมนุษย์เราก็ควรจะมีหลักธรรมคำสอนทางศาสนาเป็นเครื่องนำทางนะครับ เพื่อจะใช้เป็นเกราะป้องกันตัว เป็นภูมิคุ้มกันอยู่เสมอ

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ได้ทรงเห็นถึง “ภัยเงียบ” ต่างๆ เหล่านี้ แล้วได้ให้แนวทางพระราชทานในการที่จะสร้างเกราะป้องกันตนเอง ป้องกันครอบครัว ป้องกันสังคม ด้วยคำว่า “บวร” นะครับ ที่มาจากคำว่า บ้าน - วัด - โรงเรียน ที่เป็นการเชื่อมโยง  3 สถาบันหลักของไทย เพื่อนำมาใช้ในการเอาชนะ “มลพิษทางจิตใจ” และ สร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชาติและชุมชนตั้งแต่ระดับฐานรากขึ้นมาเลยนะครับ

พ่อแม่พี่น้องครับ ในส่วนตัวผมนั้นก็เชื่อว่า “ศาสตร์พระราชา”นี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างชาติ ด้วยการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็คือประชาชนทุกคนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้มีจิตใจสูง ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมได้ทุเลาเบาบางลง และเปลี่ยนหนักให้เป็นเบาได้นะครับ

ในวันพรุ่งนี้ 11 กุมภาพันธ์ เป็น “วันมาฆบูชา” ผมอยากให้พวกเราคนไทยทุกคน โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน ที่ยึดมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปกครองบ้านเมืองโดยยึดหลัก “ทศพิธราชธรรม” ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา

สำหรับสามัญชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นั้นผมขอให้ยึดหลักธรรมสำคัญ อันเป็นหัวใจ เป็นแก่นแท้ ทางศาสนาพุทธอยู่ 3 ประการก็คือ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” เพียงเท่านี้นะครับ สังคมของเรา บ้านเมืองของเราก็จะเป็นปกติสุข สิ่งที่เคยเป็นปัญหาในบ้านเมืองเรามาไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปนะครับ

พี่น้องประชาชนครับในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นก็มีเรื่องที่เป็นสิริมงคล มีความสำคัญกับปวงชนชาวไทยอยู่ 2 ประการด้วยกันซึ่งผมจะขอนำมากล่าวย้ำในวันนี้อีกครั้งนะครับ

เรื่องแรกก็คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯกำหนดให้ “วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี” เป็น“วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา”ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรเป็น “วันชาติ” และเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” อีกด้วยนะครับ

ทั้งนี้ก็เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานต่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์เสมอมา นอกจากนั้นท่านทราบไหมครับว่า “วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี” มีความสำคัญกับชาวโลกอย่างไร?

ผมก็จะขอให้ทุกท่านได้ภูมิใจว่าสำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็น “วันดินโลก” ทั้งนี้ก็เพื่อให้โลกได้ตระหนักว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนประสบผลสำเร็จ สร้างคุณประโยชน์ทั้งแก่ชาวไทยและชาวโลกอย่างกว้างขวาง สมกับพระนาม “ภูมิพล” ของพระองค์ท่านนะครับที่แปลว่า “กำลังของแผ่นดิน”

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเสด็จฯ ทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชด้วยพระองค์เองในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 17.00 นาฬิกา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ผมก็หวังว่าเรื่องราวทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นสิริมงคลเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์นี้ ซึ่งจะช่วยทำนุบำรุงขวัญและกำลังใจให้กับคนไทยทั้งชาติ และเราก็ถือเป็นพลังอำนาจของชาติที่ “ไม่มีตัวตน” แต่ก็กลับมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพลังอำนาจทางทหาร หรือเศรษฐกิจ

ผมเชื่อว่าหากพลังเหล่านี้นะครับ ซึ่งเป็นพลังทางสังคมที่อาจจะจับต้องไม่ได้ทางกายภาพนะครับ มีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นปรองดองสมัครสมานสามัคคีกันแล้ว ไม่ว่าจะเกิดภัยน้อย - ใหญ่ หรือภัยจากภายนอก – ภายในก็ไม่อาจจะไม่สามารถทำอันตรายบ้านเมืองของเราได้นะครับ ผมอยากฝากประชาชนช่วยคิดว่าเราจะแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองของเราได้อย่างไรนะครับ เราก็ควรจะต้องมีหลักคิดนะครับ ไม่ใช่คิดอย่างเดียวต้องมีหลักคิดนะครับในเรื่องประชาธิปไตยเรื่องของความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจและสังคม เราจะคิดกันได้อย่างไรนะครับ ต้องมีหลักการและเหตุผล แล้วก็ทำอย่างไรการศึกษาของเรานั้นจึงจะสอนให้คนของเรา “คิดเป็น” คิดโดยใช้หลักการคิดที่ถูกต้องนะครับ ไม่ใช่เฉพาะคิดเป็น อาจจะคิดเป็นแต่คิดไม่ดีก็ได้ เพราะงั้นต้องมีหลักการคิดที่ถูกต้อง เจตนาก็เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีและได้ปฏิบัติตนตามความคิดที่ดีเพื่อประโยชน์ เพื่อชาติบ้านเมือง และของตนเองด้วยนะครับ อันนี้ก็ไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าให้นายกรัฐมนตรี - รัฐบาล คิดแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ แล้วก็ประเด็นสำคัญก็คือว่า แล้วเราจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการคิดร่วมกัน ด้วยหลักการเดียวกันนั้นได้อย่างไร โดยไม่เพียงเฉพาะคาดหวัง กดดันรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ,

ประเทศไทยในวันนี้ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนทั่วไปก็ไม่ต่างไปจากเราเป็น “คนป่วย” นะครับ อาจจะเบาลงแล้วล่ะโรคที่เราป่วยมากอาจจะป่วยน้อยนะครับ แล้ววันนี้เราก็มีการ กินยาควบคุมอาการเอาไว้ด้วยนะครับ เสริมด้วยการให้วิตามิน สร้างความเข้มแข็งไปเรื่อย ๆ เพราะงั้นถ้าเราต้องระมัดระวังนะครับ ขาดยาเมื่อไหร่ โรคต่างๆ เหล่านั้นก็จะกำเริบ ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้นะครับ นับวันถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพราะงั้นเราจะเห็นว่าอาการป่วยที่ว่านั้น ในสังคมเราก็เห็นทุกวัน เห็นได้จากในเรื่องของการใช้ความรุนแรงทั้งในครอบครัว, สถานศึกษา,ในสังคมนะครับ การทุจริต, การแพร่ระบาดยาเสพติด เหล่านี้เป็นต้น อาการเหล่านี้ส่งผลกระทบเชื่อมโยงกับเราแยกออกได้ยากนะครับ ทำให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นสุข เกิดเด็กแว้น,  เกิดวัยรุ่นตีกัน, นักศึกษาตีกัน, ระเบิดอารมณ์ใส่กันกลางถนน, ลักเล็กขโมยน้อย, จี้ปล้น อาชญากรรมทุกวัน ที่เห็นอยู่นี้นะครับเป็นอาการเรื้อรัง ก็เป็นมาโดยตลอด

