จับท่าที 2 พรรคใหญ่หลังนายกฯส่งซิกเลือกตั้ง (1)

by ThaiQuote, 13 กรกฎาคม 2560

เป็นคำให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและเป็นสัญญาณที่ส่งผ่านถึงบรรดาพรรคการเมือง ตลอดจนนักการเมืองให้กระดี๊กระด้ากระชุ่มกระชวยได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะกับ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่ออกมาเรียกร้องตลอดถึงการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในสนามเล็กหรือสนามใหญ่

โดยเฉพาะสนามเล็กอย่างกรุงเทพมหานคร ทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภากทม.(ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ตลอดถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคือสุดยอดปรารถนาของบรรดาพรรคการเมือง เพราะใครก็ตามที่สามารถยึดการเมืองในสนามกรุงเทพฯได้เสมือนหนึ่งกุมอำนาจของประเทศไว้ในมือแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงโอกาสในสนามใหญ่จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ด้วย   

แต่ ณ ตอนนี้ที่ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ 2 พรรคการเมืองใหญ่ นั่นคือการหาแม่ทัพชูธงรบในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯโดยเฉพาะกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช่ว่าทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่จะไร้ซึ่งคนดี เด่น ดัง แต่ถ้าดูจากสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันภาพของนักการเมืองในสายตาของคนกรุงเทพฯมองว่ามีดีแต่พูดแถมยังไม่ใช่นักบริหารแบบมืออาชีพ ทำงานยังไม่ถึงลูกถึงคนไม่ได้สัมผัสกับปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ แถมยังมีเรื่องของความไม่ชอบมาพากลตามกันมาอีก สถานการณ์ ณ ตอนนี้จึงบอกได้เลยว่าไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด     

สำหรับค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผมหรือพรรคประชาธิปัตย์ ข่าวการปรากฏบนหน้าสื่อโดยอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรมว.ต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียน ที่ออกมาให้ข่าวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า พร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.หลังได้รับการทาบทามจากพรรคประชาธิปัตย์แถมยังกล่าวถึงความมั่นใจว่าจะสร้างกทม.ให้แข่งขันกับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกให้ได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากนานาชาติ

ในรายงานข่าวยังได้อ้างถึงแนวนโยบายที่จะใช้ในการหาเสียงกับกทม.ของดร.สุรินทร์ โดยระบุว่าจะสร้างกทม.ให้เป็นเมืองทันสมัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เป็นเมืองที่ปลอดภัย สะอาด มีทั้งความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และพร้อมดึงประชาชนเข้ามีส่วนร่วมช่วยดูแลกทม.

พลันที่รายงานข่าวแพร่กระจายออกไป นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดูแลพื้นที่กรุงเทพฯรีบออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนทันควันว่า ตนไม่ทราบว่านายสุรินทร์ตัดสินใจจะลงสมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.เพิ่งรู้จากข่าวของสื่อมวลชน ทั้งนี้นายสุรินทร์อาจได้พูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคบางคน แต่คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการหารือใดๆหรือจะเลือกใครเพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อใด ไล่เลี่ยกัน นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งกทม.น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ทั่วไป กรณีที่นายสุรินทร์พูดนั้นเป็นเรื่องของนายสุรินทร์แต่ผู้กำหนดการเลือกตั้งคือรัฐบาล ประชาธิปัตย์ขณะนี้ยังคงนิ่งไม่มีอะไรเพราะทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ ก่อนจะตอบถึงแคนดิเดตคนที่ต้องการจะลงสมัครผู้ว่ากทม.ในนามพรรคว่า “มีเยอะ”

