แจง “ลงทุนจริง” เน้น R&D วิทย์นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

by ThaiQuote, 22 พฤษภาคม 2560

“สุวิทย์”แจง การลงทุนจริงเปลี่ยนจากอุตฯขนาดใหญ่ไปสู่อุตฯที่เน้นนวัตกรรม ชูนโยบายใหม่ดูดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ย้ำไทยยังจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตามที่มีบางท่านให้ข่าวว่าการลงทุนไทยไม่กระเตื้องและหดตัวต่อเนื่องนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากหลังจากที่บีโอไอได้ประกาศใช้ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2564)” โดยหันมาให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่มีคุณภาพมากกว่าการเน้นเม็ดเงินลงทุนเหมือนในอดีต ดังจะเห็นได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ของบีโอไอในปัจจุบันมุ่งเน้นผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกิจการเหล่านี้มักจะมีมูลค่าการลงทุนต่อโครงการไม่สูงมาก อีกทั้งในระยะหลังจะมีโครงการลงทุนของกลุ่ม Startup ในธุรกิจดิจิทัล ขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนไม่สูงแต่สามารถสร้างนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมีนาคม 2560 มีกิจการวิจัยและพัฒนา ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 43 โครงการ เงินลงทุนรวม 6,400 ล้านบาท และกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ ยื่นขอรับการส่งเสริมมากถึง 455 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,000 ล้านบาท   นอกจากนี้โดยธรรมชาติของการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ปิโตรเคมี รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ จะมีลักษณะเป็น Cycle  มิได้มีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นทุกปี  โดยเมื่อลงทุนไปแล้วจะต้องมีการใช้กำลังการผลิตให้มากกว่าร้อยละ 60-70 จึงจะมีการขยายการลงทุนใหม่เพิ่มเติม สำหรับตัวเลขการลงทุนจริงของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น  ดร.สุวิทย์กล่าวว่าสาเหตุเกิดจากในช่วงปี 2556-2557 มีการลงทุนจริงของโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี กิจการโรงไฟฟ้า และขนส่งทางอากาศ รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท  ขณะที่กลุ่มที่ลงทุนจริงในปี 2558-2560 ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่าแต่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มสูง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาสถิติในขั้นการอนุมัติให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริมของบีโอไอแล้วจะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 มีมูลค่าเงินลงทุนที่อนุมัติและออกบัตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 และร้อยละ 85 ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการทยอยลงทุนจริงในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนกรณีที่มีงานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วยเสนอแนะว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านภาษีในการดึง FDI อีก แต่ควรปรับเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อความคุ้มค่าเพราะยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนมากกว่า คือความยากง่ายในการทำธุรกิจนั้น  ดร.สุวิทย์ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการและไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามกลไกตลาด ทั้งนี้เนื่องจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคยังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเครื่องมือแย่งชิงการลงทุนที่มีคุณค่า ถึงแม้ว่าจะมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับต่ำแล้วก็ตาม  ทั้งนี้บีโอไอได้ใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ และไม่ได้ให้การส่งเสริมในทุกประเภทธุรกิจ  ระดับของการให้สิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการก็จะแตกต่างกันตามคุณค่าของประเภทกิจการนั้นๆ โดยจะมีเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในวงกว้างเท่านั้น จึงจะอยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูง ดร.สุวิทย์ ยังได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลและบีโอไอได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business in Thailand) เช่น การออกพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 เพื่อให้มีกฎหมายกลางที่จะกำหนดขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตที่ชัดเจนและไม่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน  การออกคำสั่ง คสช. เมื่อเดือนเมษายน 2560 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางฉบับเพิ่มเติม เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายล้มละลาย เพื่อแก้ไขขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายเหล่านี้ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการลดการขอเอกสารซ้ำซ้อน  อีกทั้งขณะนี้บีโอไอได้หารือกับภาคเอกชน และได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ปัญหาเรื่องเขตปลอดอากร เป็นต้น   จากความพยายามของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนต่างๆ รวมทั้งความพยายามแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ประกอบกับขณะนี้พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายได้มีผลใช้บังคับแล้ว อีกทั้งรัฐบาลกำลังเร่งรัดนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่มีคุณภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต

Tag :