ลองคิดตามผมดูนะครับว่าพวกเราทุกคนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ต้นตอ” ปัญหาหรือไม่ ถ้าเรารู้จัก “พอเพียง” เงินรายได้ที่ไม่พอใช้อาจไม่เป็นปัญหาสำคัญนะครับ เราเคยใช้คำพูดในโซเชียลที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชังกันบ้างหรือไม่ เราเคยดื่มสุราจนขาดสติ อาละวาด โมโหทำร้ายร่างกายใครหรือคนในครอบครัวหรือเปล่านะครับ สื่อสิ่งพิมพ์ของใคร ที่เคยเสนอสิ่งที่สร้างความขัดแย้ง ความไม่สงบ ไร้จรรยา บรรณ ออกสู่สายตาประชาชนมีบ้างหรือไม่นะครับ

ประเด็นสำคัญก็คือ เราเคยทำผิดกฎหมาย, เคยละเมิดสิทธิผู้อื่น เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายหรือไม่นะครับ เคยเพิกเฉยต่อศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมบ้างหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ ที่ผมกล่าวมาเหล่านี้นั้นล้วนเป็นปัญหาที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ในการรักษาอาการเรื้อรังเหล่านี้ผมอยากให้ทุกคนใช้คำสอนของศาสดาในทุกศาสนาที่ท่านเลื่อมใส ศรัทธาเป็นเครื่องมือในการสร้างความยับยั้งชั่งใจ ให้มีสติ ปล่อย ละวาง มีการให้อภัยในเรื่องที่เป็นปัญหาเล็ก ๆ ก่อนที่จะบานปลาย เป็นปัญหาใหญ่ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนหยุดยั้งไม่ได้นะครับ กลายเป็นอนาธิปไตยทำนองนั้นนะครับ

มีอีกอย่างที่อยากให้ลองยึดถือและปฏิบัติ ก็คือ “อย่าคิดว่าเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ...แล้วเราก็ทำ อย่าเห็นว่าเป็นความดีเพียงแต่เล็กน้อย...ก็ไม่ทำ” ให้ลองนึกถึงคนรอบข้างนะครับ ลองทำดีกับคนที่เราไม่รู้จัก วันละเล็กละน้อย ซึ่งก็ไม่น่าจะยาก แรก ๆอาจจะยากหน่อยนะครับถ้าไม่เคยทำ แต่ถ้าหากทุกคนทำได้ผมคิดว่าเราจะช่วยยกระดับจิตใจของเราทุกคน และสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชนของเราได้เป็นอย่างดี

ผมขอนำเรื่องของ นายจำรัส แซ่อี้ง หรือที่เรียกว่า “ลุงดำ” นะครับ แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นตัวอย่างให้พวกเราได้ฟังกัน ลุงดำนั้นก็เป็นชาวสวนยางพารานะครับ ที่ได้ปลูกต้นกล้วย 2 ฟากถนนสายนาบอน-แก้วแสน อ. นาบอน เป็นระยะทางถึงกว่า 6 กิโลเมตร ลุงดำตั้งใจว่าต้องการช่วยชีวิตผู้คนในกรณีที่เกิดรถเสียหลักตกข้างทาง เพราะต้นกล้วยที่ปลูกไว้นั้น จะช่วยลดแรงปะทะของรถยนต์ลงได้มาก อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นลุงยังคอยดูแลตกแต่งต้นกล้วยเป็นประจำ เพื่อไม่ให้บทบังทัศนียภาพของถนน การกระทำเช่นนี้ของลุงดำได้ช่วยชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากนั้น ลุงดำยังได้นำกล้วยมาทำเป็นกล้วยฉาบเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่จะเดินทางไปถวายสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  เพื่อแทนบุญคุณของแผ่นดินและพระองค์ท่านอีกด้วยนะครับ  ผมขอชื่นชมลุงดำและก็ขอยกให้เป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องของผู้ที่ให้ความรักและความปรารถนาดีกับคนรอบข้าง หากพวกเราคิดได้ทำได้อย่างลุงดำ ไม่มากก็น้อยก็ช่วยทำให้ชุมชนและประเทศชาติเข้มแข็งขึ้น

พี่น้องประชาชนครับ

ในชีวิตจริงหลาย ๆ เรื่องก็อาจทำไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ แม้ในเรื่องของการครองตนครองเรือน ยิ่งในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินนั้นก็มีทั้งการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายนั้นด้วย หลายอย่างเราทำตามใจตนเองทั้งหมดคงไม่ได้นะครับ แม้กระทั่งผมเองเราคงจะต้องอิงกฎ กติกาสากลไว้ด้วย ดูว่าโลกเขาคิดกันอย่างไร วันนี้เขาเดินหน้าไปถึงไหน เราจะคิดขวางโลก เป็น “จระเข้ขวางคลอง” ไปทุกเรื่องก็คงไม่มีใครคบด้วยนะครับ หรือเราจะก้มหน้า “ใส่เสื้อโหล” ที่เขาตัดมาให้เบอร์เดียว แล้วก็ให้ใส่กันทั่วโลกก็เป็นไปไม่ได้อีกนะครับ เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีประวัติศาสตร์ มีโครงสร้างสังคม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความเป็นมาเป็นไป เป็นของตนเองทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้อยู่นอกกฎเกณฑ์เหล่านี้ ทุกคนก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่า เราต้องรู้จักประยุกต์หลักการสากล มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ก็เหมือนกับไปตัดเสื้อนะครับ สั่งตัดเสื้อตามร้านซึ่งก็วัดพอดีกับตัวเราเอง ก็คงจะทำให้เราสวมใส่อย่างสบาย ดูดีมีสง่าไม่หลวม ไม่คับ ไม่รัดจนอึดอัดน่าเกลียดนะครับ ก็เช่นกันนะครับ ประเทศก็ต้องเดินหน้าไปแบบนั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ผมยึดถือมาโดยตลอดก็คือ เราทำอะไรก็ตามนั้น เราควรจะคิดถึงเรื่องการป้องกันไว้ดีกว่าแก้นะครับ  การออกกฎหมายก็เช่นกัน วันนี้เราออกกฎหมายมามากมาย เพราะงั้นเราต้องไปดูซิว่ากฎหมายที่ในเชิง ป้องกัน ป้องปรามนี่มีเพียงพอหรือยังนะครับ หรือจะทำควบคู่ไปกับ “มาตรการลงโทษ” ที่เหมาะสมได้อย่างไรอาทิเช่นกฎหมายจราจรก็มุ่งหวังในเรื่องของการป้องกัน ความเสียหายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สิน ของตนเองและของผู้อื่น

