นำร่อง 18 จว.พัฒนาของที่ระลึกชุมชน ปลุกกระแส “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย”

by ThaiQuote, 2 มีนาคม 2560

น.ส.วรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวและวิสาหกิจชุมชน คือ ธุรกิจของที่ระลึกซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อหาเพื่อสะท้อนความเป็นท้องถิ่น หรืออัตลักษณ์ของสถานที่ที่ไปเยือน ดังนั้นกรมการท่องเที่ยวจึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว”โดยคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวเป็นกรณีศึกษา 18 แห่งจาก “12 เมืองต้องห้ามพลาด” “12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส” และสนามบินนานาชาติ 4 จังหวัด ด้วยการใช้เสน่ห์เป็นต้นทุนวัฒนธรรม อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนาสินค้าที่ระลึกให้มีความร่วมสมัยและเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายและคลัสเตอร์การพัฒนาธุรกิจสินค้าที่ระลึกในพื้นที่ มีแนวทางการออกแบบที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น และความหลากหลายของนักท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “เสน่ห์เที่ยว – เสน่ห์ไทย” ทั้งนี้พื้นที่กรณีศึกษา 18 แหล่งท่องเที่ยวในโครงการฯประกอบด้วยไปด้วยพื้นที่ใน “12 เมืองต้องห้ามพลาด” จำนวน 8 จังหวัด คือ 1.เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 2. หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย 3. ปราสาทเมืองต่ำบ้านโคกเมือง ต.จระเข้มาก อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ 4.เกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร 5. เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง 6.อุทยานแห่งชาติหาดขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช 7.วิสาหกิจชุมชนบ้านรักษ์เขาบายศรี ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และ 8. ชุมชนตำบลน้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด ขณะที่มีแหล่งท่องเที่ยวใน “12 เมืองต้องห้ามพลาดพลัส” จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ 1. ชุมชนบ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน 2. ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ 3. น้ำตกตาดโตน อุทยานแห่งชาติตาดโตน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 5. หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีจังหวัดที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ 1. เชียงใหม่ 2.เชียงราย 3. สงขลา (หาดใหญ่) และ 4. ภูเก็ต ขณะเดียวกันเนื่องจากแต่ละพื้นที่มีต้นทุนวัฒนธรรมหรือเสน่ห์และภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลของแต่ละท้องถิ่น และจัดประชุมในรูปแบบของเวิร์คช็อปเพื่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าที่ระลึกให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ๆ หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการออกแบบและผลิตต้นแบบสินค้า โดยแต่ละพื้นที่มีผลงานออกแบบแห่งละ 3 คอลเลคชั่น แต่ละคอลเลคชั่นมี 10 รายการ เมื่อรวมกันแล้วมีผลงานต้นแบบกว่า 500 ชิ้นงาน อย่างไรก็ตามผลงานต้นแบบสินค้าที่ระลึกจากพื้นที่กรณีศึกษา 18 แห่ง ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 ชิ้นงาน จะนำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในงาน “เสน่ห์เที่ยว – เสน่ห์ไทย” นิทรรศการแสดงผลงานการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวใน วันที่ 20-21 มีนาคม 2560 ณ บริเวณลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
Tag :