องค์การเภสัชฯ เพิ่มการเข้าถึงยา เร่งสร้างรง.เดินหน้า GPO สู่ยุค 4.0

by ThaiQuote, 27 กุมภาพันธ์ 2560

พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานองค์การเภสัชกรรม (GPO) เปิดเผยว่าการดำเนินการขององค์การเภสัชกรรม ตลอดระยะเวลาที่คณะกรรมการชุดนี้ได้มาดำรงตำแหน่งโรงงานผลิตยาที่พระราม 6 สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP-PIC/s ในทุกหมวดการผลิต โรงงานผลิตยาที่รังสิต 1 สามารถเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางการได้ ส่วนการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกคืบหน้าไปกว่า 90 % นอกจากนี้ยังมีผลประกอบการและมีการแสดงผลการเข้าถึงยาของประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อย่างชัดเจน ด้านน.พ. นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า “ผลประกอบการของ GPO ในปี 2558 มีผลประกอบการ 13,448 ล้านบาท และในปี 2559 มีผลประกอบการ 15,154 ล้านบาท โดยในปี 2559 ที่ผ่านมามีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 3,668 ล้านบาท คิดเป็น 32 % และยังสามารถส่งเงินเข้าเกือบ 3 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับรัฐจำนวนเงินสะสม 3 ปี (2557-2559) ถึง 13,702 ล้านบาท และในเฉพาะปี 2559 ประหยัดถึงเกือบ 5 พันล้านบาท  โดยเป็นยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ ประหยัดได้ถึง 1,500 ล้านบาท พร้อมทั้งได้มีการสำรองยาขาดแคลนและยากำพร้ากว่า 30 รายการ เป็นยาในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงูจำนวน 19 รายการ   ทั้งนี้มีผู้เข้าถึงบริการยาต้านพิษเพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 7,000 ราย (คิดเป็นจำนวนสะสม 6 ปีกว่า 20,000 ราย) และในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้หลายจังหวัดเมื่อปลายปี 2559 อภ.ได้จัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กระทรวงสาธารณสุขกว่า 300,000 ชุดอย่างรวดเร็ว และทันท่วงทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามองค์การฯได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 13 รายการ อาทิยาลดความดันโลหิต  (Amlodipine)      ยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในเด็ก (Ferrous fumarate) ยาน้ำขับเหล็กสำหรับเด็กผู้ที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมีย (Deferiprone) ยาปลูกผม (Minoxidil) เป็นต้น ส่วนการจำหน่ายยาไปยังต่างประเทศมียอดจำหน่าย 39.22 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 10.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.51 โดยส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับกลุ่มประเทศ AEC  ทั้งนี้ในปี 2560 ตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า ร้อยละ 20 โดยมุ่งเน้นการทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนม่าร์ ด้านการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ที่จังหวัดสระบุรีขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 94 % คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนสำหรับโรคระบาดดังกล่าวได้ในปี 2563 ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายแบบสามสายพันธุ์ ขณะนี้การศึกษาทางคลินิกระยะที่ 2  เสร็จสิ้นแล้ว พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีและพร้อมสำหรับการศึกษาในระยะที่ 3  จะทราบผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกได้ในปี 2562 จากนั้นจะขอขึ้นทะเบียนจากอย. และถ่ายโอนการผลิตไปยังโรงงานผลิตวัคซีนฯต่อไป สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกชนิดเชื้อเป็นเพื่อใช้ในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ซึ่งเป็น “นวัตกรรมระดับโลก”ขณะนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ขณะที่แผนการในอนาคตขององค์การเภสัชกรรม นพ.นพพร กล่าวว่าจากนโยบายประเทศไทย 4.0               ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถสู่ความได้เปรียบเชิง แข่งขันด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ความร่วมมือจากเครือข่ายประชารัฐทุกภาคส่วน องค์การฯได้กำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “องค์การเภสัชกรรม  4.0” เป็นองค์กรเชิงนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทสภาพของธุรกิจยาและสภาพแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะเดียวกันอภ.ต้องเป็นกลไกในการสร้างความสมดุลด้านราคายา ผลิตและจัดหายาจำเป็น สร้างความมั่นคงด้านยาและส่งรายได้ให้รัฐ เพื่อความมั่นคง มั่นคง ยั่งยืนให้แก่รัฐและประเทศชาติ พร้อมมุ่งสู่การเป็น “องค์กรคุณธรรม” การคิดค้น วิจัยและพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ระบบยาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาจำเป็น  ยารักษามะเร็งยาที่มีมูลค่าการใช้สูง พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะและระบบดิจิตอลมาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดจนกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และจำนวนบุคลากร  เพิ่มความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์โดยในส่วนของโรงงานผลิตยารังสิต 1 ได้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆมาใช้บ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบริหารจัดการ (Enterprise Resource Planning : ERP) โดยใช้ระบบSAP   ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้   เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบ นอกจากนี้จะเร่งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด รวมถึงการขับเคลื่อนตามแนวทางประชารัฐร่วมกับประชาคมและท้องถิ่น เพื่อสร้างยาที่มีคุณภาพจากภูมิปัญญารวมถึงการทำการตลาดผ่านโลกออนไลน์ และขยายตลาดที่มีอยู่ให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นตามนโยบายสร้างความมั่งคง มั่นคง และยั่งยืน ของรัฐบาล
Tag :