ทั้งนี้เราก็มองเห็นว่าประชาชนทุกคน ทุกชีวิต เป็นทรัพยากรที่มีค่า มีความสำคัญต่อประเทศ เพราะงั้นการสูญเสียคนก็คือการสูญเสียโอกาสและพลังขับเคลื่อนของประเทศ แต่การที่เราใช้บทลงโทษที่รุนแรงมีกฎหมายมากมาย ก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า เราจะห้ามสิ่งเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมานะครับ ไม่ละเว้นเป็นธรรม เป็นไปตามกระบวนยุติธรรมนั้น ผมเห็นว่าเป็นความสำคัญที่จะช่วยระงับเหตุได้ตั้งแต่ต้นตอนะครับ ข้าราชการทุกคนต้องพึงปฏิบัติ ประชาชนก็ต้องร่วมมือนะครับ

“ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้สอนให้เรารู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายหมายนั้นเราต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ควบคู่กันไป ด้วยข้อคิดในเรื่องนี้ก็คือว่าเราอาจจะต้องจำเป็นต้องพิจารณานำมาปรับใช้ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ประกอบการ ทั้งที่สุจริต และไม่สุจริตด้วยนะครับ เราจะต้องคิดหาจุดสมดุลเหล่านี้ให้ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้วก็ไม่ทำลายโอกาสในสังคม หากว่าวันนี้มีสิ่งใดที่ทำให้เกิดการติดขัด ขัดแย้ง ไม่น่าเชื่อถือหรือถูกกล่าวหาว่า 2 มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้เราก็ทำงานต่อไปไม่ได้ เดินหน้าไม่ได้ เราต้องช่วยกันแก้ไขให้ได้นะครับ

วันนี้ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนคงพอเข้าใจมากขึ้นบ้างแล้ว มากบ้าง น้อยบ้างว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้น อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด ก็เหมือนกับเชือกเส้นหนึ่งที่ตึงเกินไปก็ขาด หย่อนไปก็ไม่ได้นะครับ  ยิ่งในเรื่องที่เป็นประเด็นระดับโลกเช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น, ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไรก็ตาม ยาเสพติดที่กำลังแพร่หลายอยู่ในวันนี้ อาชญากรรมข้ามชาติซึ่งนับว่าจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การก่อเหตุรุนแรงการก่อการร้าย, การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, หรือโรคระบาด ประเด็นเหล่านี้นะครับเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องพึงนึกถึง แล้วก็ร่วมกันรับผิดชอบ “ร่วมกัน” แม้จะเป็นกิจการภายในของประเทศเราเอง แต่เราก็ไม่อาจจะเลี่ยง ไม่คำนึงถึงกรอบใหญ่ของโลกได้นะครับ ทุกเวทีประชาคมโลกเขาติดตามกันอยู่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อให้เราไม่หลุดกรอบเหล่านั้น เพราะว่ามีองค์กรระหว่างประเทศ ต่างประเทศหลายองค์กร จับตาดูอยู่นะครับ ถ้าผิดพลาดมาเราก็อาจจะถูกมาตรการลงโทษ กีดกันทางการค้า หรือกดดันเรื่องอื่นๆ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ซื้อสินค้าไม่คบค้าสมาคมด้วยนะครับ เหล่านี้เป็นต้นนะครับ

เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็ถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังดีอยู่นะครับ ขอให้ทุกคนได้ตั้งใจแล้วร่วมมือกันต่อไป โจทย์ของเรา ของรัฐบาลนี้และทุก ๆ รัฐบาลก็คือว่า เราจะสร้างความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้กับประเทศไทยได้อย่างไร เราจะต้องมีจุดยืนของเราเองโดยยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติ แล้วก็มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นที่ตั้งภายใต้กรอบใหญ่ที่เป็นสากล เราคงไม่อาจพูดได้ว่าประเทศของเรา หรือคนไทยนั้นจะทำอะไรก็ไม่เห็นต้องคำนึงถึงคนอื่น เพราะประเทศไทยนั้นมีหลาย ๆ อย่างที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว อยู่คนเดียวได้ หรือจะยึดมั่นในมาตรการโดดเดี่ยวในโลกใบนี้ได้ วันนี้โลกเป็นยุคโลกาภิวัตรแล้วนะครับ โลกโตเร็ว เปลี่ยนแปลงไว เรายิ่งต้องติดตามข่าวสารแล้วก็มีการประเมินความเสี่ยง มีแผนเผชิญเหตุทุกเรื่องอย่างรู้เท่าทันนะครับ แล้วก็สร้างความสมดุลให้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดนโยบาย บทบาทหรือการวางจุดยืนของประเทศที่ชัดเจนแล้วก็เหมาะสมอีกด้วย

ในวันนี้ทุกคนคงรับรู้แล้วว่า “สื่อโซเชียล” นั้นมีอิทธิพลสูง และแพร่กระจายออกไปได้กว้างขวาง ทั้งในสังคมไทยและโลกอย่างรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวหรือสร้างข่าวได้เองและผู้คนสามารถเสพข้อมูล รับรู้เรื่องราวต่าง ๆได้รวดเร็วเป็นวินาที หรือเสี้ยวนาทีนะครับ สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุดก็คือการสร้างการรับรู้ที่ผิด ๆ บิดเบือนไป โดยไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งเราไม่อาจแก้ไขได้อย่างรวดเร็วนะครับ จะยากขึ้นเรื่อยๆ ใครพูดก่อน ใครเขียนก่อนก็ได้ก่อน ทำนองนั้น บางอย่างนี่ผิด แล้วก็สร้างการรับรู้ผิด ๆ ไปแล้ว คนก็เชื่อไปแล้วอันนี้มีปัญหา เมื่อออกไปสู่สังคมโลกแล้วนั้นก็เสียไปทั้งตัวเอง ทั้งประเทศชาติ ผลประโยชน์ส่วนรวมก็หายไปนะครับ  ผมก็ขอความร่วมมือนะครับ ให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้พึงระลึก แล้วก็แจ้งเตือนกันช่วยกันทำความเข้าใจ หาข้อมูลให้ดี รัฐบาลก็พร้อมจะตอบคำถามนะครับ ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นใดที่เป็นความขัดแย้ง ผมหวังแต่ว่าให้สถานการณ์สงบไม่วุ่นวาย เราจะได้ใช้เวลาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือแก้ปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรืออื่นๆ นะครับ ให้ได้รับแก้ไขด้วยคนไทยด้วยกันเองนะครับ เราก็ไม่อยากให้ใครมาช่วยเรา หรือทำแทนเราได้ ที่เขาเรียกว่า “ยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ” เป็นหลักการว่าเราต้องแก้ไข ทำความเข้าใจกันเองให้ได้นะครับ มีความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย ที่สำคัญก็คือเราจะไม่ยอมให้ใครมามีอำนาจเหนืออธิปไตยของชาติไทยเราได้อีกด้วยนะครับ

