ข้าวแกงเงินล้าน! ยิ่งขายถูก...ยิ่งรวย

by ThaiQuote, 26 พฤษภาคม 2560

จากลูกชาวนาต่างจังหวัดที่มีฝีมือในการทำอาหาร เดินทางเข้าสู่เมืองหลวงด้วยการเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก่อนขยับขึ้นมาเปิดร้านอาหารตามสั่งของตัวเองด้วยการจำนองที่นาผืนสุดท้ายในบ้านเกิด แม้ว่าอาหารจะขายดีมีรายได้วันละกว่า 2 หมื่น แต่ปรากฏว่ายิ่งขายมากยิ่งติดลบจนต้องปิดกิจการลงในที่สุด นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “จินตนา บัวเทศ” หรือ “คุณตุ๊ก” เจ้าของร้านอาหาร ‘ข้าวกับแกง’ เธอเล่าว่า หลังจากปิดกิจการร้านอาหารตามสั่งแล้วก็ตระเวนไปเปิดร้านตามตลาดนัด กระทั่งมีคนเห็นว่าทำอาหารอร่อย มีความมุ่งมั่นตั้งใจ จึงแนะนำให้ไปขายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แต่มีข้อแม้ว่าต้องขายข้าวแกงจานละ 9 บาทถ้าเพิ่มกับข้าว 2 อย่างจานละ 12 บาท ในขณะที่ขายตามตลาดทั่วไปราคาเริ่มต้นจานละ 25 บาท ทำเธอลังเลใจว่าจะขายดีหรือเปล่า ในที่สุดจึงตัดสินใจลองดูเพราะเขาให้ทดลองขายก่อนโดยที่ยังไม่เก็บค่าเช่าในช่วงแรก วันแรกที่เข้าไปขายปรากฏว่าขายได้ 2,000 บาทน้อยกว่าตอนที่ทำร้านอาหารตามสั่งซึ่งขายได้วันละ 20,000 บาท แต่ทว่ากลับพบความต่างที่สำคัญคือ แม้จะขายได้เพียงวันละ 2,000 บาทแต่กลับมีเงินเหลือเก็บ ในขณะที่ตอนทำร้านอาหารรายได้วันละ 20,000 บาท ไม่มีเงินเก็บเลย แถมยังติดลบอีกต่างหาก เธอพบคำตอบว่าการมีรายได้มากหรือน้อยไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือการบริหารต้นทุน ใครบริหารต้นทุนได้ดีกว่าย่อมได้เปรียบ แม้ว่าตอนที่เธอเปิดร้านอาหารตามสั่งจะสามารถขายได้วันละ 20,000 บาท แต่เธอมีต้นทุนที่ต้องซื้อวัตถุดิบจำนวนมาก บางวันขายไม่ดีวัตถุดิบที่เหลือก็ต้องทิ้ง ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าเช่าร้านเดือนละ 70,000 บาท เมื่อบวกลบคูณหารแล้วไม่เหลืออะไรเลย ในขณะที่การเปิดร้านขายในโรงพยาบาลแม้จะขายอาหารราคาถูกกว่า มีรายได้น้อยกว่า แต่สามารถบริหารต้นทุนได้ดีกว่าไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงจำนวนมาก จึงมีเงินเหลือเก็บ ปัจจุบันนอกจากร้าน ‘ข้าวกับแกง’ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว เธอยังรับทำอาหารกล่องให้กับผู้จัดงานอีเว้นท์รายใหญ่ ออเดอร์วันละ 1,500-2,000 กล่อง รวมถึงรับทำบุฟเฟ่ต์ให้กับงานต่าง ๆ ซึ่งการเติบโตของ ‘ข้าวกับแกง’ เป็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นการเติบโตแบบไม่รู้ตัวเพราะค่อยเพิ่มเติมส่วนต่าง ๆทีละนิด เช่นการเพิ่มพนักงานที่สมดุลกับงาน รวมถึงการซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมก็จะซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น ถ้ายังมีเงินสดไม่พอก็จะไม่ซื้อ โดยคุณตุ๊กให้เหตุผลว่าหากกู้เงินมาซื้อต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ย ถ้าต้องขายข้าวแกงให้ได้วันละ 200 จานเพื่อมีเงินจ่ายดอกเบี้ย สู้ขายเพียงวันละ 100 จานเอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวดีกว่า สำหรับหลักการออมของคุณตุ๊ก จะใช้วิธีซื้อกระปุกออมสินไว้หลาย ๆใบ แบ่งเป็นประเภทต่างๆ เพื่อหยอดเงินใส่ลงไปทุกวัน อาทิกระปุกค่าเช่า กระปุกค่าเล่าเรียนของลูก กระปุกค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เหลือเท่าไหร่เอาไปฝากธนาคาร ชีวิตในวันนี้ของเธอจึงสมบูรณ์ด้วยกิจการที่เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวอบอุ่น และที่สำคัญคือเธอไม่มีหนี้ซะด้วย ขอบคุณภาพ / www.facebook.com/kaokubkangbytook

Tag :