ออสเตรีย เตรียมลงทุน EEC หมื่นล้าน เน้นการพัฒนาด้าน R&D

by ThaiQuote, 30 พฤศจิกายน 2560

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่าน “ThaiQuote” ภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ “CLMVT Executive Program on New Economy” จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Acadamy : NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Acadamy : NEA)  ถือเป็นสถาบันที่จะเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องใช้จุดแข็งของแต่ละประเทศเชื่อมโยงเข้ามากัน ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมมีบทบาทด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออก (EEC) เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาของประเทศกลุ่ม CLMVT และภูมิภาคนี้  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่จะได้ประโยชน์เท่านั้น ตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบนโยบายไว้ถึงการคำนึงต่อผลประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้าน และการก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ทั้งเรื่องของการค้าขาย การขนส่ง การพัฒนาบุคลากร สำหรับพื้นที่ EEC จะเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากร โดยเน้นในกลุ่มของ SMEs และการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่มีอยู่ในกลุ่ม CLMVT และอาเซียนอยู่แล้ว และจะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น “ ยกตัวอย่างการเชื่อมโยง EEC และพื้นที่เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สะหวัน-เซโน ในเมืองสะหวันเขต สปป.ลาว ซึ่งมีพื้นที่ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ในแนวนโยบายของรัฐบาล เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งในพื้นที่ซึ่งติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องมีการหารือ กันในความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขันกัน อย่าง สะหวัน-เซโน จะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารจึงเน้นเรื่องของระบบขนส่งโลจิสติกส์ เรื่องของการบริการ โดยนำเสนอให้กับผู้ที่ต้องการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดเป็นแรงจูงใจต่อการลงทุน โดยใช้ EEC เป็นศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคของประเทศเข้าด้วยกันเกิดเป็นองคาพยพขนาดใหญ่” รมว.อุตฯ กล่าว ขณะเดียวกันจากการเข้าร่วมประชุม UNIDO และการพบปะนักธุรกิจของออสเตรีย ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด โดยกลุ่มทุนภาคธุรกิจของออสเตรีย มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ประมาณ 3-4 บริษัท “บริษัทที่ให้ความสนใจอย่างบริษัทหนึ่งซึ่งมีฐานการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้ว เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตเสนใยไฟเบอร์ของเสื้อผ้าในรูปแบบพิเศษ มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนในประเทศ โดยมูลค่าการลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.77 พันล้านบาท ซึ่งทางเราได้เสนอการลงทุนใน EEC การได้รับสิทธิพิเศษด้านการลงทุนจากบีโอไอ หากมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D Research and Development) และในเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการ และอีกบริษัทเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีด้านการสร้างสปีดโบ๊ท และสนใจที่จะมาตั้งโรงงานในประเทศไทย ซึ่ง EEC ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามทุกบริษัทที่มีความสนใจนั้น ตนได้เน้นย้ำว่าอยากให้เข้ามาพัฒนาด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย และพัฒนาเรื่องของคนในประเทศไทยด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงการเข้ามาตั้งโรงงานเท่านั้น” ดร.อุตตม กล่าวย้ำในตอนท้าย

Tag :