เราต้องมีหลักคิดนะครับ ผมขอย้ำคำว่าหลักคิดนะ พี่น้องประชาชนครับ, หลายคนที่สนใจติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิดก็อาจจะมองเห็นว่า หรือบอกได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลนี้เป็นอย่างไรนะครับ ก็แล้วแต่ท่านจะคิด ท่านจะติดตาม บางอย่างนั้นเราก็ทำได้ บางอย่างทำทันทีเสร็จเร็ว บางอย่างทำได้แบบต้องค่อยๆ ทำเพราะความขัดแย้งสูง หลายอย่างเสร็จแล้ว หลายอย่างเริ่มไว้ก่อน หลายอย่างก็ต้องเตรียมส่งต่อนะครับ หลายอย่างต้องเก็บมาจากรัฐบาลก่อน ๆ คือต้องมาทำทั้งหมดนะครับ เพียงแต่ว่าเราต้องมาจัดระเบียบให้ดีในกรอบของการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้จ่ายงบประมาณ หรือการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ นั้น วันนี้ต้องมีการร่วมกันนะครับเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน แล้วก็โปร่งใส เน้นเหล่านี้นะครับ รัฐบาลก็มุ่ง เน้นจะกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจกระจายความเจริญนะครับ ไปยังภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด แล้วก็ชุมชน หมู่บ้านนะครับ

ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นจะต้องมีบทบาท ในฐานะ “พ่อเมือง” นะครับ วันนี้ก็เป็นข้าราชการทั้งสิ้น แล้วก็ทำงาน “ต่างพระเนตรพระกรรณ” ตามหน้าที่กับภารกิจที่ได้ทรงมอบหมายไว้ให้นะครับ ก็จะต้องมีหน้าที่ในการกำกับดูแลหน่วย งาน เจ้าหน้าที่จากทุกกระทรวงก็ขอความร่วมมือจากทุกกระทรวงด้วยนะครับว่าต้องให้ผู้ว่าราชกรจังหวัดนั้นเป็นผู้ขับเคลื่อนจังหวัดในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความต้องการในพื้นที่ที่เรียกว่า Area Base นะครับ ทั้งในด้านความมั่นคง, เศรษฐกิจ, สังคม  และสิ่งแวดล้อมต้องจบตั้งแต่ข้างล่างมาก่อน แล้วเสนอขึ้นมาข้างบนก็จะพิจารณาแล้วอนุมัติลงไป แล้วก็เติมลงไปให้นะครับ ในสิ่งที่เป็นโครงสร้างหรือเป็นเครือข่าย เพราะฉะนั้นในเรื่องของการกระจายความเจริญนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ผมกล่าวมาแล้ว คือเป็น “กลุ่มจังหวัด” เป็น “ภูมิภาค” ตามนโยบาย อย่างไร้รอยต่อนะครับ อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศจะเชื่อมโยงกันอย่างไรกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นศูนย์รวม ศูนย์กระจายสินค้ากันบ้างหรือเปล่า หรือการลงทุนประเภทอื่นๆให้ตรงกับศักยภาพหรือทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งคนไทย คนต่างประเทศ ที่จะมาลงทุนร่วมกัน ที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเรากำหนดไว้เป็นโครงการระดับชาตินะครับ เรียกว่า EEC, แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือภาคใต้นะครับทำยังไงจะสงบสันติ มีการพัฒนาเราก็มีโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นะครับ แล้วก็มีในเรื่องของ Smart City ด้วย

ในทุกกิจกรรม ทุกกลุ่มงาน ทุกกระทรวง ต้องคิดตามด้วยนะครับ ทำงานด้วยการทำงานเชิงรุก ด้วยวิสัยทัศน์ ด้วยการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัตินะครับ เพื่อจะให้ทุกภาคนั้นได้มีการเจริญเติบโตด้วยตนเองในทุกมิติ ลดการผลิต ลดการตลาดนะครับ ที่มีการแข่งขันหรือมีการผลิตที่ซ้ำซ้อน แล้วเราก็ไม่ผลิตหรือสร้างอะไรที่เกินความจำเป็นนะครับ คือเรียกว่ากำหนด ดีมาน ซับพลาย ให้ต้องกัน ให้สอดรับกันอย่างแท้จริงในทุกมิติ

หลายท่านนะครับ ก็อาจจะฝากความ หวังไว้กับการทำงานของป.ย.ป.  ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่นะครับ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องเดิมนั่นแหละครับ แต่ผมก็ดีใจที่ทุกคนให้ความสนใจ แล้วก็ทำให้มีกำลังใจในการทำงานของรัฐบาลขึ้นไปอีกนะครับ แต่ก็ไม่อยากให้เข้าใจว่าคำว่า ป.ย.ป. หรือคณะกรรมการ 3 – 4 คณะนั้นเป็น “ยาวิเศษ” ที่รักษาทุกโรคได้ทันทีทันใจ เพราะ ป.ย.ป. นั้นก็ถือว่าเป็นการปรับปรุงพัฒนารูปแบบในการทำงานของรัฐบาล แล ค.ส.ช.  ผมก็คิดหาเครื่องมือในการทำงานใหม่ ๆ เพื่อ “ลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง” เพิ่มศักยภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้ทันต่อเวลา และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะครับ เราก็จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลเพื่อจะบ่งชี้ปัญหา แสวงหาวิธีการแก้ไข ทั้งในเชิงลึกและยั่งยืนเพราว่ากลไกในการแก้ปัญหาประเทศนั้นก็อยู่ที่รัฐนะครับ จะต้องกำกับดูแลขับเคลื่อนส่วนราชการต่างๆ โดยครม. และส่งต่อไปยังส่วนราชการถึงประชาชน ผมก็ดูแล้วว่าปัจจุบันนั้นในสถานการณ์ที่เราต้องมีการปฏิรูปนั้นยังไม่เพียงพอ ไม่เร็วพอนะครับ ผมก็เลยคิดเริ่มแก้ไขด้วยการให้มี กขป. 6 คณะในช่วงที่ผ่านมานะครับ แล้วก็ให้คำนึงถึงการบูรณาการ การปฏิรูป อย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานด้านปฏิรูปมีการส่งต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง และมีผลเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น จากห้วงที่ผ่านมาที่ขับเคลื่อนด้วย กขป. วันนี้เราก็จะต้องสร้างเครื่องมือขึ้นมาอีกชุดหนึ่งที่ว่าก็คือ ป.ย.ป. นะครับ แล้วคณะหนึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับอีกคณะหนึ่งนะครับ เพราะว่าทั้งหมดนี่ก็คือ เราตั้งโจทย์มา เรามีวิธีการ เรากำหนดระยะเวลาที่จะต้องทำในแต่ละเรื่องจัดลำดับความเร่งด่วน ทั้งหมดก็จะส่งต่อกลับเข้ามาที่ของเดิมนะครับ ที่ครม. ค.ส.ช. กขป. ก็นำมาผลิตนำมาขับเคลื่อนนำมาปฏิบัติ เพราะว่าทุกวันนี้รัฐบาลก็ไม่ได้หยุดในการทำงาน ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในกล่องเดิมก็คือ กขป. (คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ) ขับเคลื่อน วันนี้ก็มีกล่องอีกกล่องหนึ่งขึ้นมา อันไหนที่เร่งด่วนก็ไปเข้าคณะหนึ่ง   อันไหนที่เป็นเรื่องปรองดอง  ปรองดองในเรื่องเศรษฐกิจ  เรื่องความขัดแย้ง  อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ก็ไปแก้กันกันในกล่องนั้น  แต่ทั้งหมดผลผลิตก็มาที่ ปยป.(คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง)  ปยป. ก็คือรัฐบาลนั่นแหละครับ แล้วก็ลงมาทางซ้ายเหมือนเดิมแหละ ให้ไปทำงานให้ครบ  ที่ผ่านมาหลายคนก็ไม่เข้าใจว่าเอ๊ะทำอะไรไปบ้างแล้ว  (มีแต่ สปท. ออกมาพูด  สนช.  ออกมาพูด แกะเทปไม่ชัดในตัวย่อ) มันก็เลยกลายเป็นเหมือนรัฐบาลไม่ทำงาน จริงๆแล้วมันทำแล้ว  วันนี้ก็ไปรวบรวมมาเพิ่มเติมอีก อันนี้ทำเสร็จแล้วนะ อันนี้ก็ไปเอามาเพิ่มซิ  ที่เห็นมันตรงกันหรือยัง  บางอย่างตรงกันแต่บางทีรู้ไม่ทั่วกัน เพราะว่าฝ่ายคิดก็คิด คิดถึงหลักการและเหตุผล แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรในวิธีการ แต่รัฐบาลต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาขับเคลื่อนก็ต้องไปคิดวิธีการมา