การออกมาส่งเสียงของ“ดร.สุรินทร์” ถึงการลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.นั้น ถ้าดูแบบผิวเผินก็ไม่น่าจะมีอะไรเป็นพิเศษแต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างน้อย ๆก็เป็นประเด็นคำถามที่ตามมาว่าเป็นไปได้หรือที่คนอย่าง “ดร.สุรินทร์”จะหันหลังการเมืองในสนามใหญ่ลงสู่สนามเล็กอย่างกทม. หนำซ้ำก่อนหน้านี้ชื่อของ “ดร.สุรินทร์” ยังไปปรากฏในฐานะแคดิเดตผู้ท้าชิงประมุขพรรคประชาธิปัตย์ ควบคู่กับชื่อของ “ดร.ซุป” ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัด ที่ว่ากันว่าแกนนำในพรรคมองว่าทั้งสองคนฟอร์มสดกว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน น่าจะตอบโจทย์การเมืองในยุค 4.0 ได้ดีกว่า หากยังเป็นหัวหน้าคนปัจจุบันเชื่อว่าจะนำทัพไม่ถึงดวงดาวเป็นแน่

ปัญหาการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ ณ เวลานี้จึงยังไม่สงบราบเรียบ ในเมื่อ 2 ผู้เฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ระหว่าง “นายหัว” ชวน หลีกภัย และ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างคนต่างความคิด โดย “นายชวน” ยังคงให้การสนับสนุน “นายอภิสิทธิ์” ให้นั่งเก้าอี้ประมุขพรรคคงเดิม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชื่อของ “ดร.สุรินทร์” จะถูกหยิบขึ้นมาเขย่าในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อย่างมีนัยสำคัญที่ลึกซึ้งยิ่งนัก

ขณะเดียวกันโจทย์การเมืองในสนามเมืองกรุงสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีเรื่องต้องให้ขบคิดกันต่อ โดยเฉพาะกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ที่ว่ากันว่ามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “นายหัวชวน” และ “ลุงกำนัน”เป็นอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นมีเรื่องเล่าขานกันว่าการขับเคลื่อนการเมืองในสนามกรุงเทพของพรรคประชาธิปัตย์ ณ เวลานี้ “นายอภิสิทธิ์”จะอาศัยคอนเนคชั่นของ “นายหัวชวน”เป็นตัวประสาน ขณะที่ในฟากของ “ลุงกำนัน”นั้นมีเรื่องเล่าขานกันว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเป็นระยะ ๆ ล่าสุด นายถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลา  อาศัยความเป็นภาคใต้คอนเนคชั่นได้เรียกข้าราชการในระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมาร่วมรับประทานอาหารและหารือร่วมกัน นั่นคือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสำหรับ 2 ผู้เฒ่าแห่งปชป.ต่อสนามการเมืองในกรุงเทพฯ

แต่ที่เหนืออื่นใดสำหรับโจทย์การเมืองในประเด็นถัดมาซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมีรายงานข่าวแจ้งว่า ผลจากการทำหน้าที่ในฐานะพ่อเมืองกรุงของ พล.ต.อ.อัศวินนี่เอง ทำให้ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันชักเริ่มติดอกติดใจในตำแหน่ง กระทั่งมีเสียงกระซิบดัง ๆจากศาลาว่าการกทม.ว่า อาจเสนอตัวลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวกลายเป็นความจริง นั่นหมายความว่าจะทำให้ นายองอาจ คร้ามไพบูลย์ อดีตส.ส.กทม. ต้องอกหักไปโดยปริยาย ด้วย ณ ขณะนี้มีชื่อของ “องอาจ”ว่าอาจได้รับการสนับสนุนให้ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.      

และนี่คือเรื่องของกระแสคลื่นลมการเมืองสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ในวันที่สัญญาณการเลือกตั้งถูกส่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีหน้ารวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกันคลื่นมรสุมที่ถาโถมเข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์จะสงบราบเรียบได้หรือไม่ คำตอบคงอยู่ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”ว่าจะสร้างความมั่นใจต่อสมาชิกพรรคในการก้าวสู่การเมือง 4.0 ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎกติกาใหม่ได้อย่างไร แต่ที่แน่ ๆชื่อของ “ดร.ศุภชัย” และ “ดร.สุรินทร์”จะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่   

Tag :