สธ. ออกข้อเสนอแนะ “ใคร” ไม่ควรดื่ม เหล้า-เบียร์

by ThaiQuote, 4 มีนาคม 2560

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าสธ.ได้ทำจัดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “9 หน่วยงานร่วมใจครบ 9 ปี กฎหมายไทยต้านภัยแอลกอฮอล์” โดยหน่วยงานที่มีความร่วมมือนั้นประกอบไปด้วยกรมทุกกรมในสังกัดของ สธ. และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการสูญเสียสุขภาวะในประชากรทั่วประเทศและการสื่อสารการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยเพิ่มปริมาณการดื่มของเด็กและเยาวชน 1.5 เท่า เพิ่มการดื่มแบบหนัก 2 เท่า และเพิ่มการดื่มแบบอันตราย 1.5 เท่า นอกจากนี้ยังพบคนไทยคนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควรจำนวนมาก จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่ว่าในรูปแบบใด เช่น เบียร์ สุรา เหล้า ไวน์ ฯลฯ เช่น อุบัติเหตุทางถนน โรคตับ โรคมะเร็ง โรคพิษสุรา และความรุนแรงอันเกิดจากขาดสติ และสาเหตุอีกมากมายที่เกิดจากการดื่มสุราแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นบุคคลรอบข้างที่เรียกว่า “เหล้ามือสอง” ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำร่างชุดข้อแนะนำสำหรับผู้ไม่ควรดื่มสุรา โดยสาระสำคัญคือการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความชัดเจนว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ และประชาชนกลุ่มใดบ้างที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะดูแลและปกป้องประชาชนกลุ่มที่การดื่มแอลกอฮอล์จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพและสังคม หรือกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) สำหรับชุดข้อแนะนำดังกล่าวได้อ้างอิงจากเอกสารวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางให้สังคมใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับโทษพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือกติกาในสังคม ซึ่ง สธ.จะประกาศเป็นข้อแนะนำต่อไป โดยจะเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ทุกระยะ หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ผู้ที่ทำงานเสี่ยง ผู้ที่มีปัญหาโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
Tag :