วันนี้ก็จะเอาวิธีการเหล่านี้ให้เขารู้ด้วย ไม่งั้นคนคิดก็คือคนคิด ไอ้คนทำก็คือคนทำ  มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ทั้งหมดนะครับ ขณะเดียวกันความขัดแย้งมันก็มี มีทั้งผู้หวังดีหวังไม่ดีอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็ทำให้หลายอย่างหยุดชะงักไปก็ขอเพียงความเข้าใจนะครับ ขอให้ทุกคนที่คิดว่ามันน่าจะดีกว่าต่อประเทศชาติก็ขอความร่วมมือนะครับ   ใครที่คิดว่าไม่ตรงตัวเองก็กรุณาเสนอความคิดเห็นให้เป็นประโยชน์นะครับ ไม่ใช่ให้ไปติติงโดยไม่มีหลักการและเหตุผล ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอมันทำให้สังคมไม่เข้าใจ แล้วก็สับสนอลหม่านวุ่นวายไปเหมือนเดิมๆที่ผ่านมา ขอร้อง

ในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เราไปดูแล้วว่า เอ๊ะการส่งออกเรามีปัญหานะ  ส่งออกได้มากได้น้อยต้องไปดูซิว่า เรามีความพร้อม มีความเข้มแข็ง มีการเสริมสร้างในเรื่องนวัตกรรม   หรือผลิตผลใหม่ ๆที่ออกไปแข่งขันทางการตลาดได้หรือยัง   มีความเข้มแข็งเพียงพอมั้ย  มีขีดความสามารถในการแข่งขันหรือเปล่า  เหล่านี้ มันทำให้การส่งออกเรามีปัญหา เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องคิดใหม่ว่าเราจะพึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นทั้งฐานการผลิต ทั้งเป็น Trading Center นะครับ  คือ ผลิตเองใช้เอง  แล้วก็ส่วนหนึ่งก็ผลิตส่งออก เรื่องนวัตกรรมแล้วก็ภายในเราเองก็สร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่การผลิต และไปเชื่อมโยงกับห่วงโซ่ต่างประเทศ  ทั้งจากการลงทุน นักลงทุนต่างประเทศ – นักลงทุนไทย –SMEs, Start-up, e-Commerce  ต่างๆ ทั้งหมดมีการพัฒนาทั้งระบบ ก็ต้องใช้เวลาวันนี้หลายอย่างก็ออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของการ e-commerch  บางกิจกรรมอาจจะเป็นการใช้ e-payment หรือ promt pay ต่างๆ เหล่านี้ก็ออกไปตามลำดับ นะครับ

กติกาสากล พรบ.อำนวยความสะดวก การทำกิจกรรมต่างๆ การค้า การลงทุน  ก็ทำให้สะดวกมากขึ้น มีตั้งหลายสิบกิจกรรม   แม้กระทั่งการแก้ปัญหาในเรื่องของอะไรล่ะ  ประมง  ก็ออกกฎหมายมาตั้ง 90 ฉบับ  ไม่งั้นทำงานอะไรไม่ได้ทั้งสิ้นมันพันกันไปหมด นะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  แก้ปัญหาการเริ่มต้นใหม่ การทำให้เข้มแข็ง ยั่งยืน  มันก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย  และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความเข้มแข็งของประเทศ  ประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ นะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม  เราจะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเราจะลืมเรื่องคนไม่ได้  เราต้องพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพทั้งประเทศ    เป็นคนที่มีคุณภาพคือเป็นคนที่มีการศึกษา เป็นคนที่มีหลักคิด  และมีการคิดในสิ่งที่ดี  ปฏิบัติในสิ่งที่ดี มีทัศนคติที่ดี มีจิตสำนึกที่ดี เหล่านี้คือการพัฒนาคน นะครับ และคนก็มีหลายพวก หลายฝ่าย หลายกลุ่ม  แต่ละกลุ่มก็มีการพัฒนาในกลุ่มของตนเอง    รัฐบาลอยู่ตรงไหนก็ช่วยกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก็ไป แต่ตัวเองก็ช่วยตัวเองด้วยนะครับ  ภาคเอกชน ธุรกิจวันนี้ก็ตกลงกันว่าจะไปช่วยรัฐบาลในการพัฒนาคนด้วย   ตามโรงงาน ตามพื้นที่ ตามภูมิภาค  รับผิดชอบโรงเรียนโน้นโรงเรียนนี้  อาชีวะเข้ามาส่งเสริมเป็นที่ฝึกงานของเด็ก    มันก็เกิดขึ้นทั้งหมดในสมัยนี้นะครับ  ที่ผ่านมามันก็มีอยู่บ้างนะครับ แต่มันก็ช้าเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าเรามีการพัฒนาคนให้ดี  พัฒนาระบบให้ดี จัดการบริหารจัดการให้เหมาะสม   สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทายของโลกใบนี้ หรือของประเทศไทย   ถ้าเราเตรียมการเหล่านี้ไว้ทุกเรื่อง ทุกหน่วยงานและทำทุกอย่างให้มีนประสานสอดคล้องกัน เป็นการทำงานเชิงรุก ฉะนั้นทุกคนก็ต้องเหน็ดเหนื่อยนะครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บังคับบัญชาของทุกหน่วยงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาของทุกหน่วยงานก็ต้องขับเคลื่อนไปกับผู้บังคับบัญชาด้วย  ไม่ใช่มีไม่มีกี่คนที่ขับเคลื่อนอยู่ ข้างล่างก็ทำงานไปเรื่อยๆ อย่างนี้มันไปไม่ได้หรอกครับ นะ เพราะประเทศชาติไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยคนไม่กี่คน แต่ขับเคลื่อนด้วยคนทุกคน  ด้วยคนเกือบ 70 ล้านคน  ต้องไปด้วยกันทั้งหมดนะครับ

