ดึงตั๋วร่วมเชื่อมบัตรคนจน 1.37 ล้านใบ

by ThaiQuote, 4 กันยายน 2560

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ว่าหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ส.ค.ได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานแล้ว วันที่ 1 ต.ค. 2560จะเริ่มใช้ได้กับรถเมล์ ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลในบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้คัดกรองประชากรไว้ที่ 11.67 ล้านใบ โดยจะมีการนำชิพข้อมูลของบัตรแมงมุม เข้าไปใส่ไว้ในบัตรคนจนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 1.37 ล้านใบ ซึ่งจะมีวงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านบัตรสำหรับเดินทางต่อเดือน รถเมล์ 500 บาท รถไฟ 500 บาทและรถบขส. 500 บาท โดยวงเงินขนส่งแต่ละประเภทจะไม่สามารถใช้ข้ามระบบกันได้ และตัดยอดทุกเดือน และนำไปใช้แทนกันไม่ได้ เนื่องจากบัตรจะระบุชื่อ มีรูปถ่ายเจ้าของบัตร ซึ่งสนข.จะดำเนินการและเริ่มแจกจ่ายได้ในเดือนก.ย. โดยช่วงแรกจะมีรถเมล์จำนวน 800 คัน และต่อไปจะใช้ได้ครบทั้ง 2,600 คันในเดือนมี.ค. 2561 ส่วนรถไฟฟ้า 4 สายในปัจจุบันนั้น ผู้ประกอบการจะเริ่มติดตั้งระบบให้เชื่อมต่อกับ ระบบตั๋วร่วม คาดว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเริ่มใช้ได้ก่อนในเดือนมี.ค. 2561 ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล จะใช้ได้ในเดือนก.ค. 2561 ซึ่งขณะนี้ สนข.ได้มีการผลิตบัตรแมงมุมไว้จำนวน 2 แสนใบ ซึ่งจะให้ทางรฟม.นำไปใช้นำร่องเป็นการกระตุ้นก่อนได้ นายชัยวัฒน์ กล่าวว่าหลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม ซึ่งรฟม.จะต้องมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ร่วมกับผู้ประกอบการ คือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอส และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อ เริ่มติดตั้งระบบตั๋วร่วมใน รถไฟฟ้าบีทีเอสและสีน้ำเงิน ทั้งนี้บัตรแมงมุมมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า 10 สาย ตามแผนแล้วการมีบัตรเชื่อมต่อการเดินทาง จะทำให้มีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ประชากรในกทม.มีประมาณ 6-7 ล้านคน ประชากรแฝง 4 ล้านคน ประชากรในเขตปริมณฑลอีก 4 ล้านคน ที่จะมีการเดินทางไปมา ซึ่งปัจจุบันการเดินทางในกทม.มีประมาณ 10 ล้านเที่ยว/วัน มีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 8-9 % เท่านั้น สนข.ตั้งเป้าหมายว่าหากรถไฟฟ้า10 สายเปิดใช้ได้ครบ ประมาณปี 65 จะเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเป็น 30% ซึ่งจะช่วยลดพลังงานในภาพรวม ลดปัญหามลภาวะ ลดการเกิดอุบัติเหตุ ยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ นิยมใช้รถสาธารณะมากขึ้นโดยเฉพาะรถไฟฟ้า นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สนข.ได้เจรจากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 4 สายแล้วในการปรับปรุงระบบ ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์และสายสีม่วงซึ่งเป็นของรฟม.จะใช้เวลาในการปรับปรุงระบบ 6-7 เดือน แล้วเสร็จประมาณ มี.ค. 2561 ส่วนสายสีเขียวของบีทีเอสและสีน้ำเงินของ BEM จะใช้เวลาปรับปรุงระบบ 10 เดือน ซึ่งหลังรฟม.MOU กับ 2 รายนี้ จะมีการตกลงเรื่องการปรับปรุงระบบออกแบบ ติดตั้ง ทดสอบ ส่วนระบบขนส่งใหม่ ๆ เรือ ทางด่วน มอเตอร์เวย์ จะเริ่มให้บริการในเฟส 2 ปลายปี 61 สำหรับ บริการนอกภาคขนส่ง เช่น ร้านค้าต่างๆ นั้น สนข.ได้เจรจากับ ซีพี เดอะมอลล์ เซ็นทรัล แล้วในการเข้ามาร่วมคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปลายปี 60 ส่วนด้านกฎหมายนั้น ขณะนี้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ. .. ได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบ เพื่อนำเสนอ ครม. จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 61

Tag :