บีโอไอ พอใจยอดส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก

by ThaiQuote, 27 กรกฎาคม 2560

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ในช่วงครึ่งปีแรก 2560 พบว่า ขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 150 โครงการ เงินลงทุนรวม 87,430 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีการขอรั บส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีตามเป้าหมาย  150,000 ล้านบาท สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก  มูลค่าเงินลงทุนรวม 341,310 ล้านบาท สำนักงานบีโอไอได้ออกบัตรอนุมัติการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงวงเงิน 322,100 คน นับว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยเพราะยอดที่รับส่งเสริมการลงทุนค้างไว้ได้เริ่มลงทุนสูงมากในขณะนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน อาทิการจ้างงานคนไทยกว่า 33,000 ตำแหน่ง เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 288,000 ล้านบาทต่อปี เกิดรายได้จากการส่งออกปีละกว่า 200,000 ล้านบาท เป็นต้น มั่นใจว่าการส่งเสริมการลงทุนทำได้ตามเป้าหมาย 6 แสนล้านบาทในปีนี้ นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า การยื่นขอรับส่งเสริม 372 โครงการ มูลค่า 141,065 ล้านบาท นำโดยญี่ปุ่นมากที่สุด จำนวน 117 โครงการ เงินลงทุน  65,435 ล้านบาท อันดับสอง สิงคโปร์ จำนวน 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 15,260 ล้านบาท อันดับสาม จีน จำนวน 35 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,134 ล้านบาท  ทั้งนี้ที่ประชุมพอใจกับภาวะการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 60 เป็นโครงการลงทุนใหม่ และมีการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนิวเอสเคิร์ฟ และเอสเคิร์ฟเดิมขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อน ประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน   นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้สำนักงานบีโอไอศึกษาแนวทางการส่งเสริมการลงทุนด้านเกษตรแปรรูปเพื่อให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นรองรับการผลิตสินค้าเกษตรและผลไม้ที่ออกมาจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีศักยภาพในด้านการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพื่อการกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องและขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองนอกจากการท่องเที่ยวหัวเมืองใหญ่ เพื่อกระจายรายได้และสร้างเศรษฐกิจชุมชน และหากภาคเอกชนรายใหญ่รวมตัวการเสนอโครงการส่งเสริมการงทุนที่ดี สามารถยื่นเสนอต่อรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ นอกเหนือจากการศึกษาจากภาครัฐเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นางหิรัญญายังได้กล่าวว่าในการประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวม 5โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน128,177 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

  1. บริษัทไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลล์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อส่งเสริมการผลิตบิ๊กไบท์ความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 500 ซีซีขึ้นไป เงินลงทุน 3,359 ล้านบาท กำลังผลิต ปี 120,000 คันต่อปี โรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี  ใช้วัตถุดิบในประเทศ  3,708 ล้านบาทต่อปี
  2. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) กำลังการผลิตปีละ 70,000 คันต่อปี การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 70,000 ชิ้นต่อปี และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น DOOR, BUMPER และ FRONT/REAR AXLE เป็นต้น ปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,016 ล้านบาท โครงการดังกล่าวใช้ชิ้นส่วนในประเทศประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้าทั้งการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนรถยนต์ และจะเปิดจำหน่ายสู่ตลาดในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีเอกชนรายอื่นยื่นขอบีโอไออีก 1-2 ราย เพื่อบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าตามการส่งเสริมของรัฐบาล

3.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางรางในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ – ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 22,036 ล้านบาท  4. บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางราง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย –มีนบุรี)ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 46,064 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการพัฒนาโครงข่ายสาธารณะแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพและปริมณฑล และ5.บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางราง (โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - สำโรง) ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 43,404 ล้านบาท นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อต้องการแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อลดภาระอากรนำเข้าตัวรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบต่างๆ รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีรายได้จากค่าโดยสาร

Tag :