เพราะฉะนั้นผมก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งนะครับว่า การที่เราจะเอาชนะต่ออุปสรรคต่างๆ ของประเทศ ที่เรียกว่ากับดักอะไรก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่มันก็เกิดจากปัญหาในเชิงนโยบาย  เชิงโครงสร้าง  เราต้องอาศัยความเข้าใจ + ความร่วมมือ  คือหลายอย่างนั้นจะต้องคลี่ออกมาให้หมดนะครับ

ปัญหาของประเทศไทยมีไม่กี่เรื่อง   เรื่องแรกก็คือคำว่า “ประชาธิปไตย”  มันเป็นอย่างไรกับ “อนาธิปไตย”มันเป็นอย่างไร  ก็ต้องทำความเข้าใจว่ามันควรจะเป็นอย่างไร อันที่สองก็คือในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเป็นธรรมในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม อันที่สามคือการศึกษาที่ต้องสร้างหลักคิดและทำให้คนนั้นรู้จักคิดในสิ่งที่ดี  ทำความดี มีจิตสำนึกที่ดีเหล่านี้  สามเรื่องเนี่ยผมว่ามันครอบคลุมในทุกปัญหาน่ะแหละ   เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนได้เข้าใจ ได้แก้ปัญหาร่วมกัน  รัฐบาลก็จะแก้ปัญหาในเชิงนโยบายที่มีหลายประการด้วยกันนะครับ  อาทิเช่น ผังเมือง ในการที่แก้ปัญหาน้ำหลาก – น้ำท่วม–ฝนแล้ง หรือว่าชุมชนเมืองที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย  แต่มันมีผลกระทบกับประชาชนที่มีรายได้น้อย  ถ้าเราไม่คำนึงถึงธรรมชาติของประเทศไทย  ที่สูงที่ต่ำ  ทางน้ำไหล เหล่านี้  มันก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง  เพราะทุกคนไปบิดเบือนทั้งหมด  ก็คือไปปลูกในพื้นที่ ปลูกบ้านในที่ไม่ควรจะปลูก หรือไปบุกรุกป่า ทำลายป่าเหล่านี้  ทำให้ทุกอย่างเป็นปัญหาที่รวมมาแล้ว ทำให้เกิดความเสียหาย  ฉะนั้นเราต้องร่วมมือกันนะครับ ระหว่างรัฐ-ประชาชน ให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันก็ต้องลดความขัดแย้งไปด้วย  นับวันการใช้พื้นที่ทำกินของประชาชน ก็นับจะต้องมีมากขึ้น แต่ที่ดินเราก็น้อยลงทุกวัน ๆ เราจะทำอย่างไรล่ะ เพราะฉะนั้นสัดส่วนการใช้  การถือครองที่ดิน มันก็ลดลง บ้านเมืองก็แออัดมากขึ้น ไม่มีระเบียบ กีดขวางการจราจร  ทำถนนหนทางอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น  แต่ทุกคนต้องการนะ มันจะแก้ด้วยอะไรล่ะ  ก็ต้องมาพูดคุยกันไม่งั้นอุปสรรคต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาแล้วก็บริหารจัดการอะไรไม่ได้เลย  ภัยพิบัติต่าง ๆ มันก็เกิดขึ้น นะ  ฝนตก  ฝนแล้ง ดินถล่ม  ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นทีที่มีปัญหาทั้งสิ้น  ที่จริงมันไม่ค่อยถูก เพราะฉะนั้นเราต้องทำร่วมกันนะครับ อย่าปล่อยปละละเลย เราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ มามากแล้ว นะครับ วันนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันปรับตัว คิดถึงการเสียสละประโยชน์ส่วนน้อย ให้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ แล้วก็ดูแลกันนะครับ  หากทุกคนเอาแต่เรียกร้อง ก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่จะเพียงพอ นะครับ  ได้เท่านี้เอาเท่านั้น ได้เท่านั้นก็เอาต่อไป ทำนองเนี้ย มันต้องรียกร้องให้พอเหมาะพอควร นะ  ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของอะไรก็แล้วแต่ มันมีกติกาอยู่แล้วทั้งสิ้น แต่ทำอย่างไรมันจะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้  อันนี้ต่างหาก นะครับ  ถ้าเรียกร้องอย่างเดียว แล้วก็ให้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  แล้ววันหน้ามันก็ไม่มีจะให้ วันนั้นบ้านเมืองก็เสียหาย ปั่นป่วน กลายเป็นอนาธิปไตยไปอีกนะ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว

เพราะฉะนั้น เรื่องของการบริหารจัดการตนเองในแต่ละชุมชนนั้น เป็นสิ่งสำคัญนะครับ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ ฉะนั้นวันนี้เรากำลังสร้างกระบวนการเรียนรู้อยู่   เช่น การบริหารจัดการน้ำในชุมชน  การบริหารจัดการเรื่องป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน คือทุกคนมีส่วนร่วมก่อน ในช่วงนี้  การที่จะให้ การพัฒนาในท้องถิ่น  มันก็ต้องมีแบบ มีแผน ในการที่จะพัฒนาเพื่อ จะไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน  ก็พยายามจะทำอย่างนั้นอยู่  ไม่ว่าจะงบประมาณจากส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น    จริงๆ แล้วมันจะต้องสอดประมานอยู่ในพื้นที่นั้น  ทั่วทุกตารางนิ้วของท่านนั่นแหละ  จะไปซ้ำกันในพื้นที่เดียวกันตลอดเวลา  กิจกรรมเดียวกัน  ตรงนี้ได้  ตรงนั้นไม่ได้  นั่นแหละคือปัญหาของบ้านเรานะครับ

วันนี้ทุกอย่าง ทุกปัญหา มีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน  พื้นที่ป่า สภาพน้ำ อากาศ เหล่านี้เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น  ถ้าเราแก้ปัญหาอันหนึ่งไม่ดี ประชาชนไม่ร่วมมือ  ไม่เข้าใจ มันก็ไปเจออีกปัญหาหนึ่ง ประชาชนเดือดร้อน  หรือประชาชนไม่มีอาชีพ รายได้ ที่เพียงพอ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาอุปสรรคดังกล่าวเหล่านั้น มันต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม

