ครม.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ

by ThaiQuote, 8 สิงหาคม 2560

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจฯ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 6 เรื่องคือ 1. การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติเพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ 2. มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องแผนพัฒนาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ 3. มีกระบวนการสรรหากรรมการที่ชัดเจน มุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นในการดำเนินการและการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ 4. มีกลไกระบบการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล 5. พัฒนาระบบประเมินผลที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติรัฐวิสาหกิจและนโยบายอย่างเป็นระบบ และ 6. จัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” และทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active shareholder) เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นายเอกนิติ กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจมีความบูรณาการเป็นระบบและโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศ ผู้อำนวยการสคร. ยังกล่าวต่อว่า เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลซึ่งจะไม่มีผลกระทบหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเป็นครั้งแรกที่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและมีการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน มีกระบวนการสรรหากรรมการโดยคำนึงถึงทักษะความสามารถ โปร่งใส มีการบริหารงานด้วยระบบธรรมาภิบาล โปร่งใส และมีระบบประเมินผลงานในทุกระดับ “กฎหมายฉบับนี้จะทำให้รัฐวิสาหกิจเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดความโปร่งใส...กฎหมายฉบับนี้ผ่านขั้นตอนละเอียดมาก คาดว่าน่าจะนำมาใช้ได้ทันในปีงบประมาณหน้า"นายเอกนิติ กล่าว ทั้งนี้ตามบัญชีแนบท้ายจะมีการตั้งบรรษัทฯรับโอนกิจการจากรัฐวิสาหกิจ ที่มีฐานะเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 11 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 1.บมจ. กสท โทรคมนาคม 2.บมจ.การบินไทย (THAI) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด 4. บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 5. บมจ. ทีโอที 6. บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด 7. บมจ. ปตท. (PTT) 8. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 9. บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด 10. บมจ. อสมท (MCOT) และ 11. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด โดยจะมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งที่ไม่มีการตั้งบรรษัทฯ คือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกองทุนฟื้นฟูฯ และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งไม่ใช่กิจการเพื่อการพาณิชย์

Tag :