“ฟาร์มจริงใจ” เรื่องราวไม่ธรรมดาของชาวนาไทย กับการขายข้าวแบบ 4.0

by ThaiQuote, 5 ธันวาคม 2560

รู้จักไว้ไม่เสียหาย “ฟาร์มจริงใจ” ขายข้าวผ่านเว็ปไซต์ – แอพลิเคชั่น หนึ่งในแนวทางพลิกวิถีชาวนาสู่สังคมยุค 4.0 ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป “ถ้าขายข้าวแบบเดิมๆ ผลออกมาก็จะได้แบบเดิมๆ คือเก็บเกี่ยวแล้วต้องเอาไปโรงสี หรือรอพ่อค้าคนกลางมารับซื้อแบบกดราคา” แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับชาวนาไทยกลุ่มนี้อีกต่อไป เพราะพวกเขามีวิธีการปรับตัวและพัฒนาแนวทางการตลาด ที่เป็นแนวทางซึ่งหลายคนเรียกว่า ยุค 4.0 กับแนวคิดดีๆ จาก “กลุ่มอีสานพอเพียง” และ “ฟาร์มจริงใจ” มาทำความรู้จักกับ เรื่องราวดีๆ รับวันพ่อ 5 ธันวาคม ที่คนไทยเกษตรกรไทย ควรได้รับรู้ ครูกานต์กนก กุ่มพรหม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการและหัวหน้ากลุ่มอีสานพอเพียง กล่าวเกี่ยวกับปัญหาของชาวนาไทยว่า “อาชีพชาวนาเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ อยู่ในสายเลือดของเรา ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาราคาข้าวผันผวนอยู่เสมอ โดยเฉพาะวิกฤตราคาข้าวตกต่ำในปี 2559 ซึ่งแม้ว่าข้าวที่เก็บเกี่ยวมาจะสวยมากแค่ไหนก็ถูกกดราคา จากกิโลกรัมละ 10-20 บาทเหลือเพียง 5 บาท ทำให้ขาดทุนหนัก จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการหันมาขายข้าวสารเองโดยไม่ผ่านคนกลาง” นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในฐานะภาคเอกชนผู้สนับสนุนโครงการกล่าวว่า “ซัมซุงในฐานะบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับโลก มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและความรู้ที่จะช่วยเหลือชาวนาไทยจากปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เราจึงก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมแก้ไขปัญหานี้ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์พร้อมเครื่องมือ ไอทีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อ-ขายข้าวแก่ชาวนาไทยและจัดส่งถึงบ้านผู้บริโภคโดยไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ นอกจากนี้ เรายังจะช่วยโปรโมทข้าวสารของโครงการฯ ผ่านแอพพลิเคชั่น Galaxy Gift ที่รวบรวมสิทธิพิเศษสำหรับสาวกกาแลคซี่และมีฐานผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 2 ล้านคน เพื่อเชิญชวนลูกค้าของเรามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาชาวนาไทยอย่างยั่งยืน”ทั้งนี้ โครงการ “ฟาร์มจริงใจ” ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาของชาวนาไทยในปัจจุบันที่ต้องอยู่ในวงจรต้องขายข้าวพร้อมกัน ส่งผลให้ข้าวเปลือกล้นตลาดและราคาข้าวผันผวน บางปีราคาต่ำบางปีราคาสูง รายได้ของชาวนาจึงไม่แน่นอน ซึ่งโครงการฟาร์มจริงใจจะเข้ามาแก้ไขปัญหาและตัดวงจรนี้ ผ่านการรวมตัวของชุมชนชาวนาเข้มแข็งและนำเสนอช่องทางการจำหน่ายบนเว็บไซต์ www.farmjingjai.com ซึ่งเว็บไซต์จะรวบรวมยอดการสั่งซื้อจากผู้บริโภคที่สั่งข้าวแบบล่วงหน้ารายเดือนหรือพรีออเดอร์ จากนั้นจึงแจ้งแก่ชาวนาในโครงการเพื่อทำการสีข้าว ช่วยให้ชาวนาเข้าถึงและสามารถจำหน่ายข้าวได้โดยตรงแก่ผู้บริโภค ทราบยอดการสั่งซื้อที่แน่นอนและมีรายได้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยชาวนาสามารถขายข้าวตรงสู่ผู้บริโภคทำให้ได้กำไรจากการขายมากขึ้น นับเป็นโครงการที่นำเสนอการแก้ปัญหาของชาวนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบเว็บไซต์ปัจจุบัน มีกลุ่มชุมชนเข้มแข็งเข้าร่วมโครงการ “ฟาร์มจริงใจ” จำนวน 3 ชุมชนใน 2 จังหวัด ได้แก่กลุ่มอีสานพอเพียง กลุ่มชาวนาตำบลกระเบื้อง จังหวัดสุรินทร์ และกลุ่มชาวนาหมู่บ้านคุ้มยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งข้าวที่ได้จากโครงการทั้งหมดเป็นข้าวปลอดสาร ไม่ผ่านการรมยา และจะสีข้าวเมื่อได้รับออเดอร์จากผู้บริโภคเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้าวสารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สดใหม่ และปลอดภัยจากสารพิษ ส่งตรงถึงหน้าบ้านทุกเดือนเว็บไซต์ฟาร์มจริงใจจะเปิดให้ผู้บริโภคเข้าสั่งซื้อข้าวสารปลอดสารพิษได้แล้ววันนี้ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาของชาวนาไทยอย่างยั่งยืนและช่วยให้พวกเขามีรอยยิ้มอย่างง่ายๆ เพียงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ผ่านทางการสั่งข้าวที่ www.farmjingjai.com “ผมหวังว่าผู้บริโภคจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชาวนาไทยผ่านการสั่งซื้อข้าวผ่านเว็บไซต์ของฟาร์มจริงใจกันเมื่อเว็บไซต์เปิดอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาชาวนาไทยของเราอย่างยั่งยืนครับ” นายวิชัย กล่าวทิ้งท้าย
Tag :