คำว่าองค์รวมก็คือ รัฐ  ประชาชน  เอกชน ธุรกิจ NGO เหล่านี้ ต้องมาช่วยแก้ปัญหาแบบองค์รวมนะครับ   ในการที่จะทำให้กิจกรรมที่มันควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความจำเป็น  หรือทุกปัญหาในแต่ละพื้นที่  ทุกพื้นที่นั้นได้รับการแก้ไข  มันต้องไปช่วยกันแก้ไปพร้อมๆกัน  ไม่ใช่พอรัฐบาลตั้งอะไรออกมา บางโครงการมีประโยชน์ต่อตรงนี้  ต่อตรงนั้น  ต่อส่วนรวมค้านมันทุกอัน  เป็นที่ที่ไป แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น  อะไรที่มันจะเกิดกับชุมชนมันก็ไม่เกิด   อะไรที่จะเกิดแก่ชุมชนอื่นก็ไม่เกิด  อะไรที่จะไปเกิดกับประเทศก็ไม่เกิด  สรุปว่าก็ไม่เกิดอะไรทั้งสิ้น  ความขัดแย้งเหล่านี้มันก็ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่น   พัฒนาไม่ทันบ้าง  พลังงานไม่พอบ้าง    เหล่านี้มันเป็น  การแก้ปัญหาที่ละเสี้ยวๆ หรือการที่จะร่วมมือคัดค้าน อะไรต่างๆ ก็เป็นเสี้ยวๆ ไป มันก็ทุกอย่างก็แตกสลายไปหมดนั่นแหละครับ  จับต้องอะไรไม่ได้สักอย่าง เหมือนก่อสร้างปราสาททราย ยังไงมันก็พัง  เพราะฉะนั้นอย่าทำแบบนั้น ต้องช่วยกัน  รัฐบาลนั้นก็พยายามจะกำหนดนโยบายที่มีความเป็นไปได้ มีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าผู้เสียประโยชน์  และเราก็จะต้องดูแลผู้เสียประโยชน์อย่างเป็นธรรม  ให้โอกาสเขาก่อนเสมอในการที่จะมีอาชีพ มีรายได้ในพื้นที่ที่เขาเสียสละไป  เหล่านี้เป็นนโยบายที่มอบให้กับรัฐบาล ที่รัฐบาลมอบให้กับทุกหน่วยงานไปแล้วนะครับ เราจะต้องแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน ไม่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องของการพัฒนา  การได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ – การนำใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้  รวมไปถึง การป้องกัน แก้ไขบรรเทาภัยพิบัติ ที่ปัจจุบันนั้นผมเห็นว่ามันเกิดจากน้ำมือมนุษย์มากที่สุด ทำยังไงจะแก้ไขภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ให้ได้มากที่สุด  ทั้งนี้เพื่อเตรียมการรองรับความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต  ซึ่งมันเกิดจากธรรมชาติอีกอันหนึ่งนะครับ ปัญหาโลกร้อน  สภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง  ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำเค็มเข้ามาถึงพื้นที่ภายใน น้ำที่เราได้มาจากฝน จากป่าไม่เพียงพอที่จะผลักดันน้ำทะเลออกไป  เพราะฉะนั้น อีกหน่อยก็เค็มทั้งประเทศ  แล้วจะปลูกพืชกันยังไง นะ หลายคนก็ไม่ค่อยเชื่อ นะ ก็เอาน้ำเค็มเข้ามา หรือไม่ก็ไปเลี้ยงปลาทะเลต่างๆ หรือสัตว์น้ำทางทะเล ข้างใน ลึกๆ เข้ามามากๆ แล้วก็เอาน้ำทะเลเข้ามา   วันวันหน้าก็ต้องเค็มไปทั้งหมด  แล้วจะทำการเกษตรได้อย่างไร  คิด  ช่วยกันคิดนะครับ  มัน ถึงต้องไปดูเรื่องของ การกำหนดพื้นที่ในการเพาะปลูก  การทำปศุสัตว์ อะไรก็แล้วแต่ ก็กรุณาฟังสักหน่อยนะ มันก็ไม่ขัดแย้งกัน กฎหมายมันก็ไม่ถูกละเมิดนะ

เรื่องดิน น้ำ ป่า นั้น มี “ศาสตร์พระราชา” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้กับพวกเรามากมายนะครับ เรื่อง “น้ำ” นั้นก็ได้ทรงแนะนำให้รัฐบาลได้น้อมนำมาดำเนินการอย่างเหมาะสม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งเก็บน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำ นะครับ เหล่านี้ จะต้องทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ทำแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ ปรับแก้ มาตลอดเวลานะครับ   ปรับโครงการโน้น มาใส่ตรงนี้  ปรับงบประมาณปีนี้ ไปใส่ปีโน้น  เอาปีโน้นกลับมาทำก่อน   เหล่านี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ในการบริหารทั้งระบบ  แบบบูรณาการ ซึ่ง  องค์การสหประชาชาติ(UN) ก็ชื่นชมนะครับว่า เราสามารถเชื่อมโยงสภาพข้อมูลน้ำและสภาพอากาศ จาก 34 หน่วยงานได้สำเร็จ

และก็ขอให้ประเทศไทยนั้นได้มีการขยายผลไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย นี่แหละครับสิ่งที่ดีดี  ที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของคนไทย ทุกคน นะครับ อย่าทำลายกันนักเลย นะ ความสำเร็จ ความสมบูรณ์นั้น เราคงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่ง นะครับ  สร้างความรู้ สร้างความเข้าใจ  สร้างหลักคิด แล้วเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติ   มีแปนงาน แล้วเรา ก็ต้องสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้เสมอ ตามลำดับความสำคัญ  ความเร่งด่วน  หรือลำดับความสำคัญของปัญหาด้วย นะครับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ผมได้มีโอกาสเยี่ยมชมคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังความสำเร็จเช่นกัน เป็นระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงที่รวบรวมข้อมูลที่แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการทรงงานติดตามสถานการณ์น้ำบนเว็บไซต์ weather 901  ที่ผมยกขึ้นมากล่าวนี้ก็เพื่อให้พี่น้องชาวไทย เกษตรกร ชาวประมง และทุกภาคส่วนมีความมั่นใจในรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการติดตามเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ,  เส้นทางพายุ,  ระดับน้ำทะเล  และภัยธรรมชาติต่างๆ  ให้เชื่อมั่นการแจ้งเตือน และฟังด้วยนะครับ   ถ้าแจ้งไปแล้วไม่ฟัง มันก็ไม่ได้ประโยชน์ นะ  เพราะฉะนั้นในช่วงใดก็ตามที่ดินฟ้าอากาศ มันดูแปลกๆ ก็กรุณาเปิดดูสักหน่อย ฟังสักหน่อย  มันจะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาของท่านเองด้วย ไม่เกิดอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น   ช่วยกันปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการด้วยนะครับ เดี๋ยวพอมีปัญหาอีก บอกว่ารัฐบาลไม่ได้แจ้ง   ความจริงเขาแจ้งมาตลอด แต่ไม่ได้ฟัง หรือฟังแล้วก็เสี่ยงเอาเอง  นี่อันตราย นะครับ

