โรคจิตเภท ซึมเศร้า อารมณ์ 2 ขั้ว ภัยเงียบจู่โจมคนไทย

by ThaiQuote, 9 กันยายน 2560

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2551 ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 1.5 แสนคน มีผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา ราว 5.3 ล้านคน แต่เข้ารับการบำบัดรักษาไม่ถึง 1.2 แสนคน สะท้อนได้ว่าการเข้าถึงบริการจิตเวชยังมีอยู่อย่างจำกัด สวรส. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการเข้าถึงบริการจิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาแนวทางในการออกแบบระบบบริการ และลดผลกระทบอื่นๆที่อาจตามมา รศ.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบาดวิทยาประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้น จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง ในพื้นที่ 11 ชุมชน ในเขตเทศบาลคูคตและลำสามแก้ว ปทุมธานี พบว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงปัญหาการติดสุราและสารเสพติดในช่วงชีวิตและในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาเข้ารับบริการในสัดส่วนที่น้อยมาก อาจมาจากการไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อนเลยหรือหยุดการรักษาไปนาน ทั้งนี้ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าในประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง จะมีประชากรเพียง 1 ใน 10 ของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ที่รับบริการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยอุปสรรคในการเข้ารับบริการอาจมาจากตัวผู้ป่วยและญาติ เช่น ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนเองป่วย การเป็นภาระต่อญาติในการนำมารักษา การขาดแคลนสถานพยาบาลและบุคลากรที่ให้บริการ ปัญหาของระบบบริการโดยรวม ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรในสัดส่วนที่สูงกว่ามากให้กับโรคที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อเทียบกับโรคที่ทำให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพจากความผิดปกติทางจิต เป็นต้น สำหรับที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาสุขภาพจิตของประเทศไทย ยังมีน้อย หลักฐานการศึกษาที่มีอยู่จากประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางหรือต่ำ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหาจากโรคทางจิตเวช ปัญหาสุรา ยาเสพติด คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทางกายอื่นๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติทางจิตส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มคนวัยทำงาน วัยเรียน ที่มีอาการของโรคเรื้อรังต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง การไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้ต้องออกจากการเรียนกลางคันหรือขาดรายได้จากการหยุดงานหรือตกงาน เป็นภาระกับครอบครัวและสังคมในระยะยาว ผลการศึกษานี้ประมาณการว่า ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีรายได้โดยเฉลี่ยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยป่วยหรือเคยป่วยแต่ปัจจุบันไม่มีอาการแล้วประมาณ 76,000 บาท เนื่องจากการตกงานหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติป่วยทางจิตแต่ในขณะที่ไม่มีอาการนั้นมีรายได้ในรอบ 1 ปี ไม่แตกต่างจากผู้ไม่เคยป่วย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่หายป่วยแล้วนั้น สามารถกลับไปทำงานมีรายได้ได้ตามปกติไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยป่วย ดังนั้นการลงทุนในการให้บริการรักษาที่มีประสิทธิผลดีและผู้ป่วยเข้าถึงได้จึงน่าจะช่วยลดภาระต่อสังคมในระยะยาว ขณะเดียวกันข้อเสนอเบื้องต้นคือการพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้ป่วยแบบบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เรียกว่า Collaborative Care ส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆในการค้นหาและคัดกรองการเจ็บป่วยทางจิตเวชในชุมชน อำนวยความสะดวกในการส่งต่อสถานพยาบาลจิตเวชใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆและอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามโครงการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนที่ริเริ่มโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ส่งเสริมให้มีการเยี่ยมบ้านติดตามผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียน แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องการพัฒนาอีกหลายด้าน เช่น โครงการยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่หลุดออกจากระบบการรักษา หรือผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาจากพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ข้อมูลโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

Tag :