“พระบรมรูปทรงงาน” เคียงคู่ “สะพานภูมิพล”

by ThaiQuote, 23 ตุลาคม 2560

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนขณะทรงงาน เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระบรมรูปหล่อ โดยมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดหาช่างปั้นเพื่อหล่อพระบรมรูปเป็นการส่วนพระองค์ โดยได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยต้นแบบพระบรมรูปฯโดยพระองค์เอง และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ทรงเจิมแผ่นทอง เงิน นาค เพื่อนำไปประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปขณะทรงงาน กระทั่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาดความสูง 2 เมตร 30 เซนติเมตร เพื่อประดิษฐาน ณ บริเวณสวนสุขภาพลัดโพธิ์ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะผู้จัดสร้างและผู้แทนกรมทางหลวงชนบทเข้าเฝ้า ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศน์วิหาร นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบทได้รับมอบหมายให้จัดสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมรูปหล่อ โดยก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2556 และได้จัดพิธีบรรจุแผ่นศิลาจารึกพระราชทาน พร้อมอัญเชิญองค์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 และนับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ประชาชนสามารถเดินทางมากราบสักการะและร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แสดงโครงการพระราชดำริได้ทุกวัน ขณะเดียวกันสะพานภูมิพลแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงมีพระราชดำริเรื่องการแก้ปัญหาจราจรฝั่งพระประแดงสู่ฝั่งพระนคร โดยทรงมีพระเมตตาและทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจรแออัด บริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ถนนสุขสวัสดิ์ และถนนพระประแดง โดยเมื่อปี 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม รวมถึงสะพานเชื่อมเขตพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการตรงเข้าสู่ท่าเรือคลองเตย เพื่อให้การขนส่งสินค้าสะดวก รถบรรทุกสินค้าไม่ต้องผ่านใจกลางเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจราจรติดขัด  โดยมีมติให้กรมทางหลวงชนบทเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 และก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2549 เริ่มเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทั้งนี้สะพานได้แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านเหนือ คือ สะพานภูมิพล 1 และด้านใต้ คือ สะพานภูมิพล 2 นับเป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 3 และ 4 ของไทย หลังการก่อสร้างสะพานพระราม 9 และสะพานพระราม 8 โดยทางขึ้นสะพานเริ่มจากถนนพระราม 3 ถึงทางลงถนนปู่เจ้าสมิงพราย มีระยะทางรวม 25 กิโลเมตร แม้เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่การก่อสร้างได้ยึดหลักความพอเพียงตามแนวพระราชดำริ นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้ ช่วยให้ค่าก่อสร้างลดลง ในปี 2552 กรมทางหลวงชนบทได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระปรมาภิไธย "ภูมิพล" และการก่อสร้างสะพานภูมิพล ยังก่อให้เกิดสวนสาธารณะขึ้น 3 แห่ง ใกล้กับโครงการ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของประชาชนในพื้นที่ ทั้งสวนสาธารณะบริเวณถนนพระราม 3, สวนสุขภาพบางหญ้าแพรก รวมถึงสวนสุขภาพลัดโพธิ์ ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิมั่นพัฒนา  www.tsdf.or.th

Tag :