“สมคิด” จัดหนัก แก้ไขปัญหาเกษตรครบวงจร

by ThaiQuote, 8 ธันวาคม 2560

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนจากมหาดไทย และผู้บริหาร ธ.ก.ส. เพื่อจัดทีมวอร์รูมระดมผู้เชี่ยวชาญบูรณาการแผนแก้ปัญหาภาคเกษตร ครอบคลุมปัญหาของเกษตรกรทุกด้าน เพื่อให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือภาคเกษตรสอดคล้องกัน ทั้งด้านการผลิต การตลาด การท่องเที่ยวชุมชน สินเชื่อเติมทุนให้เพียงพอ  แผนระยะสั้น เร่งด่วนคือ ปัญหาราคายางพารา มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันราคาสูงกว่าต้นทุน  ส่วนระยะยาว ต้องหาวิธีการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากยาง ขณะที่ปาล์มน้ำมันมีปัญหาสต็อกสูงถึง 5แสนตันสูงสุดในรอบหลายปี  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) เห็นชอบให้ผู้ส่งออกรับซื้อปาล์ม 1 แสนตัน  กระทรวงพลังงาน 1 แสนตัน เพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซล และให้ อคส. ปตท. เตรียมรับซื้อเพิ่มเติม เพื่อระบายสต็อกให้น้อยลงจากปัจจุบัน  และจากนี้ไปต้องไม่เกิดภาวะค้างสต็อกจำนวนมากเหมือนในปัจจุบัน   นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งเสริมปศุสัตว์ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ภัยแล้ง หันมาเลี้ยงโค เลี้ยงปลา หรือสัตว์เศรษฐกิจอื่น  เช่น การจัดหาโค รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์เพื่อขอรับโคไปเลี้ยงผ่านการสนับสนุนงบประมาณ ที่สำคัญรัฐบาลมุ่งบริหารจัดการข้อมูลการเกษตร (BIG DATA) เชื่อมโยงข้อมูลเกษตรทุกด้าน ของทุกหน่วยงาน เปิดให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลความต้องการของตลาด ราคาสินค้า การแชร์ข้อมูลระหว่างกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง  จึงต้องการวางโครงสร้างและวางรากฐานบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลใหม่ ยกระดับการช่วยเหลืออย่างตรงจุด คาดว่าหลังจากนี้ไป 3 เดือนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากปีนี้นายกรัฐมนตรีกำหนดให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาด้านเกษตรรายย่อยให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล จึงต้องการนำหัวขบวนทั้งเอสเอ็มอีเกษตร และสหกรณ์ที่เข้มแข็งมาเป็นแบบอย่าง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต หรือการจ้างผลิต เพื่อจัดหาตลาดรองรับ ทั้งผลไม้ พืชสวน การค้าผ่านออนไลน์ต้องเริ่มจากชุมชน  มาตรการจะต้องสรุปออกมาในเร็วๆนี้  เพื่อเสนอ ครม.พิจารณา   นายกฤษฎา บุญราช   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคายางพารา หลังจากการประชุม ครม.สัญจรในภาคใต้ ได้เริ่มทยอยรับซื้อยางจากตลาด จึงทำให้ราคายาง ปรับเพิ่มขึ้นจาก 42-43 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่ม  1.30 บาท ราคาในปัจจุบันเพิ่มเป็น 47-48 บาทต่อกิโลกรัม   ที่ประชุมจึงสั่งใช้มาตรการเร่งด่วนผ่าน 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. การระดมหลายหน่วยงานรับซื้อยางจากสต็อกออกไปสู่ตลาดเพิ่มเติม หวังผลักดันราคายางให้เพิ่มสูงกว่าต้นทุนของชาวสวนยางมีต้นทุน 51.28 บาทต่อไร่   2.การให้หน่วยราชการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รับซื้อยางเพิ่มเติม จากเดิมมีเป้าหมาย  33,000 ตัน เพิ่มขึ้น  50,000-80,000 ตัน จัดทำแผนให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์หน้า  เพื่อใช้ในซ่อมแซมถนนหลายโครงการในชุมชนหลายพื้นที่  การสร้างสนามกีฬา หรือใช้ในโครงการลงทุนภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน  

  1. สั่งการให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เตรียมงบประมาณ รับซื้อยางพาราเพิ่มเติม จากเงินทุนหมุนเวียนปัจจุบัน 1,200 ล้านบาท การขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาผู้ส่งออก ในการรับซื้อยาง เพื่อให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนให้กับเอกชน เพื่อระบายยางพาราให้ออกสู่ตลาดผ่านหลายหน่วยงานได้ถึง 1 แสนตัน  คาดว่าราคายางพาราจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยจะติดตามสถานการณ์ราคาทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเตรียมจัดฝึกอบรมอาชีพให้เกษตรกรมีความรู้ด้านต่างๆ ทั้งการผลิต การตลาด การค้าผ่านออนไลน์ หลังได้เก็บเกี่ยวพืชผลใช้เวลาในช่วงก่อนการผลิตปีใหม่จะมาถึง โดยจ่ายเบี้ยเลี้ยงอบรมให้เกษตรกร

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ต้องดูแลทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผ่านผู้เชี่ยวชาญของทุกหน่วยงาน ในการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาราคาข้าว คาดว่าในปีนี้จะมีข้าวออกสู่ตลาด 23 ล้านตันข้าวเปลือก 12 ล้านตัน ข้าวสาร แบ่งเป็นใช้สำหรับบริโภคในประเทศ 8 ล้านตัน รองรับการส่งออก 4 ล้านตัน ดังนั้นจึงต้องดูแลชาวนา ที่ต้องปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่เขตชลประทาน 12 ล้านไร่ เพื่อคุมให้เหลือ 10 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดส่งออกที่ต้องการเพียง 10 ล้านไร่ เพื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชอาหารสัตว์หรือพืชชนิดอื่น   รวมทั้งสั่งการให้กรมการข้าวศึกษาพันธุ์ข้าวนิ่ม เนื่องจากขณะนี้จีนต้องการรับซื้อข้าวพันธุ์ดังกล่าวจำนวนมากถึง 7 ล้านตัน เพราะขณะนี้จีนหันไปรับซื้อจากเวียดนามจำนวนมาก คาดว่าจะมีเม็ดเงินออกไปสู่เกษตรกรกว่า 4 หมื่นล้านบาท สำหรับราคาข้าวหอมมะลิ 13,000-14,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมฯ ราคา  9,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคา  7,500-8,000 บาทต่อตัน นับว่าเป็นระดับราคาที่ชาวนาพอใจ ส่วนข้าวเหนียวราคาสูงขึ้น ชาวนาจึงหันไปปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ทั้งกระทรวงคลัง มหาดไทย และอีกหลายหน่วยงานจะร่วมแก้ปัญหาหนี้สิน การประกอบอาชีพให้กับผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นเกษตรกร 3.96 ล้านคน โดยส่งผู้เชี่ยวชาญออกไปพูดคุยประเมินปัญหารายบุคคลในแบบคลินิกเคลื่อนที่ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพความเป็นอยู่ดีขึ้นในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า เมื่อสรุปมาตรการทั้งหมดเสนอมาตรการทั้งหมดเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน.

Tag :