ปัจจุบันเทคโนโลยีของโลก มีความก้าวหน้าไปมากมาย  ก็ได้สั่งการเพิ่มเติมให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลและการพยากรณ์น้ำ – อากาศดังกล่าว   หลายอย่างมันก็มีบันทึกไว้ ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาตรงโน้น ตรงนี้ น้ำมันเคยท่วม  ไม่ท่วม  ที่ไหน อย่างไร  ตรงไหนเป็นทางน้ำ  ตรงไหนเป็นสิ่งที่มันจะต้องกักเก็บน้ำ  มันมีหมดอยู่แล้ว เราจะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้นะครับ     เพราะว่าวันนี้เราต้องเดินหน้าประเทศ  ด้วยการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี  ด้วยข้อมูลที่ทันสมัย หลายอย่างก็มาจากดาวเทียม  ไม่งั้นจะมีดาวเทียมไปทำอะไรล่ะ  ไว้โทรศัพท์อย่างเดียวเหรอ    เพราะฉะนั้น มันก็ต้อง เป็นศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ด้วยนะครับ  แล้ววันนี้ก็ได้มีการจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นบนมือถือด้วยนะครับ  ให้ประชาชน – เกษตรกร – ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจทุกๆ กิจกรรม แม้กระทั่งไปท่องเที่ยวก็ยังต้องรู้เลย นะ ให้ใช้ประโยชน์ อย่างเต็มที่ มันจะมีเว็ปต์อยู่ นะ   รวมความไปถึงเชื่อมโยงกับ Agri map ประชาชน – เกษตรกร  ก็จะช่วยกันในการเลือกปลูกพืช ในพื้นที่และเวลา ที่เหมาะสมกับสภาพน้ำและอากาศด้วยครับซึ่งก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนSmart Farmer และเป็นอีกก้าวหนึ่งของการปฏิรูปเกษตรกรรมของประเทศด้วยนะครับ ที่ต้องเดินไปด้วยเทคโนโลยี

สำหรับประเด็นสุดท้ายสั้น ๆ แต่มีความสำคัญมากก็คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้   ผมมีความห่วงใยทุกคนเสมอนะครับ  ก็หลายแสนครอบครัวมีความเดือดร้อน มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต จำนวนมากพอสมควร บ้านช่องพังทลาย เดือดร้อนเป็นล้านคน นะครับ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลห่วงใย และได้วางแผน ได้สั่งการ ให้มีการปฏิบัติการ ตามขั้นตอน ตามลำดับ ตามแผน ปภ. นะครับ ป้องกันภัยภิบัติแห่งชาติ  บางอย่างเร่งด่วน   บางอย่างก็ต้องค่อยทำ  บางอย่างก็ต้องเร่งให้ทันปี 60   บางอย่างก็อาจจะต้องเลยหลังปี 60 ไป เพราะ มันทำพร้อมกันไม่ได้  มันเดือดร้อนกันทั้งหมด   งบประมาณก็จำกัดด้วย ก็เพียงแต่ขอความร่วมมือ  อันไหนที่ต้องทำได้ในปี 60 ขอเถอะครับ ถ้าไม่ทำอะไรเลย 60 เขาก็ท่วมแบบเดิม ก็ต้องเสียเงินไปจำนวนมากแบบนี้  แล้วก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย  เพราะฉะนั้นอะไรที่มันขวางทางน้ำ อะไรที่ขยับได้ก็ต้องขยับ ตามผังเมือง  มันต้องมีคนเดือดร้อน  แต่จะเดือดร้อนมากน้อยเพียงใดรัฐบาลต้องดูแล วันนี้ก็พยายามเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อจะช่วยเหลือ  เรียกว่าเป็นเงินให้เปล่าก็ส่วนหนึ่ง นะครับ, ในเรื่องของการสนับสนุนด้านเงินกู้, การชะลอหนี้  ชะลอดอกเบี้ย แล้วก็มีมาตรการในเรื่องของการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มันสามารถชะลอน้าไว้ได้,  การซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย, การดูแลเกษตรกร  อุตสาหกรรม ที่เดือดร้อน ทั้งประมง  ปศุสัตว์  ทั้งหมดนะครับ 

ปัจจุบันก็สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ นะครับ  ก็เหลืออยู่เล็กน้อยนะครับก็กำลังฟื้นตัว   เราต้องทำให้ฟื้นตัวให้เร็วขึ้น  ระหว่างที่ฟื้นตัว ก็ใช้เวลาในการฟื้นอีกระยะหนึ่ง ทำอย่างไร  เขาถึงจะอยู่ได้   อันนี้ก็ทางมหาดไทย และทุกหน่วยราชการต่างๆ ที่อยู่ในศูนย์ 11  และศูนย์ 12 ก็ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการภายในกรอบ ของรัฐบาลด้วย  รัฐบาลก็พยายามทำคู่ขนานไป นะครับ  ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน

โครงการใหม่ๆ ที่ต้องทำที่ผมกราบเรียนไปแล้วเมื่อวันก่อนก็คือ ที่มันขวางทางน้ำ  จริงๆ มันมากกว่านั้นนะครับ 500-600 แห่งน่ะ  ทีนี้เราก็ดึงมาว่า 116  แห่ง ต้องทำปี 60 ไม่ว่าจะของกรมทางหลวง   กรมทางหลวงชนบท   มหาดไทย  ท้องถิ่น  หมดเลย  คมนาคม  ต้องระดมกันทั้งหมดแหละ ให้ทันก่อนฝนหน้านะ ฉะนั้นก็ฝากทำความเข้าใจด้วยครับ  ฝากห่วงใยไปถึงพี่น้องประชาชนชาวใต้ทุกคนนะครับ ให้กำลังใจเพื่อจะดำรงชีวิตต่อไป ช่วยกันพัฒนาประเทศ   ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วก็เป็นวันแห่งความรักนะครับ  ก็ขอให้คนไทยรักกันมาก ๆด้วย ระมัดระวังตัวเอง ผู้หญิงไปเที่ยวคนเดียวอะไรต่างๆ ต้องระมัดระวังนะครับ เพราะว่า วันนี้ก็อย่างที่บอกไปแล้ว บ้านเมืองก็มีคนไม่ดีอยู่มากมาย แต่ต้องช่วยขจัดคนไม่ดีแล้วก็ไม่เปิดโอกาสให้คนไม่ดีได้มาทำอะไรที่เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ กับตนเอง ต่อครอบครัวด้วยนะครับ          ก็ขอให้ทุกคนรักกันมากๆ มากขึ้นไปนะครับ  ผมรักพวกท่านเสมอนะ   

ขอบคุณครับ   สวัสดีครับ

Tag :